ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2561
วันที่ 29 พ.ย. 2561
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงข่าวรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสามปี 2561 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ การจ้างงาน รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง แต่มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่มีสัญญาณปัญหาการชำระหนี้ การเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัดที่เพิ่มขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลงจากคดีอาญาและอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ การฆ่าตัวตาย และการจัดลำดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในมิติแรงงาน รวมทั้งการเสนอบทความเรื่อง "คนรุ่นใหม่กับการสร้างประชากรที่มีคุณภาพ” โดยมีสรุปสาระดังนี้

การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นทั้งภาพรวมและการผลิตสาขาที่สำคัญ อัตราการว่างงานลดลง รายได้และผลิตภาพแรงงานขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

ไตรมาสสามปี 2561 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ไตรมาส ซึ่งการจ้างงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยได้รับผลดีจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว โดยเฉพาะ (1) สาขาการขนส่งและเก็บสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา (2) สาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 (3) สาขาการผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม (4) สาขาการก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี และ (5) สาขาการขายส่ง การขายปลีก เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 

อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ลดลงเทียบกับร้อยละ 1.2 ในช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยเป็นการลดลงของทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานและที่ไม่เคยทำงานร้อยละ 11.5 และ 22.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า อัตราการว่างงานลดลงทุกระดับการศึกษา แต่ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงกว่าระดับการศึกษาอื่น ขณะที่อัตราการว่างงานในระดับ ปวส. ปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนเทียบกับในช่วงปี 2560 และครึ่งแรกของปี 2561 

กลุ่มผู้ทำที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กลับปรับตัวลดลงร้อยละ 1.1 ขณะที่กลุ่มผู้มีงานทำต่ำระดับ หรือทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต้องการทำงานเพิ่ม ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 17.5 สะท้อนสภาวะการทำงานที่ยังไม่เต็มศักยภาพของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตร ซึ่งมีผู้ทำงานต่ำระดับสูงประมาณ 236,065 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 สอดคล้องกับชั่วโมงการทำงานในภาพรวมที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.5 เช่นเดียวกับชั่วโมงการทำงานของแรงงานภาคเอกชนที่ลดลงร้อยละ 0.6

ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 สอดคล้องกับค่าจ้างแรงงานที่ขยายตัวขึ้น โดยค่าจ้างแรงงานภาพรวมทั้งระบบและภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และ 3.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เมื่อหักเงินเฟ้อร้อยละ 1.5 พบว่า ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 โดยค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงเอกชนนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ขณะที่ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงเอกชนในภาคเกษตรปรับตัวลดลงร้อยละ 0.5 แสดงให้เห็นการปรับตัวของค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

แนวโน้มการจ้างงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 สถานการณ์การจ้างงานและตลาดแรงงาน
มีแนวโน้มในทิศทางที่ดี ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความผ่อนคลายของแรงกดดันต่อการส่งออกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคมที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความไม่แน่นอนและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้งความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 

หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีสัญญาณปัญหาการชำระหนี้ 

ไตรมาสสามปี 2561 หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 ด้านความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว จากร้อยละ 2.72 ในไตรมาสสองปี 2561 เป็นร้อยละ 2.73 ในไตรมาสนี้ ด้านการผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยยอดสินเชื่อผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ขณะที่ยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตลดลงร้อยละ 0.2 การสร้างความรู้พื้นฐานทางการเงิน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการสร้างวินัยทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงจากการเป็นหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนควรได้รับการปลูกฝัง สร้างทักษะและวินัยทางการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมทักษะทางการเงินที่ดีในหลายเรื่อง อาทิ การให้ความรู้ทางการเงิน การวางแผนทางการเงิน การทำบัญชีครัวเรือน การบริหารรายรับรายจ่าย การควบคุมการสร้างหนี้เกินความสามารถในการจ่ายคืน ตลอดจนการส่งเสริมการออมทั้งระบบโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีการจัดกิจกรรมเพื่อปลูกจิตสำนึกรักการออมให้กับเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง

การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัด และต้องเฝ้าระวังโรคอุบัติซ้ำที่ระบาด จากการเดินทางข้ามประเทศ

