เร่งเนรมิตสุวรรณภูมิ
ออก พ.ร.บ. ตั้งบรรษัทเมืองใหม่
1.5 แสนล้านบาท
   

สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สกภ.) เตรียมเสนอ พระราชบัญญัติบรรษัทเมืองใหม่ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนตุลาคมปีนี้ เน้นรัฐถือหุ้น 100% ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 500 ล้านบาท แล้วอัดเพิ่ม 5,000 ล้านบาทซื้อที่กลางเมืองมาพัฒนา 5 ปี คาด 30 ปี ใช้เงินลงทุน 1.5 แสนล้านบาท ไม่พ้นต้องเข้าตลาดหุ้น

 

นายสุวัฒน์ วาณีสุบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศสุวรรณภูมิ (สกภ) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อนุมัติโครงการสร้างเมืองใหม่สุวรรณภูมิแล้ว สำนักงานคณะกรรมการบริการการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สกภ.) เตรียมที่จะจ้างอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาศึกษารูปแบบการร่างกฎหมายสำหรับจัดตั้งบรรษัทพัฒนาเมืองศูนย์กลางการบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยในเบื้องต้นจะออกกฎหมายเป็น พ.ร.บ. เพื่อให้บรรษัทมีอำนาจเวนคืนที่ดินหรือบังคับซื้อที่ดินเพื่อให้เป็นเมืองศูนย์กลางได้ ซึ่งขณะนี้พิจารณารูปแบบกฎหมาย 2 แบบ คือ 1) เป็น พ.ร.บ.เฉพาะของเมืองสุวรรณภูมิ หรือ 2) เป็น พ.ร.บ.กลางที่สามารถนำไปใช้ในการสร้างเมืองใหม่ที่อื่นได้ เช่น นครนายก

 

ทั้งนี้ การออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินในไทยที่ผ่านมา นิยมออกเป็นกฎหมายกลาง เช่น พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรม พ.ร.บ.การเคหะแห่งชาติ ซึ่งหากจะประกาศพื้นที่ใดเป็นเขตอุตสาหกรรมหรือที่อยู่อาศัย ก็จะออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อเวนคืนที่ดินมาพัฒนาพื้นที่ ในขณะที่การออกเป็นกฎหมายเฉพาะพื้นที่เลยจะทำให้กำหนดอาณาเขตที่จะพัฒนาที่ดินได้เลย โดยคาดว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีได้ในอีก 6 เดือนครึ่ง หรือภายในสิ้นเดือนตุลาคมปีนี้

 

นายสุวัฒน์ฯ กล่าวว่า บรรษัทดังกล่าวรัฐจะถือหุ้น 100% โดยคาดว่าจะมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 500 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสำนักงาน จากนั้นรัฐบาลจะเพิ่มทุนให้ประมาณ 5,000 ล้านบาท หรือตามความจำเป็นเพื่อซื้อที่ดินที่คาดว่าจะเป็นศูนย์กลางของเมือง โดยบรรษัทดังกล่าวจะประกาศผังเมืองเฉพาะว่าใช้พื้นที่ทำอะไรบ้าง จากนั้นจะวางระบบสาธารณูปโภคโดยใช้เวลา 5 ปี แล้วก็ขายที่ดินให้เอกชนก็จะได้ต้นทุนกลับคืนมา เพื่อพัฒนาที่ดินร่วมกับภาคเอกชนโดยใช้ พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่

 

นอกจากนี้ การพัฒนาพื้นที่จะแบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัย และพื้นที่สีเขียว รวม 50,000 ไร่ โดยเมืองดังกล่าวมีรัศมี 10 ก.ม. รอบสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการใช้สนามบินมีความสมบูรณ์ เพราะมีเมืองอยู่ใกล้สนามบิน ทำให้การเดินทางจากเมืองไปสนามบินสะดวก โดยกำหนดงบประมาณพัฒนาพื้นที่ปีละ 5,304 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 30 ปี รวมใช้เงินลงทุน 159,127 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเมืองเริ่มโตและการบริหารรูปแบบธุรกิจเริ่มอยู่ตัวก็สามารถยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อแปรรูปในตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งในต่างประเทศนิยมใช้วิธีดังกล่าวในการตั้งเมืองใหม่มานานแล้ว

 

ทั้งนี้ เมืองใหม่สุวรรณภูมิเป็นการรองรับความเจริญภายหลังจากรัฐดำเนินการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ และกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 29 กันยายน 2548

 

จาก หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ วันที่ 15 เม.ย. 2547