สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ทั้งปี 2562 และแนวโน้มปี 2563 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2562
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YOY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2562 ร้อยละ 0.2 (%QoQ SA) รวมทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในปี 2561
การชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้มีปัจจัยสำคัญมาจาก (1) การขยายตัวในเกณฑ์ที่ต่ำของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของทิศทางมาตรการกีดกันทางการค้า และการแข็งค่าของเงินบาท (2) ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ (3) ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และปัจจัยชั่วคราวในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ
ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกสินค้าปรับตัวลดลง การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 4.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ มาตรการของภาครัฐ และการเร่งตัวขึ้นของรายจ่ายของคนไทยในต่างประเทศ การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้ สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายสำคัญ ๆ โดยเฉพาะดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล และปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.3 ร้อยละ 3.4 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ ในขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.4 และร้อยละ 17.2 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.8 เทียบกับระดับ 60.8 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลปรับตัวลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 22.8 (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 29.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 0.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนในสิ่งก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.1 และการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 2.5 ขณะที่การลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 5.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 โดยการลงทุนของรัฐบาลปรับตัวลดลงร้อยละ 16.7 ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 13.1 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 4.0 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 21.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 13.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในด้านภาคการค้าต่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 59,169 ล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.9 เทียบกับร้อยละ 0.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ การเพิ่มขึ้นของความไม่แน่นอนในทิศทางมาตรการกีดกันทางการค้า และการแข็งค่าของเงินบาท โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 5.3 ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น น้ำตาล (ร้อยละ 51.1) อากาศยาน เรือ แท่นขุดเจาะน้ำมัน และรถไฟ (ร้อยละ 26.5) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 5.2) รถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 44.1) เครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 8.2) เครื่องดื่ม (ร้อยละ 11.4) และผลไม้ (ร้อยละ 9.9) เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 30.7) เคมีภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 25.9) ข้าว (ลดลงร้อยละ 33.3) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 37.7) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 15.2) รถกระบะและรถบรรทุก (ลดลงร้อยละ 22.6) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ลดลงร้อยละ 8.2) รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 6.3) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 3.1) และผลิตภัณฑ์ยาง (ลดลงร้อยละ 0.5) เป็นต้น การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 53,221 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 7.6 (ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่) เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 8.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 6.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงของปริมาณการนำเข้าทั้งในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก ขณะที่ราคานำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า
ด้านการผลิต การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการอาหาร และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ขยายตัวเร่งขึ้น สาขาการขายส่งและการขายปลีกฯ ขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่การผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาก่อสร้าง และสาขาไฟฟ้าฯ ปรับตัวลดลง สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและฝนทิ้งช่วง สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 1.5 โดยผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 3.2) อ้อย (ลดลงร้อยละ 21.2) ปาล์มน้ำมัน (ลดลงร้อยละ 15.2) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 4.9) เป็นต้น ส่วนผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 8.4) ยางพารา (ร้อยละ 2.4) และมันสำปะหลัง (ร้อยละ 10.9) เป็นต้น ด้านหมวดประมงและหมวดปศุสัตว์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองร้อยละ 13.7 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 10.3) ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 6.7) ราคาปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 39.8) และราคาอ้อย (ร้อยละ 1.0) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวลดลง เช่น ราคามันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 23.6) ราคายางพารา (ลดลงร้อยละ 2.3) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 5.8) เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 สาขาการผลิตอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้า และผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวในการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญบางรายการ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 ลดลงร้อยละ 16.0 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 4.5 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 1.6 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63.4 ลดลงจากร้อยละ 65.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากร้อยละ 69.3 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 21.4) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 15.2) และการผลิตน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 22.1) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (ร้อยละ 17.0) การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 7.3) และการต้ม การกลั่น และการผสมสุรา (ร้อยละ 31.7) เป็นต้น สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 6.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 10.33 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 0.79 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 0.50 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อน โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ยังขยายตัวสูง ประกอบด้วย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย และไต้หวัน เป็นต้น และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 0.29 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.8 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.24 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64.08 ในไตรมาสก่อนหน้า สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ขยายตัวร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของบริการขนส่งผู้โดยสาร เป็นสำคัญ โดยบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงขยายตัวร้อยละ 2.8 บริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 5.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และบริการขนส่งทางน้ำขยายตัวร้อยละ 4.2 ส่วนบริการสนับสนุนการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ในขณะที่บริการไปรษณีย์ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.8
