วันนี้ (18 กันยายน 2562) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษในการประชุมประจำปี 2562 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง "พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก” ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สศช. ได้จัดการประชุมใหญ่ทางวิชาการขึ้นทุกปี เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม ในหัวข้อที่ สศช. เห็นว่า มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ สำหรับการประชุมในปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อเรื่อง "พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาสำคัญระดับพื้นที่ในมิติต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์เป้าหมายระยะยาวภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2565) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วนและทุกพื้นที่ของสังคมได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาระดับพื้นที่ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สาธารณชนและหน่วยงานรับผิดชอบทั้งภาครัฐและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ เกี่ยวกับการบูรณาการพัฒนาระดับพื้นที่ร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
การประชุมในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นประมาณ 2,500 คน เป็นตัวแทนของทุกภาคส่วนในสังคมไทยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้แทนจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และประชาชน
การประชุมในภาคเช้า เริ่มด้วย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดที่สำคัญในเรื่องการพัฒนาประเทศสู่อนาคต ก่อนการเสวนา เรื่อง "พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก” จากนั้นเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุม
สำหรับในภาคบ่าย เป็นการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่มีลำดับความสำคัญสูงสู่การปฏิบัติ ที่จะเป็นการวางรากฐานการพัฒนาของประเทศให้แข็งแกร่ง โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ภาคและพื้นที่ : ขับเคลื่อนประเทศด้วยความเจริญเติบโตที่ทั่วถึง กลุ่มที่ 2 พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ : เชื่อมไทย เชื่อมโลก กลุ่มที่ 3 โครงสร้างพื้นฐาน : เชื่อมโยงโครงข่ายอัจฉริยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี กลุ่มที่ 4 เมืองน่าอยู่ : แข่งขันได้ สังคมยั่งยืน กลุ่มที่ 5 การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ : ความร่วมมือทุกภาคส่วนและการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม
นิทรรศการฉายภาพการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่
นอกจากนี้ สศช. ยังได้จัดนิทรรศการเรื่อง "พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก” เพื่อนำเสนอกรณีตัวอย่างการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งโครงการสำคัญของภาครัฐและการดำเนินงานของภาคี
การพัฒนาอื่น ๆ ที่สะท้อนความสำเร็จในเชิงผลิตภัณฑ์คุณภาพพื้นที่ ศักยภาพรูปแบบการพัฒนาที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จ โดยได้รับความร่วมมือจาก 15 หน่วยงาน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา นำผลงานมาจัดแสดง ประกอบด้วย (1) กระทรวงคมนาคม (2) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (3) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (4) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (5) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (6) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (7) องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (8) สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย (9) มหาวิทยาลัยพะเยา (10) บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด (11) บริษัท เวลเนส ซิตี้ จำกัด (12) ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชัยภูมิ (13) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) (14) จังหวัดขอนแก่น (15) วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี
5 กลุ่มย่อย ระดมความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาพื้นที่ของประเทศไทย
กลุ่มที่ 1 ภาคและพื้นที่ : ขับเคลื่อนประเทศด้วยความเจริญเติบโตที่ทั่วถึง
การนำเสนอกรอบแนวคิดของการพัฒนาที่เหมาะสมกับศักยภาพและประเด็นท้าทายของพื้นที่ การต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากศักยภาพของพื้นที่ การออกแบบและเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่เฉพาะที่มีศักยภาพของภูมิภาค เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ให้เป็นแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและเครื่องมือกระจายความเจริญสู่พื้นที่
กลุ่มที่ 2 พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) : เชื่อมไทย เชื่อมโลก
การใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของทำเลที่ตั้งของประเทศไทยที่เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของแนวระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศกับพื้นที่การพัฒนาภายในประเทศ การผลักดันการพัฒนาจาก Transport Corridors ไปสู่ Economic Corridors และพัฒนาส่วนขยายจากแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคให้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้
กลุ่มที่ 3 โครงสร้างพื้นฐาน : เชื่อมโยงโครงข่ายอัจฉริยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์เชื่อมชุมชน เมือง แหล่งท่องเที่ยว เกษตร อุตสาหกรรมอย่างไร้รอยต่อ และจัดให้มีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ทั้งทางด้านพลังงาน ระบบน้ำประปา ที่อยู่อาศัย และโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ ครอบคลุม ทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาเมืองน่าอยู่ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศให้เป็นสังคมเมืองที่สงบสุขเพียงพอ น่าอยู่ และมีความทันสมัยสามารถรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ ลดการกระจุกตัวของการพัฒนาและประชากรของเมืองใหญ่ในปัจจุบัน