ไตรมาสสามปี 2561 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 5.2 โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และโรคปอดอักเสบเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 และผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นมากร้อยละ 109.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุ 1-6 ปี แต่สตรีตั้งครรภ์และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเมื่อเป็นโรคหัด มักจะมีอาการรุนแรงและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ การป้องกันทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนและหลีกเลี่ยงสัมผัสผู้ป่วย นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังโรคอุบัติซ้ำจากการเดินทางข้ามประเทศ ได้แก่ โรคหัดเยอรมัน พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น และโรคเมอร์สมีการระบาดล่าสุดที่ประเทศเกาหลีใต้ กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำผู้เดินทางป้องกันตนเองก่อนเข้าออกประเทศที่มีการระบาด ขณะเดียวกันต้องเฝ้าระวังโรคที่ติดมากับผู้เดินทางเข้าออกประเทศอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง 

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 7.5 และ 13.7 ตามลำดับ โดยค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่คิดเป็นร้อยละ 3 ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน ในระยะที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้คนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่น้อยลงมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการทางกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 รวมทั้งเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2560 ได้มีการปรับภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ให้สูงขึ้น ตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดจำนวนผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ลง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ อีก อาทิ การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ที่ส่งเสริมให้คนไทย ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยรณรงค์ร่วมกับสถานศึกษาและกิจกรรมงานบุญประเพณี วันสำคัญ และเทศกาลต่างๆ เช่น "งดเหล้าเข้าพรรษา” "สงกรานต์ปลอดภัย สนุกสุขใจ ไร้แอลกอฮอล์” "เลี้ยงเหล้าในงานบุญเท่ากับบาป” การกำหนดพื้นที่สาธารณะปลอดจากบุหรี่ เป็นต้น การใช้กลไกประชารัฐและการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่จะช่วยบูรณาการการดำเนินงานในเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพื่อสร้าง
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

คดียาเสพติดเพิ่มขึ้น ต้องให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังสารเสพติดและการป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่ตามมา
 
คดีอาญารวมในไตรมาสสามปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 โดยคดีชีวิตร่างกายและเพศ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ลดลงร้อยละ 11.7 และ 9.8 ตามลำดับ ขณะที่คดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 ซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.5 ของคดีอาญารวม ผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่ถูกจับกุมจำแนกตามข้อหาอันดับแรก ได้แก่ เสพร้อยละ 64.1 ช่วงอายุ 20-24 ปี ถูกจับกุมมากที่สุดร้อยละ 23.1 ของผู้ต้องหายาเสพติดทั้งหมด มีผู้เข้ารับการบำบัด 173,579 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 ยาเสพติดที่ต้องมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในขณะนี้ ได้แก่ เฮโรอีน และคีตามีน ภาคส่วนต่างๆ จึงต้องมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังปัญหา และสอดส่องพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การเกิดอาชญากรรม โดยครอบครัวและสถานศึกษาต้องเป็นกำลังหลักร่วมสอดส่องดูแลเด็กและเยาวชนให้เกิดภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันอาชญากรรม หน่วยงานภาครัฐดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันอาชญากรรมโดยรวมในระดับพื้นที่ ชุมชนควรเข้าร่วมเครือข่ายในชุมชน เช่น โครงการหมู่บ้านสีขาว "ปลอดอาชญากรรม ปลอดยาเสพติด” โครงการโรงงานสีขาว มีระบบเฝ้าระวังปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อให้การป้องปรามอาชญากรรมยาเสพติดในชุมชนเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ทุกภาคส่วนต้องเร่งลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน 

สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกในไตรมาสามปี 2561 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 13.1 จำนวนผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 17.4 และร้อยละ 28 ตามลำดับ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ร้อยละ 19.3 ของประเภทรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาโดยตลอด และได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์รองรับความปลอดภัยขึ้นมา โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการ ดังนี้ (1) ด้านบุคคล ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด (2) ด้านสิ่งแวดล้อม ออกแบบปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานช่วยให้มีความปลอดภัยมากขึ้น (3) ด้านกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายและการกำหนดบทลงโทษให้มีความเหมาะสม (4) ด้านการจัดการความเร็ว การตั้งด่าน การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (5) มาตรฐานความปลอดภัยรถยนต์ อุปกรณ์ภายในรถยนต์ และเพื่อสร้างสังคมไทย
ที่ปลอดภัยลดอุบัติเหตุตลอดทั้งปีควรให้ความสำคัญกับ (1) เพิ่มขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ
โดยการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลและกลไกการประเมินผลที่ครบวงจร (2) เร่งปรับพฤติกรรมผู้ขับขี่ ส่งเสริม
ให้มีวินัยจราจรตั้งแต่เด็กจนโตและเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน (3) ยกระดับความปลอดภัยของยานพาหนะและถนนตามมาตรฐานสากล (4) สร้างสภาพแวดล้อมรอบถนนที่ปลอดภัย อาทิ จุดกลับรถ ภูมิทัศน์โดยรอบถนน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุสองข้างทาง

