ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์จัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 4 เรื่อง แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของประเทศไทย 
วันที่ 10 ก.ย. 2562
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 นางชุลีพร บุณยมาลิก ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 4 เรื่อง "แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของประเทศไทย (Strategic Environmental Assessment: SEA)” ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ หลานหลวง 

โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงและพัฒนาข้อเสนอการจัดทำ SEA และ (ร่าง) แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA Guideline) ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้ โครงการขับเคลื่อนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของ สศช. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ SEA ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบ ผ่านการจัดฝึกอบรมทางวิชาการด้าน SEA ให้กับผู้ทำการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ จำนวน 6 ครั้ง และการประชุมสัมมนาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แก่บุคคลทั่วไป จำนวน 2 ครั้ง รวมทั้งการประชุมระดมความคิดเห็นจำนวน 4 ครั้ง แบ่งเป็น เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม SEA 2 ครั้ง และเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาข้อเสนอการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และ (ร่าง) แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA Guideline) ให้มีความเหมาะสมและชัดเจนในการนำไปสู่การปฏิบัติ อีก 2 ครั้ง 

ทั้งนี้ การประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงและพัฒนาข้อเสนอการจัดทำ SEA และ (ร่าง) แนวทาง SEA ได้มีการดำเนินการไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร โดยได้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และแสดงความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต่อข้อเสนอการจัดทำ SEA และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อการนำ SEA ไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA Guideline) และการประชุมกลุ่มย่อยในครั้งนี้ เป็นการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับ SEA Guideline ครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุง (ร่าง) SEA Guideline ตามความเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งแรก ตลอดจน ความเห็นต่อแนวทางการผลักดันการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีผู้แทนจากภาครัฐภาคเอกชน มูลนิธิ และองค์กรอิสระ เข้าร่วมประชุม

การประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนา เรื่อง แนวทางการผลักดันการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สู่การปฎิบัติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย รศ. ดร. สุทิน อยู่สุข ประธานคณะทำงานพัฒนาการจัดทำ SEA และคณะทำงานจัดทำคู่มือ SEA นายสมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน นายศุภกิจ นันทะวรการ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และนางสาวนันทวัน สุวรรณสถิตย์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

การประชุมได้แบ่งกลุ่มย่อย ออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอการจัดทำ SEA และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อการนำ SEA ไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้ง (ร่าง) แนวทาง SEA ฉบับปรับปรุง (กันยายน 2562) ซึ่ง สศช. จะรับความเห็นต่างๆ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุง (ร่าง) แนวทาง SEA ให้มีความเหมาะสมและถูกต้อง และชัดเจนเพื่อนำเสนอคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป ตามลำดับ

สำหรับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เป็นกระบวนการศึกษาวิเคราะห์ ประเมินศักยภาพ และขีดความสามารถในการรองรับของสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การพัฒนานโยบาย แผน และแผนงาน โดยบูรณาการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเปรียบเทียบทางเลือกในการตัดสินใจ ซึ่งส่งผลให้การตัดสินใจนั้นมีคุณภาพ รอบคอบ โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ถือเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการวางแผนการพัฒนาที่มีเป้าหมายมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาและผลักดันให้เกิดระบบ SEA ได้ถูกกำหนดไว้ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) กำหนดให้มีการปรับปรุงกระบวนการ SEA รวมทั้ง ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2565) กำหนดให้ผลักดันการนำแนวทาง SEA มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ประกอบกับการผลักดันให้มีการขับเคลื่อน SEA ให้มีผลเป็นรูปธรรม ได้ถูกกำหนดไว้ ทั้งในแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 รวมทั้งยังกำหนดไว้ในนโยบายรัฐบาลปัจจุบันในนโยบายข้อ 10.7 แต่การนำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ไปดำเนินการยังไม่ได้รับการผลักดันอย่างเป็นระบบและมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้มีการขับเคลื่อนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ให้เป็นที่ยอมรับและถูกนำมาใช้เป็นกรอบในการวางแผนพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธานอนุกรรมการ และมี สศช. และ สผ. เป็นฝ่ายเลขานุการร่วม เพื่อจัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และ (ร่าง) แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA Guideline) 

กพย. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ข้อเสนอการจัดทำ SEA และ (ร่าง) แนวทาง SEA แล้ว เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 และเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อน SEA รวมทั้ง ได้กำหนดประเภทของแผน/แผนงานและพื้นที่ที่ควรทำ SEA ในเบื้องต้น ได้แก่ 1) แผนด้านคมนาคม 2) แผนพัฒนาพลังงานและปิโตรเลียม 3) แผนพัฒนาทรัพยากรแร่ 4) ผังเมือง 5) แผนบริหารจัดการลุ่มน้ำหรือแผนพัฒนาชายฝั่งทะเล 6) แผนพัฒนาพื้นที่เฉพาะหรือพื้นที่พิเศษ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ 7) แผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม หรือการพัฒนาพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน 

แนวทางในการขับเคลื่อน SEA ในช่วงที่ผ่านมา สศช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาปรับปรุงแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA Guideline) ให้มีความเหมาะสมและปฏิบัติได้จริง และจัดทำโครงการนำร่องการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์กับการพัฒนาเชิงพื้นที่: จังหวัดระยอง รวมทั้ง สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ SEA ให้กับทุกภาคส่วน ตลอดจน จัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. .... เพื่อรองรับการขับเคลื่อน SEA ไปสู่การปฏิบัติ


ข่าว / สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โทร. 02-280-4085 ต่อ 1506
ภาพ : ธนเทพ ปลายแก่น กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สศช.


สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์