เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 12 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้นำประเทศเข้าร่วมการประชุมสำคัญได้แก่ นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม และ ตุน ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ร่วมด้วยรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของสามประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของไทย ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน และ นายทาเคฮิโกะ นากาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมได้เน้นย้ำความสำคัญของแผนงาน IMT-GT ที่ดำเนินมาเป็นเวลา 26 ปี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการลดความยากจนของประชาชนในพื้นที่ และตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องทบทวนแผนดำเนินงานระยะห้าปี ปี 2560 – 2564 ในช่วงกึ่งกลางแผนเพื่อให้สามารถรับมือกับโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้น อาทิ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเติบโตของชุมชนเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ขณะเดียวกันผู้นำ 3 ประเทศเห็นพ้องร่วมกันว่าแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของ IMT-GT เนื่องจากทั้ง 5 ระเบียงเศรษฐกิจที่เริ่มดำเนินการในปี 2550 ได้ช่วยพลิกโฉมโครงข่ายด้านการคมนาคมให้กลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงการผลิต การค้า และการท่องเที่ยว มีการรวมกลุ่มคลัสเตอร์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเป็นศูนย์กลางกระจายโอกาสการพัฒนาไปสู่พื้นต่าง ๆ นอกจากนี้ ได้ยืนยันที่จะเพิ่มระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 เชื่อมโยงจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส เข้ากับรัฐเประและรัฐกลันตันในมาเลเซีย และเชื่อมโยงทางทะเลไปยังเกาะสุมาตราตอนใต้ในอินโดนีเซีย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวน ประเมินและปรับทิศทาง ให้มีบูรณาการของการพัฒนาในระเบียงเศรษฐกิจเดิมทั้ง 5 ระเบียง รวมทั้งบูรณาการกับระเบียงเศรษฐกิจที่ 6
ที่ประชุมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างกันในอนุภูมิภาคทั้งในมิติโครงสร้างพื้นฐานและมิติกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ IMT-GT โดยเร่งรัดการลงทุนในโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects) จำนวน 39 โครงการใน 3 ประเทศ มูลค่ารวม 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.45 ล้านล้านบาท) โดยปัจจุบันหลายโครงการมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความสะดวกในการคมนาคมขนส่งและการประกอบธุรกิจมากขึ้น อาทิ รถไฟรางเบาสายสุมาตราใต้ในเมืองปาเลมบังของอินโดนีเซีย โครงการปรับปรุงอาคารที่ทำการด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา โครงการปรับปรุงด่านศุลกากรวังประจัน จังหวัดสตูล และโครงการเมืองยางพารา จังหวัดสงขลา เป็นต้น ด้านการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนความเชื่อมโยง ได้มีการลงนามพิธีสารแก้ไขบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ว่าด้วยการขยายเส้นทางบิน โดยรัฐมนตรีคมนาคม 3 ประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงทางอากาศระหว่างกันยิ่งขึ้นในพื้นที่ IMT-GT และรองรับการเพิ่มขึ้นของการให้บริการโดยสายการบินต่าง ๆ ภายในอนุภูมิภาค
ผู้นำแผนงาน IMT-GT ยังได้รับทราบถึงความสำเร็จในการจัดทำกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ปี 2562 – 2579 (Sustainable Urban Development Framework 2019 - 2036) เพื่อเป็นแนวทางในการขยายผลโครงการเมืองสีเขียวให้เป็นที่แพร่หลายในพื้นที่แผนงาน IMT-GT โดยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มูลค่า 16,934 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5.24 แสนล้านบาท) พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียวที่มีศักยภาพจากทั่วโลก
นอกจากนี้ ทั้งสามประเทศยังได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาจุดแข็งของพื้นที่เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสนับสนุน อาทิ การส่งเสริมเกิดความร่วมมือด้านการแปรรูปผลผลิตยางและปาล์มน้ำมันเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ส่งเสริมผู้ประกอบการฮาลาลรุ่นใหม่ (Halal Startup) และการเตรียมความพร้อมแรงงานให้มีทักษะที่จำเป็น สามารถปรับตัวเข้ากับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงจากผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 รวมไปถึงการร่วมมือกันพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวจุดหมายเดียว ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสู่อนุภูมิภาคมากขึ้น
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อแนวทางการขับเคลื่อนแผนงาน IMT-GT 5 ประเด็นดังนี้
1. ติดตามประเมินผลความก้าวหน้าของแผนงาน IMT-GT บนพื้นฐานของการลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง โดยพิจารณาจากผลสำเร็จในการยกระดับคุณภาพชีวิตของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจถึงระดับชุมชนท้องถิ่นและโอกาสของวิสาหกิจทุกขนาด รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำทางสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ
2. พัฒนาความเชื่อมโยงโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และสอดรับกับทิศทางนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน โดย
(1) ระเบียงเศรษฐกิจระนอง-ภูเก็ต-อาเจะห์ ควรเร่งพัฒนาความเชื่อมโยงทางทะเลจากคาบสมุทรมลายาสู่สุมาตราของอินโดนีเซียโดยผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน และควรเร่งพัฒนาเส้นทางเรือสำราญที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวบนบก
(2) ระเบียงเศรษฐกิจสงขลา-ปีนัง-เมดาน ควรเร่งบูรณาการการเชื่อมโยงทางถนนระหว่างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ของไทย-ด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และ (3) ระเบียงเศรษฐกิจปัตตานี/ยะลา/นราธิวาส – เประ/กลันตัน – สุมาตราใต้ ควรเร่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งใหม่สองแห่งเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งมีโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” รวมทั้งเมืองต้นแบบแห่งที่ 4 ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส เข้ากับพื้นที่ภาคตะวันออกของมาเลเซีย ซึ่งกำลังมีการพัฒนาโครงการเส้นทางรถไฟสายตะวันออกที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน รวมไปถึงการเชื่อมโยงกับสุมาตราใต้ของอินโดนีเซียทางทะเล
3. ยกระดับห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ยาง ปาล์มน้ำมัน ประมงแปรรูป และผลิตภัณฑ์ฮาลาล โดยมุ่งเน้นให้เกิดการวิจัย พัฒนา และใช้นวัตกรรมร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนเพื่อสร้างอุปสงค์ต่อผลผลิตทางการเกษตรในอนุภูมิภาคทั้งในขั้นตอนการแปรรูปต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวและสร้างงานเพิ่มขึ้น เป็นผลให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่
4. ต่อยอดการพัฒนาเมืองสีเขียวสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในหลายมิติ โดยเร่งรัดการดำเนินการให้เร็วกว่าเป้าหมายและหยิบยกประเด็นความร่วมมือในเรื่องที่เร่งด่วน เช่น โครงข่ายการคมนาคมสีเขียว และการลงทุนกิจกรรมเศรษฐกิจสีเขียวภายใต้กรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เป็นต้น
5. เสริมสร้างบทบาทของมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด (CMGF) ในการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย IMT-GT (UNINET) สภาธุรกิจ IMT-GT และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน แผนงาน IMT-GT นอกจากนี้ สำนักงาน CMGF และสภาธุรกิจ IMT-GT ของไทย พร้อมให้การสนับสนุนทางเทคนิค และให้คำปรึกษาแก่อินโดนีเซียและมาเลเซียในด้านการจัดตั้งโครงสร้างองค์กร CMGF ที่มีประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างกันต่อไป