สศช. ผลักดันสร้างเมือง
รอบสนามบิน
สุวรรณภูมิ
   

ผู้จัดการรายวัน : สศช. แนะการพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ เสนอให้มีการจัดตั้งเป็นเมือง หวังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดิน พร้อมให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำแผนศึกษาเพื่อจัดตั้งบรรษัทพัฒนาเมือง ชี้อนาคตต้องมีรายได้บริหารตัวเองได้ ผลักดันสร้างทางด่วนจากถนนรามอินทรา-อาจณรงค์เชื่อมสู่สนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่า 13,000 ล้านบาท

 

เมื่อวานนี้ (วันที่ 24 กันยายน 2547) มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินไทย ได้จัดเสวนาวิชาการรายเดือน เรื่องการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินหลังเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีนายสุวัฒน์ วาณีสุบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สกภ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้บรรยายพิเศษ และได้กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างเมืองการบินสุวรรณภูมิในพื้นที่โดยรอบ เพื่อรองรับสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากยังมีพื้นที่พอที่จะพัฒนาได้ และหากไม่มีการนำพื้นที่ดังกล่าวมาสร้างเมือง ก็จะทำให้เกิดบ้านจัดสรร และโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมาแทน แม้ว่าจะมีผังเมืองรองรับอยู่ แต่ผังเมืองก็ช่วยอะไรได้ไม่มากนัก

 

"การสร้างเมืองดังกล่าวได้แนวคิดจากการพัฒนาสนามบินในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ฮ่องกง มาเลเซีย"

 
นายสุวัฒน์ฯ กล่าวว่า รายละเอียดของเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิขณะนี้ สศช. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อจัดตั้งบรรษัทพัฒนาเมือง เพื่อดำเนินการพัฒนา ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ทำการศึกษาร่าง ซึ่งตามกำหนดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะต้องนำเสนอต่อ สศช. ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อที่ สศช. จะได้นำการศึกษาดังกล่าว มาทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งหาก ครม. เห็นชอบก็จะให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาตรวจสอบแล้วนำเข้ารัฐสภา
 
สำหรับหลักการดำเนินการของบรรษัทพัฒนาเมืองนั้น จะต้องมีรายได้เพื่อบริหารองค์กรได้ในอนาคต โดยที่มาของรายได้มาจากค่าบริการ อาทิ เก็บค่าผ่านทาง ให้สัมปทาน ซึ่งตามแผนการพัฒนาเมืองนี้มีระยะเวลาการพัฒนาประมาณ 30 ปี หรือตั้งแต่ พ.ศ. 2549-2578 ครอบคลุมพื้นที่ 58,900 ไร่ แยกเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ที่พักอาศัย สวนสาธารณะ ถนน และอื่นๆ โดยทั้งหมดนั้นจะเป็นพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 40% ที่เหลือเป็นแนวถนนและพื้นที่โล่ง โดยทั้งหมดจะใช้งบดำเนินการทั้งสิ้น 135,168 ล้านบาท แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะั ๆ ละ 5 ปี
   

นายสุวัฒน์ฯ กล่าวต่อว่า หากไม่สร้างเมืองดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการสร้างเมือง เพราะทั่วโลกก็มีการสร้างเมืองในลักษณะนี้ และจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิด้อยค่ากว่าสนามบินอื่นๆ ส่วนการทำให้การเดินทางไปยังสนามบินได้สะดวกมากขึ้น นอกจากจะมีเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงแล้ว ยังจะมีทางด่วน โดยเริ่มสร้างตั้งแต่ถนนรามอินทรา-อาจณรงค์ หรือตอนเหนือของอ่อนนุช ไปจนถึงสนามบิน ระยะทาง 20 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้าง 13,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาด้านกายภาพ โดยในอนาคตจะสร้างเชื่อมต่อไปยังคลองเตย

 

จาก หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน วันเสาร์ - อาทิตย์ที่ 25-26 กันยายน 2547

   
  เรื่องที่เกี่ยวข้อง
  - โครงการวางแผนผังการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ
  - เร่งเนรมิตสุวรรณภูมิออก พ.ร.บ. ตั้งบรรษัทเมืองใหม่
  - สรุปผลการประชุม กทภ. ครั้งที่ กทภ. 1/2547 - 25 มีนาคม 2547
  - มติการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 พฤษภาคม 2547 < PDF File >
  - สุวรรณภูมิ : นครท่่าอากาศยาน