ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
คณะผู้แทนส่วนขึ้นตรงนายกรัฐมนตรีเข้าพบ สศช.  เพื่อชี้แจงนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน ในภารกิจการจัดทำรายงานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปีงบประมาณ 2562
วันที่ 7 ธ.ค. 2561
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มอบหมายให้ นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานต้อนรับคณะผู้แทนส่วนขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี (สขต.นรม.) ประกอบด้วย พล.อ. สิงห์ทอง หมีทอง หัวหน้า สขต.นรม. พล.ท. สุวิทย์ มหาศักดิ์สุนทร รองหัวหน้า สขต.นรม. พ.อ.ชยุต แสงพิศุทธ์ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการและ พ.อ. ธนรัชต์ รอดพ่วง ผู้ประสานงาน ในการประชุมหารือระหว่างผู้แทน สศช. และผู้แทน สขต. นรม. เพื่อรับฟังคำชี้แจงนโยบายและแนวทางการดำเนินงานในภารกิจการจัดทำรายงานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปีงบประมาณ ๒๕๖๒ และการดำเนินการตามนโยบายและข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (หน.คสช.) 

นายวิโรจน์ได้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานของ สศช. พร้อมสาระสำคัญเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ และความเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ สรุปได้ว่า ยุทธศาสตร์มีความสำคัญ เพราะเป็นเป้าหมายการพัฒนาในระยะยาว และใช้เป็นกรอบในการกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเข้ามาบริหารประเทศ และก่อนที่จะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและแผนระดับอื่นๆ รวมทั้งการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีแผนการพัฒนาในระยะยาวที่ใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาประเทศ และเพื่อวางเป้าหมายร่วมในระยะยาวและเพื่อเป็นกลไกเตรียมรับความท้าทายและสิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และให้ภาคส่วนต่างๆ ใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนให้สอดคล้องและบูรณาการกัน รวมทั้งเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๖๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มียุทธศาสตร์เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อเกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

นายวิโรจน์ได้สรุปสาระสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติว่าประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ ๖ ด้าน และมีกระบวนการทำงาน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ (1) ขั้นตอนการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์และรวบรวมข้อมูลประกอบการยกร่าง (2) ขั้นการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย (3) ขั้นร่างประเด็นยุทธศาสตร์ โดยมีกระบวนการตรวจสอบและรับฟังความคิดเห็น (4) ขั้นการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติผ่านแผนต่างๆ และ (5) ขั้นการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การพัฒนาประเทศในปัจจุบัน และความเชื่อมโยงระหว่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ว่า แผนพัฒนาฯ นั้น สอดรับกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปี ในลักษณะของการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ระยะยาวลงสู่การปฏิบัติในช่วงเวลา 5 ปี 

ในโอกาสนี้ คณะผู้แทน สขต.นรม. ได้มอบนโยบายและแนวทางในการจัดทำรายงาน คสช. ปีงบประมาณ 2562 ว่า ให้เน้นนำเสนอสาระเกี่ยวกับโครงการหรือแผนงานที่ สศช. รับผิดชอบหรือมีส่วนร่วมในการดำเนินการว่า มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนมากน้อยเพียงใด โดยขอให้เน้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Mega projects) ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม หรือการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลสรุปเสนอนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. เพื่อทราบและพิจารณา ใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และสปอร์ตเผยแพร่แก่ประชาชนทุกระดับต่อไป 

ข่าว : ผู้ประสานงาน คสช. สศช.
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์