กลุ่มที่ 4 เมืองน่าอยู่ : แข่งขันได้ สังคมยั่งยืน
การพัฒนาเมืองที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของคนทุกกลุ่มบนพื้นฐานความพร้อมและปัจจัยแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในอนาคตของประเทศไทย เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยการประยุกต์ใช้และต่อยอดจากเมืองที่มีการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ อยู่แล้วของแต่ละภูมิภาค เช่น เมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัย (Age-Friendly City) เมืองสุขภาวะ (Healthy City) เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อให้การพัฒนาเมืองในอนาคตสามารถรองรับบริบทการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและสอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การพัฒนาเมืองน่าอยู่และสังคมที่ยั่งยืนต่อไป
กลุ่มที่ 5 การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ : ความร่วมมือทุกภาคส่วนและการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม (Collaborative Governance)
การพัฒนาเชิงพื้นที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการมีลักษณะเป็น Multi-level Governance ทั้งจากมุมมองภาครัฐที่ประกอบด้วยระดับส่วนกลาง/รัฐบาลกลาง ส่วนภูมิภาค จังหวัด และท้องถิ่น/ชุมชน ในขณะเดียวกันการพัฒนาจำเป็นต้องตอบโจทย์ทั้งการดำเนินธุรกิจ และความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้มั่นคงของภาคประชาสังคม เป็นการตอบโจทย์ทั้งในระดับสาขาการผลิตและบริการ และในรายผลิตภัณฑ์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องออกแบบรูปแบบการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม ที่มีความยืดหยุ่น สามารถตอบสนองความต้องการพัฒนาพื้นที่ในหลากหลายมิติ และอำนวยความสะดวกให้ภาคีการพัฒนา เช่น ภาคเอกชนและประชาสังคม มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดผล พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณีความสำเร็จการดำเนินงานของภาคีการพัฒนาในการบริหารจัดการพื้นที่ เช่น บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด และ "บางปูโมเดล” ศูนย์กลางอุตสาหกรรมหนังครบวงจร จังหวัดสมุทรปราการ ฯลฯ
พัฒนาพื้นที่ไทย : เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านที่ตั้งซึ่งอยู่บริเวณศูนย์กลางของภูมิภาค และมีความพร้อมในการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับประเทศโดยรอบและภูมิภาคอื่นของโลก ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การขนส่งและโลจิสติสก์ และการท่องเที่ยว รวมทั้งประเทศไทยยังมีจุดเด่นเฉพาะตัว ทั้งในด้านวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาที่สั่งสมสืบทอดกันมา ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถนำมาใช้ต่อยอดเพิ่มมูลค่า ด้วยจุดเด่นด้านที่ตั้งและศักยภาพดังกล่าว การพัฒนาเชิงพื้นที่จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยได้บรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในยุทธศาสตร์ที่ 9 เรื่อง ภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ นอกจากนี้ การพัฒนาเชิงพื้นที่ยังเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยสนับสนุนการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ของไทยในระยะต่อไปจะต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ การเข้าสู่ความเป็นเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การรวมกลุ่มเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค และการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ก็จะเป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญที่เป็นแรงส่งให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งจะช่วยกระจายความอยู่ดีมีสุขไปถึงคนไทยทุกคนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ตัวอย่างการพัฒนาเชิงพื้นที่ของประเทศ
ตัวอย่างการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สำคัญ เช่น การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งต่อยอดความสำเร็จมาจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (ESB) เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีความก้าวหน้าในการพัฒนา เช่น การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมทั้งได้มีการประกาศเขตส่งเสริมพิเศษแล้วหลายแห่ง เช่น เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเมืองการบินภาคตะวันออก (EEC-A) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)
การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ซึ่งมี 10 แห่งในทุกภาคของประเทศ เพื่อสร้างพื้นที่ฐานเศรษฐกิจใหม่บริเวณชายแดนและเพิ่มประสิทธิภาพของการเป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากและสระแก้วซึ่งมีผู้สนใจลงทุนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญแล้วเสร็จ เช่น สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ด่านพรมแดนแม่สอดแห่งใหม่ นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ถนนเลี่ยงเมืองอรัญประเทศไปยังด่านพรมแดนคลองลึก (ด่านปัจจุบัน) เป็นต้น
การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งครอบคลุมจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อเปิดประตูการค้าฝั่งตะวันตกเชื่อมโยงการท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าที่จะพัฒนาศักยภาพท่าเรือระนอง ผลักดันป่าชายเลนสู่มรดกโลก การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ และการพัฒนาเมืองนำร่อง Smart City
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภายใต้แผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงจากภายในประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และยังเป็น Springboard ที่สำคัญของอาเซียน รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่สำหรับการเชื่อมโยงที่กว้างออกไปทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกของประเทศ
แนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ในมิติภาคและเมือง
