ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สภาพัฒน์จัดประชุมประจำปี 2562 "พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก” 18 ก.ย. นี้
วันที่ 4 ก.ย. 2562 (จำนวนผู้เข้าชม  139)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดจัดการประชุมประจำปี 2562 เรื่อง "พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก” ในวันพุธที่ 18 กันยายน 2562 เวลา 8.00 - 17.00 น. ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยได้รับเกียรติจากพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อวางรากฐานการพัฒนาของไทยขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของประเทศที่พึงประสงค์ในระยะยาวตามวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”  

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาวภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ถ่ายทอดลงมาสู่ระดับแผนแม่บทและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนในการที่จะยกระดับศักยภาพการพัฒนาฐานเศรษฐกิจให้มีการเจริญเติบโตได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีฐานการพัฒนาที่ครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นการยกระดับฐานการผลิตและบริการเดิมให้มีความเข้มแข็ง และการขยายฐานการผลิตและบริการใหม่ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่กับการกระจายโอกาสใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมไปในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการยกระดับศักยภาพการเจริญเติบโตและการกระจายโอกาสในระดับพื้นที่ต่าง ๆ จากการใช้ประโยชน์จากศักยภาพและภูมิสังคมของพื้นที่อย่างมีประสิทธิผล

การดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อเสริมสร้างและใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของพื้นที่จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงพื้นที่ภายในประเทศและเชื่อมโยงไปยังภายนอกประเทศที่คุ้มค่า รวมทั้งสร้างโอกาสในการกระจายความเจริญและยกระดับรายได้ของประชาชนจากการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่น่าอาศัยสำหรับทุกช่วงวัย และมีศักยภาพในการรองรับกิจกรรมการค้าการลงทุน ตลอดจนเป็นการบริหารจัดการที่ช่วยลดแรงกดดันจากการขยายตัวของประชากรในเขตเมืองที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
ทั้งนี้ การพัฒนาเชิงพื้นที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่องและมีความก้าวหน้าตามลำดับตั้งแต่การดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Project) ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการค้าที่ทันสมัยบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศ ซึ่งโครงการได้มีการพัฒนาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และล่าสุดได้รับการต่อยอดความสำเร็จในรูปแบบโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย ขณะที่ภูมิภาคอื่นของประเทศได้มีการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ทั่วประเทศ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและเป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และขยายผลต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ข้างต้นไปสู่พื้นที่อื่นของประเทศ เช่น การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เพื่อเปิดประตูการค้าฝั่งตะวันตกและประตูการท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) ที่ใช้ศักยภาพและปัญหาของพื้นที่เป็นหลักในการพัฒนา

เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้การพัฒนาเชิงพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภายใต้แผนงานความร่วมมือในโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย - ไทย (IMT - GT) นับเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงจากภายในประเทศไทยไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน บนหลักการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์เพื่อสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) และประชาคม (Community) ซึ่งการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือและการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนของประเทศ

ดังนั้น สศช. จึงได้จัดการประชุมเรื่องดังกล่าวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอประเด็นการพัฒนาสำคัญระดับพื้นที่ในมิติต่าง ๆ เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ตอบโจทย์เป้าหมายระยะยาวภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วนและทุกพื้นที่ของสังคมได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาระดับพื้นที่ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สาธารณชนและหน่วยงานรับผิดชอบทั้งภาครัฐและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ เกี่ยวกับการบูรณาการพัฒนาระดับพื้นที่

พิธีเปิดการประชุมจะเริ่มเวลา 8.00 น. ประกอบด้วย การนำเสนอวีดิทัศน์เรื่อง "พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก” จากนั้นศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการฯ กล่าวรายงาน ต่อจากนั้นเป็นการปาฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรีในประเด็นการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ และการเสวนาเรื่อง "พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายชัยวัฒน์  ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายฐาปน  สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล  เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) และเลขาธิการ สศช.  ดำเนินรายการโดย นายจิรัฐิติ  ขันติพะโล ผู้สื่อข่าวด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

นอกจากนี้ มีการระดมความเห็นในกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ภาคและพื้นที่ : ขับเคลื่อนประเทศด้วยความเจริญเติบโตที่ทั่วถึง กลุ่มที่ 2 พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) : เชื่อมไทย เชื่อมโลก กลุ่มที่ 3 โครงสร้างพื้นฐาน : เชื่อมโยงโครงข่ายอัจฉริยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี กลุ่มที่ 4 เมืองน่าอยู่ : แข่งขันได้ สังคมยั่งยืน กลุ่มที่ 5 การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ : ความร่วมมือทุกภาคส่วนและการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม (Collaborative Governance)  

ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเรื่อง "พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก” เพื่อนำเสนอกรณีตัวอย่างการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งโครงการสำคัญของภาครัฐและการดำเนินงานของภาคีการพัฒนาอื่น ๆ ที่สะท้อนความสำเร็จในเชิงผลิตภัณฑ์คุณภาพพื้นที่ ศักยภาพรูปแบบการพัฒนาที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จ โดยขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา นำผลงานมาจัดแสดง อาทิ การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) การพัฒนารถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า และรถไฟทางคู่เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่  การพัฒนานวัตกรรมระดับพื้นที่ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ การพัฒนา "บางปูโมเดล” ศูนย์กลางอุตสาหกรรมหนังครบวงจร จังหวัดสมุทรปราการ  ขอนแก่น SMART City  เวลเนสซิตี้ เมืองสุขภาวะดีเพื่อผู้สูงอายุ  ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็น Champions มีคุณค่าสูง เช่น ผ้าไทยคุณภาพ/การออกแบบดี เป็นต้น และแผนพัฒนาภาคทั้ง 6 ภาค

สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมประชุมเป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนในสังคมไทย ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี ประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประธานสมาชิกวุฒิสภา องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้แทนจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน และประชาชน รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,500 คน 

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมงาน ขอเชิญร่วมลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ www.nesdb.go.th รับจำกัดเพียง 200 ท่านแรก ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2562 เป็นต้นไป

สำนักงานฯ ได้รับความร่วมมือจากกรมประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดสดพิธีเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรี ทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย คลื่นเอเอ็ม 837 กิโลเฮิรตซ์ และทางช่องทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ สศช. www.nesdc.go.th และช่องทางโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Facebook สภาพัฒน์ และ Youtube สภาพัฒน์

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์