ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
รายงานผลการพัฒนาประเทศในรอบ 5 ปี (พ.ศ. 2557 – พ.ศ. 2561)
วันที่ 6 ก.พ. 2562
ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าสูงขึ้นในด้านต่างๆ อย่างไรก็ดี จากรายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (The Global Competitiveness Report) ของ World Economic Forum (WEF) พบว่าประเทศไทยยังคงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อน โดยการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต (Efficiency-driven Country) เป็นหลัก เป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร (GDP per capita) อยู่ที่ 3,000-8,999 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี ดังนั้น การพัฒนาประเทศให้มีการเติบโตเพื่อหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง จำเป็นต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาทุนมนุษย์ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อก้าวไปสู่กลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมการผลิต (Innovation-driven Country) หรือ Thailand 4.0 และประเด็นอื่นๆ ที่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของความเท่าเทียม โอกาส คุณภาพชีวิต ความมั่นคง และความพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ตลอดจนการวางรากฐานการพัฒนาในระยะต่อไปให้มีความสมดุล ยั่งยืน

เมื่อพิจารณาภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน จากการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 4.3 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 และคาดว่าทั้งปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 4.2 สำหรับในปี 2562 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 4.0 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) สงครามการค้า และดอกเบี้ยโลก แต่ทั้งนี้ยังคงมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องมาจากองค์ประกอบหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีการขยายตัวและกระจายตัวมากขึ้นในทุกด้าน ทั้งมูลค่าการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยมีผู้ว่างงานคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ตลอดจนสัดส่วนหนี้ภาครัฐทรงตัวจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลการพัฒนาประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา (พ.ศ.2557-2561) ภาครัฐมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้มีการเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในมิติต่าง ๆ ประกอบด้วย (1) การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันพร้อมกับให้ความสำคัญในการกำกับดูแลเศรษฐกิจฐานราก (2) การปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมของประเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสของประชาชน (3) การลดความเสี่ยงของประเทศในด้านต่างๆ (4) การสร้างความภาคภูมิใจและการได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และ (5) การแก้ไขกฎหมายและปรับระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ดังมีรายละเอียดที่สำคัญ ได้แก่
1. การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ประกอบด้วย
   1.1 ความสามารถในการแข่งขัน 
         1.1.1 การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Innovation driven) ในช่วงปี 2558-2561 ประเทศไทยมีการลงทุนกว่า 539,463 ล้านบาทในอุตสาหกรรม New S-Curve ประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (2) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (3) อุตสาหกรรมดิจิทัล (4) อุตสาหกรรมอากาศยานและโลจิสติกส์ (5) อุตสาหกรรมเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และได้กำหนดอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพิ่มเติม ได้แก่ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทั้งนี้การดำเนินการได้มีการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตโดยการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับโลก โดยมีการอนุมัติโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญเพื่อพัฒนาระบบการจัดการขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ได้แก่ ระบบรางเพื่อเชื่อมโยง 3 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC มากขึ้น
         1.1.2 การสร้างความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจเพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ตามนโยบาย Thailand 4.0 การเพิ่มการลงทุนเพื่อการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม (R&D) เพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดเชิงพาณิชย์ ลดการนำเข้า และให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ทำให้การลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมมีสัดส่วนต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.5 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 1 ในปี 2560 การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม เพื่อบูรณาการ การเรียนการสอนโดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนาคนที่มีคุณภาพ การสร้างนักรบเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีทักษะ ความสามารถในการแข่งขัน และอัตลักษณ์ที่ชัดเจน อาทิ พัฒนาศักยภาพและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs การสร้างและพัฒนา Tech Start up หรือ Start up ที่มีศักยภาพเชิงธุรกิจ การพัฒนา Smart Farmer และ Young Farmer นอกจากนี้ได้มีการแก้ไขปัญหาการค้าระหว่างประเทศและที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและกำหนดแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาที่สหรัฐฯ เลื่อนสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญาจาก Priority Watch List (PWL) เป็น Watch List (WL) การจัดทำข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) กับชิลี อินเดีย และฮ่องกง เป็นต้น
