ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. จัดบรรยาย “แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง” พัฒนาสมรรถนะและองค์ความรู้ ต้านทุจริต
วันที่ 6 มี.ค. 2563
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563  ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บรรยายพิเศษเรื่อง นิยามและแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในกิจกรรมการพัฒนาสมรรถนะและองค์ความรู้เชิงสร้างสรรค์ของบุคลากรด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต : หลักสูตรข้าราชการที่ดีและหลักสูตรต้านทุจริต สศช. (STRONG NESDC) ภายใต้โครงการยกระดับคุณธรรม ความโปร่งใส และเสริมสร้างวัฒนธรรมต้านทุจริตเชิงรุก ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ณ ห้องประชุม 511 สศช. โดยมี นายวิโรจน์  นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิด และผู้บริหาร สศช. ได้แก่ นางสาวกัญญารักษ์  ศรีทองรุ่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน และ นางเสาวณีย์  แสงสุพรรณ รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สศช. ที่ได้รับการบรรจุใหม่ เข้าร่วมรับฟังด้วยความสนใจ

การจัดกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 11 มีนาคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๒ ประการ คือ เพื่อปลูกฝังและปรับฐานความคิดด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และความตระหนักถึงผลกระทบจากการทุจริตของบุคลากร สศช. เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการรักษาประโยชน์สาธารณะ และเพื่อพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรให้มีจิตพอเพียง ต้านทุจริต รู้จักและเข้าใจเรื่องการคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม และเพื่อสนับสนุนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ สศช. ได้รับการปลูกฝังปรัชญาการเป็นข้าราชการที่ดี ตลอดจนเสริมสร้างสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานราชการ และเกิดการพัฒนาเครือข่ายการทำงานระหว่างกัน 

สำหรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความพอเพียงอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงติดอยู่กับความเจริญทางวัตถุ ทำให้มิได้นำมาไตร่ตรองและปฏิบัติเท่าที่ควร จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ สศช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการวางแผนของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสดังกล่าว จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ มาร่วมกันกลั่นกรองพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียง สรุปเป็นนิยามความหมาย "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และนำความกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ให้ สศช. นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับรัฐ รวมทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ 
นับแต่นั้นมา สศช. ได้อัญเชิญ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙) จนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) ในปัจจุบัน

เศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นปรัชญาชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตและการพัฒนาประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี โดยมีเงื่อนไขความรู้ คุณธรรม และดำเนินชีวิตด้วยความเพียร ประกอบการตัดสินใจ เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และศาสนา ที่สมดุล มั่นคง ยั่งยืน 

ข่าว: กุลนันทน์  ยอดเพ็ชร
ภาพ: เมฐติญา  วงษ์ภักดี/ปราณี  ขวัญเกิด

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์