ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๔ แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ณ เมืองมะละกา  รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย
วันที่ 2 ต.ค. 2561
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ของไทยได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 24  แผนงาน IMT-GT ณ เมืองมะละกา รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย โดยมี ดาโต๊ะ ซรี โมฮาเหม็ด อัสมิน บิน อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเศรษฐกิจของมาเลเซีย เป็นประธานการประชุม นายดาร์มิน นาซูติออน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานกิจการเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ร่วมด้วย ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายชรัส บุญณสะ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย นายดนัย มู่สา รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย รองเลขาธิการอาเซียน และ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานความร่วมมืออนุภูมิภาค แผนงาน IMT-GT  

ที่ประชุมฯ รับรองแถลงการณ์ร่วมผลการประชุมฯ โดยมีสาระสำคัญคือ เป็นการชื่นชมความก้าวหน้าในการดำเนินงานในรอบปี 2560-2561 ตลอดจนการยืนยันการขับเคลื่อนตามแผนดำเนินงานระยะห้าปี ปี 2560-2564 (Implementation Blueprint: IB 2017-2021) ต่อไป พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ มีผลอย่างเป็นรูปธรรมตามกรอบระยะเวลา และเพื่อให้สามารถนำเสนอความก้าวหน้าต่อผู้นำในการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 12 แผนงาน IMT-GT ในเดือนมิถุนายน 2562 ณ กรุงเทพมหานคร 

ที่ประชุมฯ  ยังได้ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาความร่วมมือทุกด้านของแผนงานฯ โดยมีความคืบหน้าสำคัญ 3 ประการ ดังนี้ 1) รับทราบรายงานความคืบหน้าโครงการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects) มูลค่ารวม 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนในอนุภูมิภาค  2) รับทราบความคืบหน้าของพิธีสารแก้ไขบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ว่าด้วยการขยายเส้นทางบิน ที่ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จและจะนำไปสู่การลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสามประเทศในปี 2561 และ 3) รับทราบความคืบหน้าการจัดทำกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Framework: SUDF) เพื่อยกระดับการพัฒนาเมืองสีเขียวไปสู่พื้นที่เมืองอื่น ๆ ของแผนงาน IMT-GT โดยปัจจุบันได้ดำเนินการยกร่าง SUDF แล้วเสร็จ และร่างฉบับสุดท้ายของ SUDF จะนำเสนอต่อที่ประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 12 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี 2562    

นอกจากนี้  รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของ 3 ประเทศเห็นพ้องร่วมกันว่าจะต้องทบทวนแผนการดำเนินงานระยะกลางของ IB 2017-2021 ในปี 2563 เพื่อให้แผนงานความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคสามารถปรับตัวและรับมือกับโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 โดยให้ความสำคัญกับการปรับกิจกรรมเศรษฐกิจตามแนวระเบียงใหม่ ผลักดันการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษของสามประเทศให้พัฒนาไปสู่การเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าอย่างแท้จริง และการขยายผลการดำเนินงานเมืองสีเขียวรวมไปถึงการส่งเสริมการขนส่งสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น 

ในการผลักดันให้การดำเนินงานภายใต้แผนงาน IMT-GT ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และได้รับประโยชน์จากการลงทุนด้านกายภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง นั้น รัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของไทย ได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมให้เร่งดำเนินการให้ข้อตกลงด้านกฎ ระเบียบ ได้บรรลุตามแผนดำเนินการ รวมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมเพื่อผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมของอนุภูมิภาค IMT-GT ใน 7  เรื่อง ดังนี้

1) เสนอให้จัดลำดับความสำคัญโครงการในแต่ละแนวระเบียงเศรษฐกิจตามมิติการเชื่อมโยงที่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับการปรับบทบาทของแนวระเบียงเศรษฐกิจทั้งห้าและแนวระเบียงเศรษฐกิจที่หกที่ฝ่ายไทยเสนอเพิ่มเติม โดยเชื่อมโยงเมืองต้นแบบหนองจิก เบตง สุไหงโกลก กับ รัฐเประและรัฐกลันตันของมาเลเซีย รวมทั้งจังหวัดสุมาตราใต้ของอินโดนีเซีย เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างแนวระเบียงเศรษฐกิจตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในภูมิภาคและโลก นอกจากนี้ ยังได้เสนอว่าไทยมีแผนที่จะส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนมากขึ้น 

2) เสนอให้เตรียมการรับมือผลกระทบที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 อย่างเป็นรูปธรรม โดยเสนอให้ยกระดับคณะทำงานย่อยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ภายใต้คณะทำงานการเชื่อมโยงด้านการขนส่งและไอซีทีขึ้นเป็นคณะทำงานด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะเดียวกันต้องเร่งเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นในสาขาการแปรรูปทางการเกษตรและสินค้าและบริการฮาลาล     

3) จัดทำความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนการเร่งรัดบูรณาการอย่างเหมาะสมในการเชื่อมโยงการผ่านแดนที่มีอุปสรรค เช่น การเชื่อมโยงระหว่างด่านสะเดาแห่งใหม่-ด่านบูกิตกายูฮิตัม โดยเพิ่มจุดผ่านแดนและแนวถนนเชื่อมโยงใหม่

4) เร่งรัดความร่วมมือในอนุภูมิภาคที่ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่ออนุภูมิภาคอย่างรวดเร็วบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวจุดหมายเดียว การยกระดับมาตรฐานฮาลาลที่เท่าเทียมกันเพื่อรองรับการรับรองตรามาตรฐานฮาลาลร่วมกัน

5) พัฒนาศักยภาพบุคลากรและแรงงานในพื้นที่เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตของ IMT-GT ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 

6) การขยายความร่วมมือใน IMT-GT กับหุ้นส่วนการพัฒนาที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาเมืองสีเขียว เมืองน่าอยู่ และเมืองอัจฉริยะ

7) การเตรียมการขับเคลื่อน IMT-GT สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยขยายการจัดตั้งเมืองสีเขียวอย่างแพร่หลายในพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อเป็นแบบอย่างในการขยายตัวต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ

ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 12 แผนงาน IMT-GT (12th IMT-GT Summit) และการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 25 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนงาน IMT-GT (25th IMT-GT Ministerial Meeting and Related Meetings) ภายในปี 2562 

*************************
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

หมายเหตุ: ท่านที่มีความประสงค์จะรับทราบแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย
อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nesdb.go.th 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์