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 1.0 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (314.5 พันล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 7.2 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 224.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,954 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.2 ของ GDP
เศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งปี 2562
เศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในปี 2561โดยในด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 2.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 และร้อยละ 4.1 ในปี 2561 ตามลำดับ ส่วนการใช้จ่ายของรัฐบาล และการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.4 และร้อยละ 0.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 และร้อยละ 2.9 ในปี 2561 ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้า ลดลงร้อยละ 3.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในปี 2561 ในด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวร้อยละ 0.1 ร้อยละ 5.5 ร้อยละ 5.7 และร้อยละ 3.4 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.5 ร้อยละ 7.6 ร้อยละ 6.6 และร้อยละ 4.4 ในปี 2561 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2561 รวมทั้งปี 2562 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 16,879.0 พันล้านบาท (543.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 248,257.4 บาทต่อคนต่อปี (7,996.2 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคนต่อปี) เพิ่มขึ้นจาก 241,269.6 บาทต่อคนต่อปี (7,467.1 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคนต่อปี) ในปี 2561
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.8 ของ GDP
แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2563
เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.5 ชะลอตัวลงจากปี 2562 ตามข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายรัฐบาล แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจและการค้าโลกตามการลดลงของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง (2) การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ (3) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และ (4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.5 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 – 1.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.3 ของ GDP
รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
1. การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ชะลอลงจากร้อยละ 4.5 ในปี 2562 ตามแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและฐานรายได้ในภาพรวมที่อยู่ในระดับต่ำกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และฐานรายได้ในภาคเกษตรซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และ (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เท่ากับประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2562 สอดคล้องกับกรอบวงเงินรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณประจำปี 2563
2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2562 โดยการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในปี 2562 แต่เป็นการปรับลดจากร้อยละ 6.5 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับลดสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากร้อยละ 2.8 ในปี 2562 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐทั้งในด้านการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและโครงการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งที่มีความชัดเจนมากขึ้น และการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการในต่างประเทศ สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงและต่อเนื่องของการลงทุนก่อสร้างในหมวดโรงงานในครึ่งหลังของปี 2562 (2) การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย (LTV) และ (3) การดำเนินมาตรการสนับสนุนการลงทุนเพิ่มเติมของภาครัฐ ทั้งในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) และมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563
3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.2 ในปี 2562 แต่เป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในการประมาณการที่ผ่านมา โดยเป็นผลจาก (1) การปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกสินค้าจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 1.5 และ (2) การปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกบริการตามการปรับลดสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2563 จาก 41.8 ล้านคนในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เป็น 37.0 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยอยู่บนสมมติฐานการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คาดว่าจะเข้าสู่จุดสูงสุดในเดือนมีนาคมและสิ้นสุดลงจนทำให้ทางการจีนยุติเงื่อนไขการเดินทางออกนอกประเทศของประชาชนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เมื่อรวมกับการปรับลดประมาณการการส่งออกจะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่ำกว่าร้อยละ 3.5 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า
ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2563
ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก และสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวในครึ่งปีหลัง (2) การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ให้สามารถกลับมาขยายตัวในครึ่งปีหลัง โดยมีจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีไม่ต่ำกว่า 37.0 ล้านคน และ 1.73 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยการ (i) ยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าปรับกรณีผิดนัดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (ii) รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวไทยหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น (iii) จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปี (iv) พิจารณาวันหยุดเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีแรก โดยไม่กระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ และ (v) ติดตามขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว (3) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.0 (ไม่รวมทองคำ) โดยมุ่งเน้น (i) การขับเคลื่อนแผนการส่งออกปี 2563 (ii) การให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้า และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 (iii) การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตและการค้าไทย - จีน และ (iv) การเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ (4) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบประมาณเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 91.2 ร้อยละ 70.0 และร้อยละ 75.0 ตามลำดับ (5) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การติดตามและขับเคลื่อนมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุน (ii) การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ (iii) การเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางการค้าที่สำคัญ ๆ และ (iv) การแก้ไขปัญหาอุปสรรคการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการต่างชาติ และ (6) การดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับ (i) กลุ่มเกษตรกรที่ทำงานในภาคบริการในช่วงนอกฤดูการเพาะปลูกและฤดูการเก็บเกี่ยว (ii) กลุ่มพนักงานในสาขาการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง (iii) กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs (iv) การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินชดเชย และการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และ (v) การบริหารจัดการน้ำ
ข่าว : การกองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค
ภาพ: เมฐติญา วงษ์ภักดี
|