ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อจัดทำกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS ปี 2030 ครั้งที่ 1
วันที่ 4 ก.ค. 2562
เมื่อเร็วๆนี้ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อกรอบยุทธศาสตร์ แผนงาน GMS ปี 2030 (GMS Strategic Framework 2030) ร่วมด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกแผนงาน GMS โดยมี H.E. Ros Seilava ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ราชอาณาจักรกัมพูชา และ Mr. Ramesh Subramaniam ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย เป็นประธานร่วมการประชุม ณ โรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานคร 

การประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นต่อร่างกรอบยุทธศาสตร์ แผนงาน GMS ในระยะปี 2030 อันเนื่องมาจากข้อสั่งการของผู้นำในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 6 ในเดือนมีนาคม 2561 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยธนาคารพัฒนาเอเชียได้จัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์ฯ จากการหารือและระดมความเห็นในเบื้องต้นกับประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ หุ้นส่วนการพัฒนา ภาควิชาการ และภาคเอกชน ซึ่งร่างกรอบยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวได้วิเคราะห์แนวโน้มของโลกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานแผนงาน GMS ในระยะ 20 ปี ข้างหน้า ได้แก่ 

1) การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ลดลงและผลกระทบจากสงครามการค้า
2) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
3) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร 
4) การเติบโตของเมือง 
5) ความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และ 6) ความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มสูงขึ้น 

ทั้งนี้ "3Cs” คือ ความเชื่อมโยง (Connectivity) ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) และประชาคม (Community) ยังคงเป็นเสาหลักการดำเนินงานของแผนงาน GMS ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ของ GMS ได้แก่ การบูรณาการที่เพิ่มมากขึ้น (More Integrated) ความมั่งคั่ง (Prosperous) และความเท่าเทียม (Equitable) โดยร่างกรอบยุทธศาสตร์ฯ ยังได้เสนอพันธกิจใหม่เพื่อตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ดังกล่าว คือ

1) สร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและบรรเทาพิบัติภัย
2) เร่งบูรณาการและเปิดกว้าง และ 
3) ลดความเหลื่อมล้ำ 

นอกจากนี้ ร่างกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS ยังได้ให้ความสำคัญต่อการมุ่งพัฒนาในประเด็นข้ามสาขาต่าง ๆ การพัฒนาเชิงพื้นที่ การดำเนินการด้านนโยบายและกฎระเบียบ การดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และความตกลงปารีส (COP21) การเปิดกว้างเพื่อการพัฒนาสำหรับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคหุ้นส่วนการพัฒนา ภาคท้องถิ่น จนถึงภาคเอกชน และเป็นแผนงานที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ในการนี้ รองเลขาธิการ สศช. เห็นว่าควรจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินงานแผนงาน GMS ที่มุ่งแปลงความมั่งคั่งตามวิสัยทัศน์ของ GMS ไปสู่พันธกิจในรูปแบบความมั่งคั่งที่ยั่งยืนและเกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น การดำเนินการพัฒนาตาม "3Cs” ในระยะต่อไปจำเป็นต้องมุ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและประชาสังคม โดยการสร้างโมเดลทางธุรกิจตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเพื่อให้มีการพัฒนาลงไปถึงระดับพื้นที่ นอกจากนี้ พันธกิจในด้านการลดความเหลื่อมล้ำเห็นควรให้ความสำคัญในด้านของการพัฒนาทุนมนุษย์ให้เด่นชัดอีกด้วย และขอให้ธนาคารพัฒนาเอเชียระบุจุดเน้นหรือสาขาที่ให้ความสำคัญในแต่ละกรอบความร่วมมือ 

รองเลขาธิการ สศช. ยังเห็นควรให้ความสำคัญต่อประเด็นต่าง ๆ ซึ่งหลายเรื่องเป็นประเด็นที่ข้ามสาขา อาทิ คุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการภายใต้ระบบ National Quality Infrastructure อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) การสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและองค์ความรู้เป็นความไม่เท่าเทียมในโลกดิจิทัล (Digital Divide) รวมไปถึงปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมในกลุ่มผู้สูงวัย 

ที่ประชุมฯ ยังได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงการวิเคราะห์แนวโน้มที่สำคัญทั้ง 6 ประเด็น ซึ่งควรให้ความสำคัญต่อบริบทที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ มุ่งเชื่อมโยงกรอบยุทธศาสตร์ แผนงาน GMS ในปี 2030 เข้ากับแผนระดับชาติของแต่ละประเทศ และวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 รวมทั้ง เชื่อมโยงเข้ากับยุทธศาสตร์ในกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ร่างกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS ในปี 2030 ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการพัฒนาทักษะวิชาชีพโดยเฉพาะในระดับประเทศและอนุภูมิภาค การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ความสำคัญของเทคโนโลยี และความต้องการการสนับสนุนทางการเงินของโครงการภายใต้แผนงาน GMS ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชียจะได้รวบรวมความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่อาวุโสประเทศสมาชิก GMS เพื่อปรับปรุงร่างกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS ในปี 2030 และนำเสนอต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อจัดทำข้อเสนอกรอบยุทธศาสตร์ แผนงาน GMS ปี 2030 ครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2562 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยร่างกรอบยุทธศาสตร์ฯ ที่ปรับปรุงแล้วเสร็จจะได้นำเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2562 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา ก่อนนำกรอบยุทธศาสตร์ฯ เสนอต่อผู้นำแผนงาน GMS ให้ความเห็นชอบต่อไป

เรื่อง : กองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ
ภาพ : ปราณี ขวัญเกิด / เมฐติญา วงษ์ภักดี 



สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์