ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์เผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2562
วันที่ 28 ก.พ. 2563
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพร้อมคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ได้แถลงข่าวรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2562 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ หนี้สินครัวเรือนชะลอการขยายตัว การเกิดอุบัติเหตุทางบกลดลง ขณะที่ภาพรวมทั้งปีการตายและบาดเจ็บพิการด้วยอุบัติเหตุทางถนนยังมีจำนวนมาก แต่มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การจ้างงานลดลง การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัว คดีอาญาเพิ่มขึ้นจากคดียาเสพติดที่เพิ่มมาก นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ การป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดต่ออุบัติใหม่จากต่างประเทศ คุณภาพการศึกษาไทยยังคงต้องเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต้องการการจัดการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการเสนอบทความเรื่อง "การพัฒนา Generation Y เพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศ” โดยสรุปสาระดังนี้

การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง

 การจ้างงานในไตรมาส 4 ปี 2562 มีผู้มีงานทำ 37.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน การจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.6 และการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 0.9 ชั่วโมงการทำงานรวมเท่ากับ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงร้อยละ 2.4 และชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนเท่ากับ 46.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงร้อยละ 1.6 และจำนวนแรงงานภาคเอกชนนอกภาคเกษตรที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงถึงร้อยละ 14.0 เป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 

อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 3.7 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.04 ค่าจ้างแรงงานรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ขณะที่เงินเฟ้อในไตรมาส 4 เท่ากับร้อยละ 0.4 ทำให้ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนเฉลี่ยที่แท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ด้านผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.7 จากการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานในภาคบริการและภาคการผลิต

ภาพรวมการจ้างงานปี 2562 ลดลงร้อยละ 0.7 ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ โดยการส่งออกที่ลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้การจ้างงานในภาคการผลิตลดลงร้อยละ 2.1 ด้านการจ้างงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 2.9 จากผลกระทบภัยแล้งตั้งแต่ต้นปีและปัญหาอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ส่วนการจ้างงานในภาคบริการยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานในสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ การจ้างงานในสาขาก่อสร้าง และการขนส่งยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และ 3.7 ตามลำดับ จากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ การค้าออนไลน์และการสั่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งสนับสนุนให้การขนส่งมีการขยายตัว 

อัตราการว่างงานปี 2562 ยังอยู่ในระดับต่ำ เท่ากับร้อยละ 0.99 คิดเป็นผู้ว่างงาน 3.7 แสนคน ค่าจ้างแรงงานโดยรวม และค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 2.3 และ 3.3 ตามลำดับ ขณะที่ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ ในภาพรวมปี 2562 ตลาดแรงงานไทยได้รับผลกระทบทั้งเชิงวัฏจักร โดยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานผ่านการผลิตและการส่งออกที่ลดลง และผลกระทบในเชิงโครงสร้างที่มาจากปัญหาโครงสร้างตลาดแรงงานที่แรงงานส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่ามัธยมต้น ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะ โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของประชากรที่มีมากขึ้นทำให้การเข้าสูตลาดแรงงานช้าลง และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

แนวโน้มสถานการณ์ด้านแรงงานปี 2563 มีปัจจัยเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะกระทบต่อตลาดแรงงานและการจ้างงาน ได้แก่ 

1. ภาวะภัยแล้งในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานในภาคเกษตรและรายได้ของเกษตรกร โดยกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าภัยแล้งในปี 2563 มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี และจากข้อมูลปริมาณน้ำใช้ได้จริงในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวมทั้งประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม อยู่ที่ 18,359 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.9 ของความจุระดับน้ำเก็บกักรวม นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี
2. ผลกระทบจากการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ต่อการจ้างงานในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยโดยตรง ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสาขาบริการหลัก 3 สาขา คือ สาขาการค้าส่งและค้าปลีก สาขาการขนส่ง และสาขาโรงแรมภัตตาคาร และอาจจะเกี่ยวเนื่องไปถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม
3. แนวโน้มการส่งออกและการผันผวนของค่าเงินบาท จากประมาณการของ สศช. การส่งออกในปี 2563 จะขยายตัวได้ร้อยละ 1.4 และค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มผันผวน จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออก
4. ความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562–มกราคม 2563) มีการเบิกจ่ายงบลงทุนคิดเป็นร้อยละ 6.3 จากวงเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนในโครงการใหม่ จะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2563 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการจ้างงานโดยเฉพาะในสาขาการก่อสร้าง

หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ชะลอการขยายตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน 

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสามปี 2562 มีมูลค่า 13.24 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.5 ชะลอลงจากร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและยานยนต์เป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 79.1 สูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2560 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน โดยหนี้ครัวเรือนที่มาจากผู้ปล่อยสินเชื่อในกลุ่มสถาบันรับฝากเงินปรับตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน ตามการชะลอลงในกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ธนาคารพาณิชย์ และสหกรณ์ ตามลำดับ

ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังคงอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสี่ ปี 2562 มีมูลค่า 140,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.90 ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.81 ในไตรมาสก่อน ความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับที่ต้องติดตาม โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยเท่ากับร้อยละ 3.71 และสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรถยนต์ต่อยอดคงค้างสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ร้อยละ 1.86 อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต และสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ ต่อยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นปรับตัวลดลง แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น 

ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนทั้งช่วงก่อนเป็นหนี้ ขณะเป็นหนี้ และหลังเป็นหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติการกำกับดูแลให้สถาบันการเงินปล่อยกู้โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้กู้ในการผ่อนชำระหนี้โดยไม่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ (Affordability) มิติการเสริมสร้างความรู้และวินัยทางการเงินเพื่อให้ครัวเรือนสามารถก่อหนี้ได้อย่างเหมาะสม และมิติการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้กู้ โดยมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา อาทิ (1) การกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต (ปี 2560) (2) การกำกับดูแลสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (ปี 2560) (3) สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (ปี 2562) ถูกนำเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (4) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value: LTV ratio) และ (5) โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 3 (ปี 2563) 

ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างกำหนดมาตรการผลักดันเพื่อดูแลปัญหาหนี้สินครัวเรือนของไทย อาทิ การกำหนดมาตรฐานวิธีการคำนวณสัดส่วนภาระหนี้ที่ผู้กู้มีทั้งหมดต่อรายได้ หรือ Debt Service Ratio (มาตรฐานกลาง DSR) และการผลักดันให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม มาตรการส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาตรการในระยะสั้น ขณะที่ในระยะยาวควรมีแนวทางรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เช่น กลุ่มอาชีพครู และเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลการบริหารจัดการของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการปลูกฝังแนวคิดหรือค่านิยมการสร้างรายได้ที่มาจากการลงทุนและเก็บออมทางการเงิน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ให้แก่ครัวเรือน

การเจ็บป่วยยังต้องเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

ไตรมาสสี่ปี 2562 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 39.4 โดยมีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด 3 ลำดับแรกจากโรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ และไข้เลือดออก พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 105.3 เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลง โดยพบผู้ป่วยสูงสุดในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและโรคปอดอักเสบเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.1 และ 12.7 ตามลำดับ ในภาพรวมทั้งปี 2562 พบผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 34.8 ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการกลับมาของโรคซิฟิลิสที่พบอัตราป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน วัยเจริญพันธุ์ และโรคหัด พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุ 1-6 ปี สำหรับปี 2563 มีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญได้แก่ (1) การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังที่ต่อเนื่องจากปี 2562 ทั้งโรคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น ไข้หวัด โรคปอดอักเสบ และจากยุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก และชิคุนกุนยา (2) การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อโควิด-19 (COVID-19: Corona Virus Disease 2019) และ (3) โรคที่เกิดจากพฤติกรรม โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่สามารถป้องกันได้ อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ฯลฯ และโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น 

ไตรมาสสี่ปี 2562 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากปริมาณการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 1.2 ขณะที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังขยายตัวร้อยละ 4.6 ตลอดปี 2562 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 3.3 โดยปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขยายตัวร้อยละ 4.5 ขณะที่การบริโภคบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 1.5 และยังต้องเฝ้าระวังอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า และการเข้าถึงบุหรี่ของเด็ก เนื่องจากพบว่าเยาวชนไทยยังมีความสับสนในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยเข้าใจว่ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอด และช่วยให้เลิกบุหรี่ธรรมดาได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนั้น ร้านค้าส่วนใหญ่ไม่ตรวจสอบอายุของลูกค้าก่อนขายบุหรี่ ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ยังสามารถเข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย

คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นจากคดียาเสพติดและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น 

ไตรมาสสี่ปี 2562 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 เป็นการรับแจ้งคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์รับแจ้งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ขณะที่คดีชีวิตร่างกายและเพศรับแจ้งลดลงร้อยละ 15.7 ภาพรวมในปี 2562 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 โดยคดียาเสพติด คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 และ 4.3 ตามลำดับ ขณะที่คดีชีวิตร่างกายและเพศลดลง ร้อยละ 6.1 ภาครัฐจึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในทุกกรณี มุ่งเน้นจับกุมในระดับพื้นที่ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดอาชญากรรม ยาเสพติด การพนัน การค้าประเวณี สถานบริการ การค้ามนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมระบบกระบวนการยุติธรรมทางเลือก

การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลงในไตรมาสสี่และช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ภาพรวมทั้งปีการตายและบาดเจ็บพิการด้วยอุบัติเหตุทางถนนยังมีจำนวนมาก

ไตรมาสสี่ ปี 2562 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 5.2 และ 5.9 ตามลำดับ แต่มูลค่าทรัพย์สินเสียหายเพิ่มขึ้นร้อยละ 64 ขณะที่การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปีใหม่ 2563 ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตได้ ร้อยละ 9.8 และ 19.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนยังต้องเร่งดำเนินการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในทุกมิติอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นตลอดทั้งปี โดยตั้งเป้าหมายลดพฤติกรรมเสี่ยง ลดการตาย เพิ่มประสิทธิภาพการป้องปราม ให้ความสำคัญในการสร้างความปลอดภัยทางถนนจากทุกภาคส่วนแบบองค์รวม ใช้กลไกระดับพื้นที่ในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) เสริม "จุดจัดการพื้นที่”

การร้องเรียนผ่าน สคบ. และ กสทช. ในไตรมาสสี่ลดลง ตลอดทั้งปี 2562 มีประเด็นการร้องเรียนจำนวนมากในเรื่องด้านโฆษณาเกินจริง รวมทั้งรัฐได้เข้ามาดูแลผู้บริโภคในประเด็นค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชน

ไตรมาสสี่ ปี 2562 สคบ. ได้รับการร้องเรียนสินค้าและบริการจำนวน 3,005 เรื่อง ขณะที่การร้องเรียนผ่าน กสทช. มีจำนวน 335 เรื่อง ภาพรวมในปี 2562 มีการร้องเรียนผ่าน สคบ. เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 109.2 จากประเด็นต่างๆ อาทิ อาคารชุด บ้านจัดสรร เกมโชว์แจกเงินรางวัล ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่การร้องเรียนผ่าน กสทช. ลดลงร้อยละ 38.4 และมีการศึกษาโครงสร้างต้นทุนยา เวชภัณฑ์ บริการพยาบาล บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนเบื้องต้น ในปี 2562 ผลการศึกษาพบว่าราคายามีความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจ ประเภทธุรกิจ และแหล่งที่ตั้ง ขณะที่ไม่สัมพันธ์กับต้นทุนการซื้อยา และการดำเนินการตามมาตรฐาน JCI (Joint Commission International) โดยกรมการค้าภายในได้จัดให้มีระบบค้นหาและเปรียบเทียบราคายาผ่านเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน QR Code และแอปพลิเคชั่น "ตรวจสอบราคายา” รวมทั้งจัดตั้งโครงการโรงพยาบาลคุณธรรมที่คิดราคายาและค่าบริการอย่างเป็นธรรมเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน นอกจากนี้ ได้แบ่งกลุ่มยาออกเป็น 12 กลุ่ม เพื่อศึกษาเพดานกำไรเพื่อใช้ในการกำหนดราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ หากพบปัญหาสามารถร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 และศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ผ่านทางอีเมล: crmhss.moph@gmail.com หรือ โทร 02-193-7000

การป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดต่ออุบัติใหม่จากต่างประเทศ 

การระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อโควิด-19 โดยมีจุดเริ่มต้นจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั้งภายในและต่างประเทศ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยจาก 48 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษ จำนวนทั้งสิ้น 83,079 ราย เสียชีวิต 2,855 ราย โดยประมาณร้อยละ 95 เป็นผู้ป่วยจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะที่ในประเทศไทยพบผู้ป่วย 40 ราย รักษาหาย 27 ราย แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ ภาครัฐได้กำหนดมาตรการเพื่อรับมือกับโรคปอดอักเสบจากเชื้อโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มาตรการรองรับเมื่อพบผู้ป่วยจากประเทศอื่นแต่ไม่พบในประเทศไทย โดยจัดให้มีการคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่สำคัญ การจัดระบบการดูแลวินิจฉัยผู้ป่วย การจัดระบบการติดตามผู้ที่สัมผัสผู้ป่วย การจัดประสานงานเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการจัดกลไกประสานความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ระยะที่ 2 มาตรการรองรับการระบาดในวงจำกัดในประเทศไทย โดยการดูแลรักษาผู้ป่วยเตรียมพื้นที่รองรับผู้ป่วยในสถานพยาบาล จัดหาเวชภัณฑ์ยาต้านไวรัส การป้องกันการแพร่เชื้อ การควบคุมการระบาดในชุมชน การสื่อสารความเสี่ยง นอกกจากนี้ ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 กรมควบคุมโรคได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการป้องกันและควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการป้องกันตนเอง โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงมีภูมิต้านทานโรค

คุณภาพการศึกษาไทยยังคงต้องเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

การวัดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาในระดับนานาชาติของไทย อาทิ IMD ด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 56 จาก 63 ประเทศ อยู่อันดับรองสุดท้ายของประเทศในอาเซียน การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA 2018) มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะด้านการอ่านอยู่ลำดับที่ 66 จาก 79 ประเทศ (393 คะแนน) ซึ่งอยู่อันดับต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาในระดับเดียวกัน ข้อค้นพบที่สำคัญจากผลการประเมิน PISA คือ ความเหลื่อมล้ำของฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อคุณภาพการศึกษา โดยกลุ่มนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดี และอยู่ในโรงเรียนที่มีการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาที่เพียงพอ จะมีผลคะแนนมากกว่ากลุ่มนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยกว่าอย่างมาก อาทิ นักเรียนในกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์และโรงเรียนสาธิตมีระดับคะแนนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเรียนในกลุ่มสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยกว่าสามารถทำคะแนนการอ่านอยู่ในกลุ่มเปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไปมีจำนวนถึงร้อยละ 13 ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านการสนับสนุนกจากผู้ปกครอง บรรยากาศเชิงบวกในโรงเรียน และกรอบความคิดแบบเติบโตของนักเรียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาส่วนหนึ่งของไทยมีคุณภาพและสามารถพัฒนาไปในระดับที่สูงได้ หากมีนโยบายที่สร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษา โดยขยายระบบการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ทั่วถึง ประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ต้องการการจัดการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากรถยนต์ และการเผาซากวัสดุทางการเกษตร แม้ว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเน้นมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่คนไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่เหมือนปีที่ผ่านมาๆ ซึ่งจากรายงานผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ฝุ่น PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงขึ้น หากลดระดับฝุ่น PM2.5 ที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจะช่วยลดอัตราซึมเศร้าได้ถึงร้อยละ 2.5 อีกทั้งส่งผลเกี่ยวข้องกับการอักเสบของสมอง ทำลายเยื่อประสาท และการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน โดยที่เด็ก คนสูงวัย และกลุ่มประชากรที่เสี่ยงในสังคมมีโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมทั้งข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์ของจีนเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 ชี้ว่า ฝุ่น PM2.5 กับไวรัสเป็นปัจจัยเกื้อหนุนกัน เนื่องจากฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดอาการระคายเคือง เยื่อบุตา ปาก ทางเดินหายใจ เมื่อเกิดการอักเสบแล้ว ไวรัสจะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ดังนั้น การรับรู้ปัญหาอย่างตรงจุด การสื่อสารและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตลอดจนการจัดการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ยั่งยืน

บทความเรื่อง "การพัฒนา Generation Y เพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศ”

10 ลักษณะคน Gen Y จากการทบทวนข้อมูลพบว่า คน Gen Y มีลักษณะเด่น ได้แก่ คน Gen Y จะเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า เป็นกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นมากกว่าคน Gen อื่น มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี มีทักษะสูงเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีพฤติกรรมการทำงานที่เน้นความเป็นอิสระในการทำงานและสามารถจัดระบบการทำงานเองได้ มีการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็น มีแนวโน้มการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ขาดการตระหนักในเรื่องการวางแผนด้านการเงินในอนาคต แต่งงานช้าและให้ความสำคัญกับการมีบุตรน้อยลง และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพน้อย