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาเชิงพื้นที่ในมิติภาคและเมืองซึ่งจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคต ซึ่งการพัฒนาในระดับภาค แต่ละภาคมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน สามารถนำมาต่อยอดการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างต่อเนื่อง ดังนี้ ภาคเหนือ มีฐานทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่โดดเด่น ที่จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาสู่เมืองท่องเที่ยวที่มีคุณค่าเชิงวัฒนธรรมระดับโลก และต่อยอดผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์และเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นฐานการผลิตภาคเกษตรที่สำคัญของประเทศ ที่จะสามารถพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าสูง พัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ และการท่องเที่ยวอารยธรรม ภาคกลาง เป็นศูนย์กลางการบริการและฐานอุตสาหกรรมส่งออก ที่จะสามารถใช้ความได้เปรียบด้านที่ตั้งและความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาต่อยอด
เป็นศูนย์กลางบริการด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ภาคตะวันออก เป็นฐานอุตสาหกรรมหลักของประเทศเชื่อมโยงการขยายตัวจากกรุงเทพฯ ซึ่งจะสามารถต่อยอดสร้างฐานเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาเป็นเมืองผลไม้ และพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมทั้งพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ให้เป็นพื้นที่ที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน ภาคใต้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลระดับนานาชาติ ซึ่งจะยกระดับการบริการด้านการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานชั้นนำระดับโลก การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพมาสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์เกษตรโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน และการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคใต้ชายแดน เป็นเมืองท่องเที่ยวชายแดน สังคมพหุวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบพอเพียง ซึ่งจะเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน และสังคมสันติสุข ส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสาน และพัฒนาภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่มูลค่าจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ รวมทั้งสร้างฐานการผลิตที่เชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยว บริการ และการค้าชายแดน
สำหรับการพัฒนาเมือง ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคต จะให้ความสำคัญกับ (1) การพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและมีการบูรณาการระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ โดยจะพัฒนาเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาค ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น เมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ได้แก่ Amata Smart City และ Smart City@ชลบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ) สงขลา และภูเก็ต และเมืองขนาดกลางในแต่ละภาค และ (2) การพัฒนาเมืองเชิงนิเวศโดยการพัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยจะจัดทำแผนผังภูมินิเวศของเมือง ชนบท เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
นอกจากนี้การพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่จะสนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่มีหลายด้าน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์เชื่อมชุมชน เมือง แหล่งท่องเที่ยว เกษตรอุตสาหกรรมอย่างไร้รอยต่อ เช่น การก่อสร้างรถไฟทางคู่เชื่อมโยงทุกภาคของประเทศ การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย (ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงไปยัง สปป.ลาวและจีน การขยายโครงข่ายทางรถไฟและการขนส่งทางถนน และการพัฒนาท่าอากาศยาน การจัดให้มีระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการทั้งด้านพลังงาน ระบบน้ำประปา และโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานระบบการบริหารจัดการด้านการค้าระหว่างประเทศ เช่น การพัฒนาระบบ National Single Window
ทุกภาคส่วนร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ดังกล่าว ศักยภาพของพื้นที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้รับการต่อยอดคุณค่าและนำมาใช้สนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูอย่างเป็นระบบและพัฒนาควบคู่กับด้านอื่น ๆ อย่างสมดุล รวมทั้งข้อจำกัดและปัญหาสำคัญของพื้นที่ได้รับการแก้ไขอย่างมีบูรณาการและสามารถลดผลกระทบจากการพัฒนา ซึ่งจะก่อให้เกิดการกระจายการพัฒนาและความเจริญไปสู่ภูมิภาคได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง และประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสที่เกิดขึ้น มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ความสำเร็จของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในเชิงพื้นที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งการเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ เพื่อให้การพัฒนาประสบผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในการจัดประชุมประจำปีของ สศช. ในครั้งนี้ จึงมุ่งนำเสนอประเด็นการพัฒนาสำคัญระดับพื้นที่ในมิติต่างๆ และเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วนและทุกพื้นที่ของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาและขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่ เพื่อ สศช. จะได้ประมวลความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ตอบโจทย์เป้าหมายระยะยาวภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต่อไป
ทั้งนี้ สศช. จะรวบรวมความคิดเห็นที่ได้รับจากการประชุมเพื่อใช้ประกอบการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ รวมทั้งเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป
--------------------------------------
|