ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์จัดประชุมรับมือความท้าทายเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย  ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
วันที่ 2 มี.ค. 2563
เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ  เรื่อง "Thailand Competitiveness : How to turn challenges into success? รับมือความท้าทายเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” บนความร่วมมือกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย และคณะพาณิชยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องบอลรูม ชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า การจัดงานเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้เข้าร่วมถึงความสำคัญของการร่วมกันขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้ง การบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันสะท้อนสถานภาพความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐได้สื่อสารถึงความก้าวหน้าในการดำเนินการด้านการขับเคลื่อนการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะที่ผ่านมา พร้อมทั้งสะท้อนความคิดเห็นและความคาดหวัง ของภาคเอกชนในการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เห็นเป้าหมายร่วมกัน และมีส่วนร่วมในการเสนอแนะแนวทางการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย อันจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนงานที่ชัดเจนอย่างบูรณาการและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 

ถัดมา ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย (อ.ว.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ทิศทางการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยเรากำลังอยู่ใน "โลกที่ไม่ใช่ใบเดิม” ในโลกที่พวกเราต้องเผชิญความท้าทายใหม่ 3 ประการ (1) ปัญหาวิกฤตได้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็น "ภาวะปกติใหม่” ไม่ว่าจะเป็นมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางความมั่นคง ซึ่งวิกฤตต่างๆดังกล่าวได้ถาโถมจนเกิดภาวะ ”วิกฤตเชิงซ้อน” (2) พลวัตการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตและการดำเนินธุรกิจของพวกเราถูกปรับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ  และ (3) การเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมก่อให้เกิดการหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมโลก จึงทำให้ทุกคนต้องเผชิญกับ สภาวะที่เรียกว่า "สุขก็จะสุขด้วยกัน ทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน”
 
นอกจากนี้เราจำเป็นต้องมีกระบวนทัศน์ใหม่ ของความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งผมได้วางหลักการไว้ 4 ข้อดังนี้

(1) ปรับเปลี่ยนนิยาม "ความสามารถในการแข่งขัน” จากเดิมที่มุ่งพัฒนาประเทศสู่ "ความทันสมัย” โดยเน้นที่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เป็นการมุ่งพัฒนาประเทศสู่ "ความยั่งยืน” ที่เน้นการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ, สังคม, สิ่งแวดล้อม, และปัญญามนุษย์ 

(2) ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการมองคนเป็นเพียงปัจจัยการผลิต เพื่อสร้างการเติบโตของประเทศเป็นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการปลดปล่อยศักยภาพของผู้คน อันจะก่อให้เกิดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน 

(3) เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจแบบเส้นตรง ที่การผลิตไปสู่การบริโภคมีการสูญเสียทรัพยากรเกิดขึ้นมากมายในกระบวนการ ไปสู่เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ที่ลดการสูญเสียและนำทรัพยากรกลับมาใช้ในวงรอบเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด 

และ (4) เปลี่ยนจากสังคมที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องไปสู่การสร้างสังคมที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ดังนั้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสอดรับกับกระบวนทัศน์ดังกล่าว การขับเคลื่อนประเทศจากนี้ไป ต้องตั้งอยู่บนแนวคิด 3 ประการ ได้แก่  (1) "สร้างความเข้มแข็งจากภายใน พร้อมๆกับเชื่อมโยงกับประชาคมโลก” 
(2) "เดินหน้าไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รวมถึงการรังสรรค์นวัตกรรมที่เข้าถึงได้ทุกภาคส่วน และ (3) "น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ SEP for SDGs

โดยสรุปแล้ว การที่ประเทศไทยจะขยับตำแหน่งในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ตามตัวชี้วัดของสถาบันนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น WEF หรือ IMD จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆเลย หากประชาชนคนไทยทุกคนตั้งแต่ระดับฐานรากไปถึงภาคธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ได้ร่วมรังสรรค์และรับประโยชน์อย่างทั่วถึงในแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผมหวังว่าหลักการและแนวคิดที่ผมนำเสนอในวันนี้ จะทำให้พวกเราทุกคนตระหนักและร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยอันเป็นที่รักของพวกเราต่อไป

ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ มีการเสวนาแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 เป็นการสื่อสารจากภาครัฐ ในหัวข้อ "ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” โดยผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และ ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และ ช่วงที่ 2 เป็นการสื่อสารจากภาคเอกชน ภาคการศึกษา และตัวแทนผู้ประกอบการยุคใหม่ ในหัวข้อ "Competitiveness & Innovation: ความท้าทาย ก้าวกระโดดข้ามได้ด้วยนวัตกรรม” โดยผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย ผศ.ดร.ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พง ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดีด้านการพัฒนางานใหม่และงานนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชัชนาท จรัญวัฒนากิจ อุปนายกสมาคม Thailand Tech Startup Association, Co-Founder of Seekster โดยมี นายจิรัฐิติ ขันติพะโล ผู้สื่อข่าวด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เป็นผู้ดำเนินรายการ

ข่าว  : กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สศช.
ภาพ :  คมสัน วรวิวัฒน์
เรียบเรียง/เผยแพร่ : ธนเทพ ปลายแก่น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์