คนเจนวายกับการขับเคลื่อนประเทศ จากลักษณะของคน Gen Y ข้างต้น จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ดังนี้ (1) การครองโสดมากขึ้นและไม่นิยมมีบุตรของคนเจนวายเนื่องจากรักอิสระ ต้องการทำงานเพื่อประสบความสำเร็จ และการมีสังคมกับเพื่อนฝูง ส่งผลให้ประชากรไทยมีแนวโน้มลดลง และอัตราส่วนการพึ่งพิง (Dependency Ratio) ของประชากรที่ไม่ได้ทำงานต่อประชากรที่ทำงานสูงขึ้น ส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงาน และการมีภาระทางการเงินการคลังเพิ่มขึ้นจากการมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น (2) จำนวนแรงงานที่ลดลงส่งผลต่อความต้องการแรงงานที่มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยจำนวนคน Gen Y จะไม่สามารถทดแทนประชากรสูงอายุที่ออกจากตลาดแรงงานได้ และการจะรักษาระดับการผลิตไว้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น แรงงานจะต้องมีทักษะที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยกำลังแรงงานที่ลดลง (3) รูปแบบการทำงานที่เป็นอิสระ ต้องการสร้างสมดุลการทำงานกับชีวิตส่วนตัวของคน Gen Y ทำให้คน Gen Y มีแนวโน้มของรายได้ไม่แน่นอน และขาดหลักประกันในการทำงาน ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้สินส่วนบุคคล ครัวเรือน และความยั่งยืนของระบบสวัสดิการสังคมของประเทศ และ (4) พฤติกรรมการบริโภค และการใช้ชีวิต มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทำให้สูญเสียกำลังคนในการพัฒนาประเทศ หรือมีค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลกลุ่มผู้พิการเพิ่มขึ้น 


ข้อเสนอแนะการยกระดับศักยภาพคน Gen Y สู่การขับเคลื่อนประเทศ ดังนี้ (1) การพัฒนาระบบสนับสนุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คน Gen Y สามารถทำหน้าที่ในการดูแลบุตร และผู้สูงอายุได้ดีขึ้น ขณะที่ยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โดยเพิ่มบทบาทของผู้ชายในการเลี้ยงดูบุตรและรับผิดชอบครอบครัวให้มากขึ้น การสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้หญิงตัดสินใจมีบุตรโดยที่ยังมีความก้าวหน้าทางอาชีพได้ การมีสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานดูแลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีราคาที่สมเหตุสมผล การจัดให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กที่ไว้วางใจได้ในที่ทำงาน ตลอดจนสนับสนุนให้มีสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ (2) การปรับหลักสูตร การส่งเสริมการยกระดับทักษะ (Up-skill) และการปรับเปลี่ยนทักษะ (Re-skill) รวมถึงทักษะอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่สอดรับกับการพัฒนาประเทศ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานที่เทคโนโลยีไม่สามารถเรียนรู้ได้ และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเข้ามากระทบ ขณะเดียวกันต้องพัฒนาหลักสูตรการศึกษา และการฝึกอบรมที่มีคุณภาพและตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศ (3) การสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยมีระบบหลักประกันการทำงานที่ตอบสนองต่อรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป มีระบบหลักประกันการทำงานที่ครอบคลุมและตอบสนองต่อรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปของคน Gen Y การสร้างระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงในชีวิตยามเกษียณ อาทิ การส่งเสริมการออมภาคบังคับ รวมถึงจะต้องสร้างทักษะทางด้านการเงิน และ (4) การส่งเสริมให้มีสุขภาวะที่ดี โดยส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาวะที่ถูกต้องเหมาะสมครอบคลุมกิจกรรม ทั้งการให้ความรู้และการพัฒนาพฤติกรรม โดยอาศัยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการติดตามและชักจูงให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม รวมถึงการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งการแก้ไขปัญหาทางกายภาพของถนน และยานพาหนะให้มีมาตรฐานความปลอดภัย 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
28 กุมภาพันธ์ 2563 


สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์