ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. และสถาบันนโยบายสาธารณะฯ จัดเสวนา ร่วมสร้างไทยเป็นสังคมอุดมปัญญาในทศวรรษใหม่
วันที่ 30 ม.ค. 2563
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเปิดงานเสวนา "Thailand 2020s and Beyond: Building an Intelligent Society” จัดโดยสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา มูลนิธิพระยาสุริยานุวัตร ซึ่งเป็นหน่วยงานได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ อาคารสามย่านมิตรทาวน์ โดยมีผู้เข้าร่วมงานเสวนาประกอบด้วยผู้บริหารและนักคิดจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ

การจัดเสวนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการจุดประกาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และระดมสมอง เพื่อวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในทศวรรษใหม่ และแนวทางการส่งเสริมให้ไทยเป็นสังคมอุดมปัญญาในยุคที่เทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเป็นหนึ่งในกิจกรรมแลกเปลี่ยนรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะของภาคีต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน สื่อสารมวลชน และองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งหวังให้เป็นหนึ่งในกลไกส่งเสริมการสร้างสังคมอุดมปัญญา และเป็นกลไกในการสร้างและต่อยอดเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงานด้านนโยบายสาธารณะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ภายหลังการกล่าวเปิดงานของเลขาธิการ สศช. เป็นการแนะนำสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา มูลนิธิพระยาสุริยานุวัตร โดย ดร.นพ. สรภพ  เกียรติพงษ์สาร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา และการนำเสนอรายงาน เรื่อง ผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย (Impact of AI on Thailand's Economy and Society: Alternative Futures) โดย นายสเตฟาโน่ สกูรัตติ (Mr. Stefano Scuratti) ผู้อำนวยการด้านนโยบายสาธารณะส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  จาก The Economist Intelligence Unit  โดยได้ฉายภาพอนาคตของประเทศไทยในสถานการณ์จำลองต่างๆ เพื่อเป็นการเปิดประเด็นอภิปรายและนำเสนอการใช้ข้อมูลและแบบจำลองในการมองภาพอนาคตและออกแบบนโยบาย

จากนั้น เป็นการเสวนาเรื่อง "Thailand 2020s and Beyond: Building an Intelligent Society” ซึ่งได้รับเกียรติจาก            ดร. กอบศักดิ์  ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นตัวแทนจากภาครัฐบาล คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ดร. สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด และ รศ.ดร. วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ร่วมเสวนา โดยมี ดร.นพ. สรภพ  เกียรติพงษ์สาร ผู้อำนวยการสถาบันฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ

สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา หรือ Institute of Public Policy and Development เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพของ สศช. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 เพื่อเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการในรูปแบบสถาบันภายใต้มูลนิธิพระยาสุริยานุวัตร

โครงการเสริมสร้างศักยภาพฯ ดังกล่าว มีแผนงาน/โครงการที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น แผนงานการสร้างฐานสำหรับการวิเคราะห์วิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมเชิงลึก โครงการพัฒนาเครื่องมือและระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาระบบเตือนภัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่รองรับพลวัตรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง แผนงานการวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มอนาคตและผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โครงการวิเคราะห์ภาพอนาคตของการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล แผนงานการออกแบบและการพัฒนานโยบายสาธารณะ (policy design and development) โครงการพัฒนานโยบายสร้างพื้นที่เติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ โครงการออกแบบนโยบายพัฒนาสาขาการผลิตและบริการที่จะเป็นเครื่องจักรการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ เป็นต้น

สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลได้ที่ทีมสื่อสารองค์กร ของ สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา
ชลิตา สุนันทาภรณ์, กานต์ ศุภจารุกิตติ์ หรือ รัสมิ์กร นพรุจกุล 092 472 6987
---------------------------

ข่าว/ภาพ : สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา  มูลนิธิพระยาสุริยานุวัตร
เรียบเรียง/เผยแพร่ :  ธนเทพ ปลายแก่น


ผลกระทบปัญญาประดิษฐ์ต่อสังคมไทย โดย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์