ประเทศไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะผู้ประสานงานระดับชาติแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และจังหวัดกระบี่ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๕ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนงาน IMT-GT ณ จังหวัดกระบี่ ในช่วงวันที่ ๙-๑๓ กันยายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา โดยประกอบด้วยการประชุมระดับเลขานุการระดับชาติของ ๓ ประเทศ (National Secretariat) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Official Meeting: SOM) การประชุมร่วมผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี (Chief Ministers and Governor Forum: CMGF) และสรุปปิดท้ายด้วยการประชุมในระดับรัฐมนตรีในวันที่ ๑๓ กันยายน เพื่อตกลงในแถลงการณ์ร่วม รับฟังผลการดำเนินงานความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ เสนอโดยเจ้าหน้าที่อาวุโส ข้อเสนอของภาคธุรกิจเอกชน ข้อเสนออันเป็นผลจากการประชุม CMGF และการมีข้อสั่งการเพื่อการดำเนินงานในระดับปฏิบัติให้เกิดผลโดยเร็ว
โดยเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๒ ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีประจำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ของไทย เป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๕ แผนงาน IMT-GT ณ จังหวัดกระบี่ โดยมีบุคคลสำคัญจากประเทศสมาชิกและหุ้นส่วนการพัฒนาของแผนงาน IMT-GT เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ดร. รัดซี จิดิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเศรษฐกิจ ของมาเลเซีย ดร.ริซาล อาฟฟานดี ลุคมาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานกิจการเศรษฐกิจของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดร. อาลาดิน ดี ริลโล รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และนายราเมช ซูบรามาเนียม ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก ธนาคารพัฒนาเอเชีย
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมสำคัญยังประกอบไปด้วย มุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทน และผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของประเทศสมาชิกฯ เข้าร่วมประชุม โดยฝ่ายไทยคือ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ๓ ประเทศนำเสนอความคืบหน้าแผนงาน IMT-GT ในช่วงปี ๒๕๖๑ -๒๕๖๒ ต่อที่รัฐมนตรีของประเทศสมาชิก และ พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ปฏิบัติหน้าหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรีของ ๓ ประเทศเพื่อนำเสนอความคืบหน้าช่วงปี ๒๕๖๑ - ๒๕๖๒ ต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงาน IMT-GT ดังกล่าว
รัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของทั้ง ๓ ประเทศได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาจากผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของไทย โดยมีประเด็นสำคัญคือ การก่อสร้างโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) ปี ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔ จำนวน ๓๗ โครงการ มูลค่ารวม ๔.๘ หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (๑.๕ ล้านล้านบาท) ที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค การพัฒนาเส้นทางเรือสำราญและการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมร่วมกัน อาทิ การท่องเที่ยวฮาลาล เส้นทางวัฒนธรรมเพอรานากัน เส้นทางท่องเที่ยวอุทยานธรณี การพัฒนาช่องทางการค้าออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ฮาลาล การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและฐานข้อมูลแรงงานในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาเมืองสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงแนวทางการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจภาคทะเลอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่ขยะทะเลกลายเป็นประเด็นปัญหามากขึ้นตามลำดับ และสามประเทศนี้ได้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรทางทะเลทั้งในการเป็นแหล่งประมงที่สำคัญในขณะที่ผลักดันความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล/การท่องเที่ยวเรือสำราญ รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือโครงการเมืองยางพาราระหว่าง ๓ ประเทศเพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุดิบยางในภูมิภาคให้มากขึ้นและส่งเสริมการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ยังได้รับทราบถึงความคืบหน้ารายงานการดำเนินโครงการในระดับพื้นที่ของระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดนำเสนอโดยผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ซึ่งเน้นการนำเสนอความคืบหน้าโครงการความร่วมมือในระดับพื้นที่ อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมโคพันธุ์เนื้อศรีวิชัย การรื้อฟื้นเส้นทางรถไฟ เชื่อมโยงระหว่างอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส – เมืองรันเตาปันยัง - อำเภอตุมปัต ของมาเลเซีย เป็นต้น
ในช่วงท้ายการประชุมฯ ผู้แทนในระดับรัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของสามประเทศได้ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมฯ โดยมีสาระสำคัญกล่าวคือ เป็นการเน้นย้ำแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ โดยมีโครงการ PCPs และกรอบความร่วมมือ (Framework of Cooperation: FoC) ด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์ (CIQ) เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจของ IMT-GT ทั้งสามประเทศและเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการด้านความเชื่อมโยงทางกายภาพอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งสามประเทศจึงเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการดำเนินโครงการ PCPs ที่ยังคั่งค้าง รวมถึงการเร่งจัดทำความตกลง FoC ร่วมกันระหว่าง ๓ ประเทศให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อให้การเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ IMT-GT เป็นไปอย่างไร้รอยต่อ
แถลงการณ์ร่วมผลการประชุมฯ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาช่องทางการค้าออนไลน์ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ใน IMT-GT การฝึกอบรมเกษตรกรรุ่นใหม่ การพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจในภาคการผลิตสินค้ายางเพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตอย่างสมดุลในอุตสาหกรรมยาง การพัฒนาแอปพลิเคชันฮาลาลและการยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลโดยต่อยอดจากการยอมรับมาตรฐานการตรวจรับรองฮาลาลระหว่างกันใน IMT-GT การพัฒนา IMT-GT ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจุดหมายเดียว และพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ร่วมกัน
ในระหว่างการประชุมฯ ผู้แทนรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของไทย ได้เร่งรัดประเด็นติดค้างที่กระทบต่อผลประโยชนของไทย โดยเฉพาะในด้านการขนส่งทางบก อาทิ การเชื่อมโยงด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ณ จังหวัดสงขลากับด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัม ณ รัฐเกดะห์ของประเทศมาเลเซียโดยผ่านจุดผ่านแดนและเส้นทางแห่งใหม่ รวมทั้งเร่งรัดการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกทั้งสองแห่ง ได้แก่ สะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งใหม่ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส - เมืองตุมปัต รัฐกลันตัน และการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่สองที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส – เมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน เพื่อเชื่อมโยงกับรัฐเประและรัฐกลันตันซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของมาเลเซีย มาเลเซีย และเพิ่มโอกาสการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้กับสามจังหวัดชายแดนใต้ ตลอดจนการเชื่อมโยงกับความริเริ่มสายแถบและเส้นทางของจีนโดยผ่านทางมาเลเซีย เป็นต้น
ในโอกาสเดียวกันนี้ ฝ่ายไทยยังเสนอให้มีการขับเคลื่อนแผนงาน IMT-GT ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยขยายการจัดตั้งเมืองสีเขียวภายใต้กรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อเป็นแบบอย่างในการขยายตัวต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งขับเคลื่อนแผนการขนส่งสีเขียวในเมืองที่มีศักยภาพอย่างมีบูรณาการ ระหว่างเมืองต่าง ๆ ในพื้นที่ IMT-GT
ที่ประชุมยังได้เห็นชอบตามที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๖ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ของแผนงาน IMT-GT ช่วงเดือนกันยายน ปี ๒๕๖๓ ณ เมืองปาดัง สุมาตราตะวันตก เพื่อหารือและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ
***********************
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) |