เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานจัดงานวันครบรอบการสถาปนา 70 ปี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมี ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรรมการสภาฯ ได้แก่ นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ นายรัชกรณ์ นภาพรพิพัฒน์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง ผู้แทนเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้เกียรติร่วมงาน
สำหรับการประกอบพิธีทางศาสนาในช่วงเช้า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคคฺชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นประธานประกอบพิธีทางศาสนาและแสดงสัมโมทนียกถาอันเป็นเป็นสิริมงคลยิ่งต่อ สศช. โดยมีความสำคัญโดยสรุปว่า ตามหลักคำสอนของพระศาสนา คำว่า "สภา” หมายถึงที่อยู่ของคนดี ดังนั้น ทุกท่านในสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องพึงสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่อยู่ของคนดี กล่าวคือคนมีศีลธรรม คนที่ประพฤติปฏิบัติดี โดยโอกาสนี้ได้ฝากหลักธรรม 4 ประการในการเป็นคนดีของสภา ได้แก่ (1) ศีล คือการรักษาปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ ให้อยู่ในทางที่สุจริต (2) สามัคคี การทำงานทุกอย่างต้องมีความสามัคคี ตั้งแต่กลุ่มน้อยถึงกลุ่มใหญ่ (3) สัจจะ เป็นสิ่งสำคัญมาก คือความจริงใจต่อกัน ต่อองค์กร และต่อประเทศ และ (4) ความกตัญญู ตามหลักศาสนาสอนว่าความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ แสดงสัมโมทนียกถาต่อไปว่า ศีลจึงถือเป็นพื้นฐานของความดีทั้งปวง เหมือนพื้นดินที่เราใช้สร้างบ้านสร้างเมือง ส่วนสามัคคีเหมือนฝาประตูหน้าต่าง ถ้าไม่มีพื้นและฝาประตู จะอยู่อาศัยไม่ได้ ขณะที่สัจจะเหมือนหลังคา ถ้าบ้านไม่มีหลังคา ก็ไม่สามารถกันแดดกันฝนได้ และข้อสุดท้าย กตัญญูเหมือนเสา ถ้าบ้านไม่มีเสาก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น ในโอกาสวันมงคลนี้ ขอให้ทุกท่านใน สศช. คิดอยู่เสมอว่าในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา มีอะไรเป็นความดีที่ทำให้เราทั้งหลายชื่นใจ หรือทำอะไรให้กับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้วหรือยัง ถ้าท่านทำได้ ท่านก็มีคุณธรรมครบทั้ง 4 ประการ ประเทศชาติบ้านเมืองจะประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง เราทั้งหลายที่อยู่ในองค์กรนี้ ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญเช่นเดียวกัน
ข่าว : กุลนันทน์ ยอดเพ็ชร
ภาพ : เมฐติญา วงศ์ภักดี / ปราณี ขวัญเกิด / ธนเทพ ปลายแก่น
|