ข่าวสาร/กิจกรรม
|
การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) อย่างยั่งยืน
วันที่ 14 ก.ย. 2561
|
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเรื่อง การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) อย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุม 521 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการฯ นายเอนก มีมงคล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน นางสาวสุนิสา บุณโยภาส ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่ คณะเจ้าหน้าที่ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมประชุม
ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างรายละเอียดของรูปแบบการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชุมพร–ระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี–นครศรีธรรมราช และแผนการดำเนินงานจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562 – 2565) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน SEC ระยะแรกให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยให้หน่วยงานจัดทำแผนงาน/โครงการเสนอ สศช. ภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อประมวลจัดทำแผนปฏิบัติการเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนภายในเดือนพฤศจิกายน 2561
การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) อย่างยั่งยืนมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่และทางออกทางทะเลของภาคใต้ตอนบน โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม และความได้เปรียบทางกายภาพและที่ตั้งของพื้นที่ รวมทั้งอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 เห็นชอบในหลักการของกรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวตามที่ สศช. เสนอ โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเร่งดำเนินการตามแผนงานในเบื้องต้น และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป
สำหรับร่างรายละเอียดของรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ SEC (จังหวัดชุมพร–ระนอง และพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช) ตามกรอบแนวทางการพัฒนา ประกอบด้วย (1) การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก (Western Gateway) ให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายและใช้ประโยชน์ในการเป็นประตูส่งออกสินค้าฝั่งตะวันตกเพื่อเชื่อมโยงกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC (2) การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน (Royal Coast & Andaman Route) พัฒนาการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ฝั่งอันดามันต่อเนื่องไปจนถึงฝั่งอ่าวไทยตอนบนบริเวณหัวหิน ชะอำ ให้เป็นแนวการท่องเที่ยวชั้นนำแห่งใหม่ และพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ (3) การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง (Bio-Based & Processed Agricultural Products) จากการใช้ทรัพยากรการผลิตทั้งในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการแปรรูปการเกษตรและการประมงในภาคใต้ และ (4) การอนุรักษ์ทรัพยากรและวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ รวมทั้งเมืองน่าอยู่ (Green, Culture & Livable Cities)
ข่าว : พุทธิดา เชี่ยวชาญพานิชย์
ภาพ : อมรเทพ ศรีประเสริฐ
|