ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
“สภาพัฒน์” ร่วมกับ “ป.ป.ช.” ขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
วันที่ 3 ม.ค. 2563 (จำนวนผู้เข้าชม  44)
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (21) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ณ ห้องประชุม 531 สศช. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ป.ป.ช. ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและร่วมกันวิเคราะห์เป้าหมาย ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อจัดทำปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จและโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ โดยมี นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน และ นางเสาวณีย์ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ และเจ้าหน้าที่ สศช. เข้าร่วมการประชุมจำนวนประมาณ 40 คน 

ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ภักดี โพธิศิริ กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ความตอนหนึ่งว่า เป้าหมายหลักตามแผนแม่บทฯ คือการทำให้ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมีดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) เป็นตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าว่าภายในปี 2576-2580 การทุจริตของประเทศไทยจะอยู่ในลำดับ 1 ใน 20 หรือมีค่าคะแนนประมาณ 73 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน จากเดิมในปี 2560 ประเทศไทยได้เพียง 37 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 96 จาก 180 ประเทศทั่วโลก 

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ภักดี กล่าวอีกว่า แผนแม่บทฯ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ประกอบด้วย 2 แผนย่อย ได้แก่ (๑) แผนย่อยการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมุ่งไปที่การปรับพฤติกรรมคนทุกกลุ่มในสังคม และพัฒนาระบบโดยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในการต่อต้านการทุจริต และ (๒) แผนย่อยการปราบปรามการทุจริต มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการและกลไกที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามการทุจริต การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะและองค์ความรู้เชิงสหวิทยาการของเจ้าหน้าที่ 

สำหรับสถานการณ์การทุจริตของประเทศไทยในอนาคต จากการคาดการณ์ของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. พบว่า การทุจริตที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นสูง 3 อันดับแรก ได้แก่ การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การทุจริตที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคง และการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงตั้งเป้าหมายในการป้องกันการทุจริตสำหรับปีงบประมาณ 2564 ว่าคือการป้องกันการทุจริตในการซื้อขายตำแหน่ง การเฝ้าระวังการทุจริตในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของรัฐ รวมไปถึงการให้และรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายตามแผนแม่บทฯ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มุ่งหมายให้ประเทศไทยมีคดีทุจริตลดน้อยลง และประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต

นอกจากนี้ นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้บรรยายให้ที่ประชุมเข้าใจถึงบทบาทและภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ช. ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (21) ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็น (21) และยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมประชุมได้แบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสนอรายละเอียดกิจกรรมและโครงการที่มีแผนจะดำเนินการ ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในเป้าหมาย ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็น (21) เพื่อเป็นข้อมูลให้สำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณา รวบรวมและใช้ประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อตอบโจทย์และขับเคลื่อนการดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติต่อไป


ข่าว : กุลนันทน์  ยอดเพ็ชร
ภาพ : ธนเทพ  ปลายแก่น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์