การฆ่าตัวตาย : แก้ไขปัญหาได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน

อัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่พบว่ามีคนที่พยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึงกว่า 10 เท่าตัว โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,000 รายต่อปี ในปี 2560 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,934 คน หรือมีอัตราการฆ่าตัวตายเท่ากับ 6.03 ต่อประชากรแสนคน โดยผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง 4.4 เท่า พบการฆ่าตัวตายมากสุดในกลุ่มวัยแรงงานอายุ 40-49 ปี และการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สาเหตุของการฆ่าตัวตายเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ครอบครัวมีปัญหา ปัญหาการเจ็บป่วยโรคเรื้อรังทางกายและขาดการดูแล ปัญหาเศรษฐกิจ และส่วนหนึ่งมาจากโรคซึมเศร้า ซึ่งผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายถึง 1.7 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเสี่ยงต่อการฆ่า
ตัวตายมากที่สุด การป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายควรเริ่มต้นจากครอบครัว ซึ่งเป็นพลังสำคัญและอยู่ใกล้ปัญหาที่สุด โดยบุคคลในครอบครัวต้องร่วมมือในการสร้างความรักและความเข้าใจ โดยใช้ 3 ส. ป้องกันการฆ่าตัวตาย คือ สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สื่อสารที่ดีต่อกัน และใส่ใจรับฟัง นอกจากนี้ สังคมและประชาชนต้องร่วมช่วยกันเฝ้าระวังปัญหาโดยการสังเกตสัญญาณเตือนของผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือพฤติกรรม หรือจากสัญญาณเตือนโพสต์ลงในโซเซียล ต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือดูแล หรือให้คำแนะนำอย่างจริงใจก็จะสามารถยับยั้งการฆ่าตัวตายได้ในระดับหนึ่ง

การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในมิติแรงงาน
 
ในปี 2561 World Economic Forum ได้เผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 พบว่า ภาพรวมประเทศไทยถูกจัดลำดับความสามารถทางการแข่งขันอยู่อันดับที่ 38 จาก 140 ประเทศทั่วโลก โดยปรับตัวดีขึ้นจากอันดับที่ 40 จาก 135 ประเทศ ในปี 2560 โดยเฉพาะมิติทางด้านกรอบการบริหารเชิงสถาบัน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการปรับตัวทางเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างไรก็ตาม มิติทางด้านแรงงานกลับมีคะแนนและอันดับลดลงอย่างชัดเจน โดยลดลงมาอยู่อันดับที่ 44 จากอันดับที่ 38 ในปี 2560 และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งด้านที่ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด (อันดับโลกต่ำกว่า 80) ได้แก่ (1) ต้นทุนในการออกจากงาน เพราะค่าเฉลี่ยของการจ่ายเงินชดเชยการให้ออกจากงานของไทยค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ (2) ความยืดหยุ่นในการกำหนดค่าจ้างแรงงาน ที่แต่ละบริษัทค่อนข้างมีอิสระในการกำหนดค่าจ้างได้เอง แต่ต้องอิงกับอัตราค่าจ้างที่ประกาศโดยภาครัฐ และ (3) สิทธิแรงงาน พิจารณาจากเสรีภาพของแรงงาน สิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน การดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงาน และสิทธิในการประท้วงหรือนัดหยุดงานเป็นสำคัญ แม้ว่าบทบัญญัติทางกฎหมายจะครอบคลุมระยะเวลา ค่าตอบแทน และค่าชดเชยในการทำงาน แต่ยังขาดประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม การบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในสามด้านดังกล่าวอาจมีข้อจำกัด เนื่องจากเชื่อมโยงกับประเด็นการคุ้มครองและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน อย่างไรก็ตาม สามารถทำได้โดยการยกระดับขีดความสามารถทางด้านแรงงานในมิติอื่นๆ ให้ดีขึ้น เช่น การเสริมสร้างและขยายการเข้าถึงมาตรการด้านแรงงานเชิงรุก การกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด การให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพแรงงาน การเพิ่มบทบาทภาครัฐในฐานะสื่อกลางระหว่างผู้ประกอบการและแรงงานเพื่อจับคู่ตำแหน่ง และการเตรียมความพร้อมแรงงานให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก เป็นต้น