         1.1.3 การสร้างความเข้มแข็งด้านการท่องเที่ยว โดยรักษาฐานทรัพยากรการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและพัฒนาการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยเฉพาะเมืองรอง รวมทั้งรักษาการเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวระดับโลกเพิ่มสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง โดยประเทศไทยถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของประเทศในเอเชีย - แปซิฟิก มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดเป็นอันดับ 10 ของโลก และสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 57,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 14.2 ต่อ GDP เป็นร้อยละ 18.4 ต่อ GDP ในปี 2561
         1.1.4 การเร่งลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หลังจากหยุดนิ่งมา 10 ปี โดยดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและขนส่งไร้รอยต่อ เชื่อมไทยเชื่อมโลก และปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอนาคต ด้วยการพัฒนาที่ครอบคลุม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง อาทิ การลงทุนระบบรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล วงเงินรวมกว่า 2.4 ล้านล้านบาท การพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม อาทิ การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุม 59,255 หมู่บ้าน การลงทุนโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศและการพัฒนาระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา วงเงินรวม 13,779 ล้านบาท และ การปรับโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับรูปแบบการค้า การขนส่ง การเงิน และการบริหารจัดการภาครัฐแบบดิจิทัลยุคใหม่ (Digital Transformation) อาทิ การพัฒนาระบบ E-payment ระบบ National Single Window เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สำคัญ เช่น Doing Business Portal, TPMAP เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการวางแผนพัฒนาประเทศในระยะต่อไป เป็นต้น
         1.1.5 การดูแลการจัดการทรัพยากรของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงของการใช้ทรัพยากรอย่างมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาทรัพยากรน้ำในภาคการผลิตที่สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 2.83 ล้านไร่ และมีแหล่งน้ำสำหรับไร่นา 180,278 แห่ง รวมทั้งการจัดการอุทกภัยชุมชนเมือง 14 แห่ง เนื้อที่ 0.4 ล้านไร่ สำหรับด้านพลังงานมีการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติโดยสามารถเปิดประมูลสัมปทานที่จะหมดอายุของแหล่งปิโตรเลียมบงกช-เอราวัณ ทำให้มีก๊าซธรรมชาติใช้อย่างต่อเนื่องลดการนำเข้าประมาณ 22 ล้านตัน หรือประมาณ 4.6 แสนล้านบาท สร้างรายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท เป็นต้น
   1.2 การดูแลเศรษฐกิจฐานราก การดำเนินการในระยะที่ผ่านมาภาครัฐมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน อาทิ การจัดสรรที่ดินทำกินและส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ใน 61 จังหวัด จำนวน 46,674 ราย พื้นที่ 399,481 ไร่ การพัฒนา Smart Farmer มากกว่า 1 ล้านราย การช่วยเหลือเกษตรกรที่มีปัญหา เช่น ช่วยเหลือชาวนา 3.63 ล้านครัวเรือน วงเงิน 39,506 ล้านบาท และชาวสวนยาง 1.54 ล้านครัวเรือน วงเงิน 18,882 ล้านบาท เป็นต้น รวมทั้งได้มีการระบายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว กว่า 17 ล้านตัน การส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผ่านการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ 4,663 แปลง พื้นที่ 5.41 ล้านไร่ การใช้ Agri-Map เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ การวางแผนการผลิตและการตลาด การเพิ่มมูลค่าสินค้าของชุมชนผ่านการดำเนินโครงการสินค้า OTOP และส่งเสริมสินค้า GI สามารถขยายตลาดให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติด้วยการสร้างโอกาสในการจับคู่ธุรกิจและนำผลิตภัณฑ์ OTOP จำหน่ายบนเครื่องบิน และสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้นโดยเฉพาะสินค้า OTOP ที่มีแนวโน้มการสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 98,000 ล้านบาท ในปี 2557 เป็น 190,000 ล้านบาทในปี 2561
นอกจากนี้ ภาครัฐได้ตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เช่น สินเชื่อเพื่อการซื้อบ้านและซ่อมแซมบ้านและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย การให้สวัสดิการต่างๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การเปิดโครงการร้านธงฟ้า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตลอดจนการดำเนินการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองรวมทั้งสิ้น จำนวน 79,598 กองทุน เพื่อเป็นการสร้างรายได้ ส่งเสริมการออม รวมทั้งการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตให้เกิดความมั่นคง กินดีอยู่ดีและมีความสุขมากยิ่งขึ้น โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มีการปรับตัวลดลง และยอดคงค้างสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยคิดเป็นร้อยละ 50.4 ของสินเชื่อรวมจากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด

สำหรับการพัฒนาให้เกิดการกระจายความเจริญออกสู่ภูมิภาคเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้และคุณภาพชชีวิตที่ดีขึ้น ได้ดำเนินการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ มีผู้ประกอบการ SMEsสนใจจัดตั้งธุรกิจจำนวน 3,017 ราย และมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI วงเงินรวม 8,818.5 ล้านบาทรวมทั้งได้ดำเนินการจัดทำกรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) เพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคใต้และมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

2. การปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมของประเทศ เป้าหมายการปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมมุ่งเน้นการพัฒนาคนในทุกช่วงวัย ทุกกลุ่มเป้าหมาย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก ดังนี้
    2.1 การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการดูแลทุกข์สุขของประชาชน มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าและสำคัญของประเทศและเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยกำหนดนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
          2.1.1 การศึกษา ได้แก่ การพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อวางรากฐานสู่การเติบโตในช่วงถัดไปอย่างมีคุณภาพและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน โดยจัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ จัดทำ School Mapping และร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย การลดความเหลือมล้ำด้านการศึกษา โดยจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาสามารถสนับสนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสไปแล้วกว่า 4.3 ล้านคน และ การยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกระดับ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อตอบโจทย์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตของประเทศ
          2.1.2 การพัฒนาและยกระดับบริการสุขภาพขั้นปฐมภูมิ ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของประชาชนในระดับพื้นที่ โดยกำหนดกลไกต่าง ๆ เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในลักษณะเชิงรุก โดยบุคลากรทางด้านสาธารณสุขร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ คลินิกหมอครอบครัว ซึ่งปี 2561 มีมากกว่า 800 ทีม มีแพทย์พร้อมให้คำปรึกษาและดูแลสุขภาพถึงที่บ้าน การส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สนับสนุนการดำเนินงานของ อสม. โดยเพิ่มค่าป่วยการเป็น 1,000 บาท การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระดับพื้นที่ผ่านการขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) ทั้ง 878 อำเภอ นโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (UCEP) โดยจัดตั้งศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP Coordination Center) อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเข้ารับการใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินโดยไม่ต้องสำรองค่ารักษาพยาบาล 72 ชั่วโมงแรก
          2.1.3 การดูแลทุกข์สุขของประชาชน ดำเนินการเปิดศูนย์ดำรงธรรมเพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ และอํานวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ให้คำปรึกษาด้านปัญหาความต้องการ ความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ได้ทุกเรื่องตลอดเวลา สำหรับข้อมูลข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับบริการจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ประชาชานสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน 1111 ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ ด้านการบรรเทาสาธารณภัยได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติในระหว่างปี 2557-2561 รวม 49,880.64 ล้านบาท และได้เร่งรัดการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างเร่งด่วน รวมทั้งการวางแผนแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในระยะยาวโดยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการจัดการแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ
    2.2 การป้องกันและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้มีการดำเนินงานที่ชัดเจนทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การปรับแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้ และกำหนดมาตรการและแนวทางส่งเสริมสนับสนุน โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การลักลอบค้าและครอบครองงาช้าง การบุกรุกที่ดินของรัฐเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน การตัดไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ การแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและโฟม การยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย
    2.3 การจัดระเบียบสังคม เพื่อส่งเสริมการสร้างชุมชนให้น่าอยู่และสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข โดยดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การจัดระเบียบทางเท้าและหาบเร่แผงลอย การปรับปรุงภูมิทัศน์ การพัฒนาพื้นที่สาธารณะและลำคลองเพื่อการดูแลรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย กวดขันและปราบปรามการการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางสาธารณะ กำหนดนโยบายลดอบายมุขในทุกกลุ่มวัย 

3. การลดความเสี่ยงของประเทศ การดำเนินการในระยะที่ผ่านมาได้มีการติดตามและแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศที่สะสมมานานและส่งผลกระทบกับการพัฒนาประเทศอย่างมีนัยสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงและช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบทางเศรษฐกิจในอดีต รวมทั้ง สร้างโอกาสและความยั่งยืนให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและบังคับใช้กฏหมาย รวมทั้งจัดทำแผนการบริหารจัดการต่างๆ ติดตามและเฝ้าระวัง รวมทั้งจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ ทำให้สามารถลดความเสี่ยงของประเทศได้เป็นผลสำเร็จ อาทิ การปลดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO (วันที่ 5 ตุลาคม 2560) จากประเด็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน การปลดใบเหลืองของสหภาพยุโรป (วันที่ 8 มกราคม 2562) จากประเด็นปัญหาด้านประมง หรือ IUU และการทำให้ประเทศไทยขึ้นมาอยู่ Tier 2 ในประเด็นการค้ามนุษย์

4. การสร้างความภาคภูมิใจและการได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยมีผลสำเร็จของการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศไทยเป็นประธาน G77 ปี 2559 สามารถบรรจุหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) เป็นแนวทางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้นโยบาย SEP for SDGs Partnership ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประเทศกำลังพัฒนา 24 ประเทศ และภาคีอื่นๆ ในการนำไปประยุกต์ใช้ การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ในปี 2562 ที่ประเทศไทยมีบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ผ่านภายใต้แนวคิด "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกลและยั่งยืน” โดยผลักดันประเด็นต่างๆ อาทิ การรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาคเพื่อสันติภาพ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนกับภูมิภาคอื่นเพื่ออาเซียนที่ไร้รอยต่อ และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การเสนอแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี ของประเทศไทยที่ส่งเสริมการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกประเภท Participant ของ OECD ด้านดิจิทัลและด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นในระดับนานาชาติจากการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางแข่งขันให้กับภาค
ธุรกิจ
สำหรับการจัดอันดับขององค์กรระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับมีลำดับที่ดีขึ้น อาทิ อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ในปี 2561 มีอันดับที่ดีขึ้น 20 อันดับ การจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 (Global Competitiveness Index: GCI 4.0) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 38 ในปี 2561 มีอันดับที่ดีขึ้น 2 อันดับ และการวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (International Logistics Performance Index) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ในปี 2561 มีอันดับที่ดีขึ้น 13 อันดับ การประเมินผลดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index : GII) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 44 ในปี 2561 มีอันดับที่ดีขึ้น 7 อันดับ

5. การแก้ไขกฎหมายและปรับระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย 
    5.1 การแก้ไขและปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างเป็นธรรมในสังคม โดยมีพระราชบัญญัติที่ผ่านพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วทั้งหมดจำนวน 346 ฉบับ และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 103 ฉบับ โดยมีกฎหมายที่สำคัญ เช่น 1) ด้านเศรษฐกิจ อาทิ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2) ด้านความเหลื่อมล้ำ อาทิ พ.ร.บ. จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ พ.ร.บ. คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย 3) ด้านความมั่นคง อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 4) ด้านสังคมและวัฒนธรรม อาทิ พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย 5) ด้านสวัสดิการ อาทิ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน และ พ.ร.บ. การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม 6) ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.บ. ป่าชุมชน และ 7) ด้านกระบวนการยุติธรรม/ภาครัฐ อาทิ พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ และ พ.ร.บ. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
    5.2 การปรับระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ประเทศไทยมีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยมีวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยประกอบด้วย 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง 2) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจะประกอบด้วย 23 แผนแม่บทการพัฒนาที่จะครอบคลุมการดำเนินการในประเด็นต่างๆ และมีแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาประเทศในระยะยาวที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สร้างรากฐานและพัฒนาชุมชนและสังคมให้มีความเข้มแข็งในทุกระดับ แก้ไขปัญหาและพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สร้างความโปร่งใสและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานของภาครัฐ รวมทั้งพัฒนากระบวนการยุติธรรมและปรับปรุงกฎหมาย

สรุปผลการพัฒนาที่ผ่านมา ในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2557-2561) ที่ผ่านมาได้มีการวางรากฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ สร้างโอกาสให้ชุมชนในการมีรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว พัฒนาคุณภาพชีวิต ดูแลทุกข์สุขและความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกช่วงวัยภายใต้การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเป็นระบบ  มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบกับประชาชนในทุกกลุ่ม อาทิ ประชาชนตลอดช่วงชีวิต ภาคครัวเรือน กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส แต่ก็ยังคงมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขต่อไป อาทิ ความเหลื่อมล้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

6. การวางแผนอนาคตของประเทศไทยในระยะต่อไป การพัฒนาประเทศไทยในระยะต่อไปควรมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาพื้นฐานในสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีความต่อเนื่อง ยกระดับประสิทธิภาพในการดูแลคนทุกช่วงวัย ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอาศัยอุตสาหกรรมศักยภาพและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้ามารองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยสามารถสรุปได้เป็น 3 ส่วน ครอบคลุม 15 ประเด็นเร่งด่วน ดังนี้
    6.1 การแก้ไขปัญหาพื้นฐาน ประกอบด้วย 1) ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เน้นสร้างความสามัคคีปรองดอง และการบริหารพื้นที่อย่างยั่งยืน 2) แก้ปัญหาความมั่นคงเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาด้านยาเสพติดและความปลอดภัยด้านไซเบอร์ 3) พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐในด้านการประเมินผลและการใช้งบประมาณ 4) แก้ปัญหาทุจริตของการดำเนินการทุกภาคส่วน และ 5) บริหารจัดการน้ำและมลพิษจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
    6.2 การดูแลยกระดับ ประกอบด้วย 1) สภาพแวดล้อมภาครัฐที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจและการบริการภาครัฐ 2) สังคมสูงวัยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถดูแลตัวเองได้ 3) คนและการศึกษา พัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยให้มีทักษะความรู้ ทักษะอาชีพและทักษะชีวิต 4) เศรษฐกิจฐานราก เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการระดับตำบลทั้งในด้านเกษตรกรรมและนวัตกรรม 5) บริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและเข้าถึงง่าย และ 6) กระจายศูนย์กลางความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ผ่านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่เมือง
    6.3 สร้างรายได้และรองรับการเติบโตในระบบอย่างยั่งยืน ประกอบ 1) การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ครบวงจรและได้รับการยอมรับในระดับโลก 2) อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เน้นอุตสาหกรรมมูลค่าสูง และอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 3) การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจ EEC และ SEC รวมทั้งการเปิดพื้นที่ใหม่ เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาแบบก้าวกระโดด และ 4) การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล สร้างความเชื่อมโยงทั่วประเทศและระหว่างประเทศ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
6  กุมภาพันธ์  2562

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์