บทความเรื่อง "คนรุ่นใหม่กับการสร้างประชากรที่มีคุณภาพ”

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย จากจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่วัยเด็กและ
วัยแรงงานลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะเจริญพันธุ์ของไทยลดลงอย่างรวดเร็ว ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศในเอเชีย และคาดว่าจะเหลือเพียง 1.3 ในปี 2583 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่ส่งผลต่อค่านิยมและทัศนคติการสร้างครอบครัวและการมีบุตรของคนรุ่นใหม่ อันเป็นผลให้คนรุ่นใหม่เลือกที่จะอยู่เป็นโสด หรือเลื่อนการแต่งงานและการมีบุตรออกไป โดยเฉพาะกลุ่มเจนเนอเรชั่นวาย ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของกลุ่มวัยเจริญพันธุ์ 

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ได้ทำการสำรวจทัศนคติและปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อการมีบุตรในกลุ่มประชากรเจนเนอเรชั่นวาย (ผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2523–2543) จำนวน 3,734 ตัวอย่าง มีครอบครัวร้อยละ 44 โสดร้อยละ 56 เพื่อเข้าใจทัศนคติ ความต้องการและเงื่อนไขที่จะจูงใจให้คนรุ่นใหม่สร้างครอบครัว จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้การออกแบบนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ โดยมีข้อค้นพบสำคัญดังนี้ 

1. จากกลุ่มตัวอย่าง Gen-Y ประมาณร้อยละ 29.4 เติบโตมาแบบไม่พร้อมหน้าพ่อ แม่ บุตร กลุ่มมีครอบครัวร้อยละ 69.9 ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันก่อนตัดสินใจแต่งงานเฉลี่ย 2 ปี และมีทัศนคติในแนวทางการสร้างครอบครัวจะให้ความสำคัญในเรื่องข้อผูกมัดทางกฎหมายและพิธีการลดลง โดยร้อยละ 42.9 ไม่ให้ความสำคัญกับการจดทะเบียน ร้อยละ 27.0 ไม่ให้ความสำคัญกับการแต่งงาน 

2. ทัศนคติในการมีครอบครัว ร้อยละ 76.4 ของ Gen-Y เห็นด้วยกับการมีครอบครัว เนื่องจากช่วยให้มีคนช่วยคิด ดูแลกันในยามเจ็บป่วย ช่วยเติมเต็มให้ชีวิตสมบูรณ์ และช่วยลดพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์แบบเปลี่ยนคู่นอน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีทัศนคติเชิงบวกต่อการมีครอบครัว แต่ยังมี Gen-Y ร้อยละ 34.9 เห็นว่า การมีครอบครัวส่งผลให้ต้องสูญเสียความเป็นตัวเอง/ความเป็นส่วนตัว และกลุ่มโสดร้อยละ 18.0 ไม่ต้องการมีครอบครัว เพราะต้องการอิสระในการใช้ชีวิต ให้ความสำคัญกับการทำงานมากกว่าการมีครอบครัว/บุตร ไม่ต้องการผูกมัดกับใคร และมีชีวิตดีอยู่แล้วไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง

3. ทัศนคติต่อการมีบุตร ร้อยละ 64.3 ของ Gen-Y เห็นด้วยกับการมีบุตร เนื่องจากบุตรเป็นสายสัมพันธ์สำคัญที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสามี ภรรยา ช่วยมีคนดูแลยามบั้นปลายชีวิต ช่วยสืบวงศ์ตระกูลและทำให้ชีวิตมีเป้าหมายชัดเจน สำหรับ Gen-Y ที่ยังไม่มีบุตรและไม่ต้องการมีบุตรมีร้อยละ 20.5 โดยมีเหตุผลคือ ต้องการเป็นอิสระในการใช้ชีวิต ให้ความสำคัญกับการทำงานมากกว่าการมีบุตร พอใจชีวิตปัจจุบัน และมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

4. การประเมินความพึงพอใจต่อการมีบุตร พบว่า กลุ่มมีครอบครัวมีทัศนคติต่อการมีบุตรดีกว่ากลุ่มที่ไม่มีครอบครัว โดยกลุ่มมีครอบครัวทั้งที่มีบุตรและยังไม่มีบุตร มองการมีบุตรทำให้ความสมดุลในชีวิต และความสุขโดยรวมเพิ่มมากขึ้น ขณะที่โอกาสได้ทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่วนกลุ่มไม่มีครอบครัวประเมินการมีบุตรทำให้ความสมดุลในชีวิต และความสุขไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่โอกาส
ที่จะได้ทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

5. การตัดสินใจมีบุตรขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัยสำคัญ คือ เป็นความต้องการของคู่สมรส มีคนช่วยเลี้ยงดู
ที่ไว้ใจได้ มีสถานศึกษาที่มีมาตรฐานใกล้บ้าน และสามารถทำงานหารายได้ที่บ้าน สำหรับเงื่อนไขและมาตรการจูงใจให้มีบุตรกระจายไปในหลายมาตรการ ชี้ให้เห็นว่าการตัดสินใจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบกัน โดยมาตรการที่มีน้ำหนักมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ภาครัฐให้เงินก้อนตั้งต้นเพื่อช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรเกิดใหม่ มาตรการลดหย่อนภาษี (ค่าเลี้ยงดูบุตร) และการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ ได้แก่ การลดหย่อนภาษีการเลี้ยงดูบุตร ค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตร การให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
–3 ปี รายละ 600 บาทต่อเดือน การพัฒนาและจัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การสนับสนุนให้สถานประกอบการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็ก การให้สิทธิในการลาคลอด และการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มประชากรเป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากปัจจัยการตัดสินใจมีบุตรขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ขณะที่เงื่อนไขการจูงใจให้มีบุตรของรัฐยังไม่เพียงพอต่อการจูงใจให้มีบุตร ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ในต่างประเทศที่มาตรการต่างๆ ไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้ ดังนั้น การส่งเสริมการเกิดจึงควรมุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพ โดยมีแนวทางดังนี้ 

1. การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับคุณค่าของการมีบุตรและความสุขที่เกิดขึ้นจากการมีครอบครัว ตลอดจนการให้ความรู้และส่งเสริมการวางแผนครอบครัว เพื่อให้รู้จักประเมินวางแผนครอบครัวและแผนชีวิตเพื่อให้มีบุตรในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้สามารถทำตามเป้าหมายชีวิต และส่งผลดีต่อการดูแลและพัฒนาให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ 

2. การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีบุตรและเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ อาทิ การส่งเสริมความเสมอภาคด้านหญิงชายในการร่วมดูแลบุตรและครอบครัว การมีมาตรการไม่ลดทอนความก้าวหน้าในการทำงานของสตรีมีบุตร 

3. การลดภาระค่าใช้จ่ายและให้สิทธิประโยชน์ครอบครัวที่มีบุตรเพื่อสนับสนุนให้สามารถเลี้ยงบุตรได้อย่างมีคุณภาพ โดยการอุดหนุนช่วยเหลือทางการเงินที่มีเงื่อนไขเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพของบุตร การให้สิทธิพิเศษด้านที่อยู่อาศัยโดยการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้มีบุตร และการจัดตั้งกองทุนสำหรับแบ่งเบาภาระในดูแลครอบครัวโดยสมาชิกจ่ายสมทบและรัฐร่วมสมทบ 

4. การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย โดยการเตรียมประชากรตั้งแต่ปฐมวัย การพัฒนาคุณภาพบริการการศึกษาให้ได้มาตรฐานเพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานให้มีศักยภาพ และการมีทักษะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตลอดจนการอุดหนุนและช่วยเหลือทางการเงินแก่ครอบครัวยากจนที่มีบุตร 

ข่าว : สำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี , อมรเทพ  ศรีประเสริฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์