ข่าวสาร/กิจกรรม
สรุปผลการประชุมหารือระหว่างประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะกับ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ ครั้งที่ 1/2561
วันที่ 17 พ.ค. 2561
วันนี้ รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้เป็นประธานการประชุมหารือระหว่างประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะกับประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ เพื่อร่วมหารือและกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไปให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด โดยที่ประชุมได้รับทราบและหารือวาระที่สำคัญดังนี้

ที่ประชุมได้รับทราบการประกาศใช้แผนการปฏิรูปประเทศทั้ง ๑๑ ด้าน ซึ่งได้มีการประกาศใช้ใน
ราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๑ รวมทั้งรับทราบมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของการดำเนินการรองรับการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศของหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง ๑๑ คณะ 

ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการจัดทำร่างระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสำนักงานฯ ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และของคณะกรรมการปฏิรูป ได้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๑ ที่เห็นชอบในหลักการแนวทางการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศตามแล้ว โดยหลักการและร่างระเบียบฯ ยึดตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐ และหลักการตามนัยของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๑ ที่ให้มุ่งเน้นให้มีกลไกและวิธีการประเมินที่สามารถประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรม มุ่งผลสัมฤทธิ์ และไม่เป็นภาระของหน่วยงาน โดยสำนักงานฯ ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อปรับปรุงร่างระเบียบฯ ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานฯ จะนำเสนอร่างระเบียบฯ ต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการปฏิรูปประเทศจำเป็นต้องเน้นย้ำบทบาทของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมการติดตามประเมินผล โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันให้การปฏิรูปประเทศดำเนินการได้สำเร็จตามที่กำหนดไว้ ซึ่งสำนักงานฯ จะนำข้อเสนอแนะจากที่ประชุมไปประกอบการปรับปรุงระบบสารสนเทศที่ใช้ในการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ (Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform: eMENSCR ) ให้มีความสมบูรณ์ต่อไป 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบกรอบแนวทางการสร้างการรับรู้และขยายผลหุ้นส่วนการพัฒนาร่างยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือ ๔ รู้ ได้แก่ รู้จัก สร้างการรับรู้ รู้จำ สร้างการจดจำ รู้จริง สามารถถ่ายทอดต่อได้วงกว้าง และ รู้แจ้ง เข้ามาเป็นหุ้นส่วนการขับเคลื่อนต่อไป โดยสำนักงานฯ มีกำหนดการจัดงานมหกรรม Open House ในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ ณ บริเวณลานเซนทรัลคอร์ด ห้างสรรพสินค้าเซนทรัลเวิร์ด เพื่อเปิดตัวและปลุกกระแสการปฏิรูปประเทศให้กับประชาชนและเยาวชนได้รับรู้ถึงแผนปฏิรูปด้านต่าง ๆ โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล) เป็นประธานเปิดงาน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานตลอดทั้งวันประมาณ ๑,๐๐๐ คน 

ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งรับทราบความสอดคล้องของประเด็นการพัฒนาระหว่างร่างยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการเตรียมการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละด้าน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการจัดทำแผนแม่บทฯ ทั้งในส่วนหลักเกณฑ์และกรอบระยะเวลาการดำเนินการ ขั้นตอนการเสนออนุมัติร่างแผนแม่บทฯ และรูปแบบและเค้าโครงของร่างแผนแม่บทฯ ซึ่งจะช่วยให้การเตรียมการจัดทำแผนแม่บทของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยแผนแม่บทจะมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ๒๐ ปี และแบ่งช่วงระยะเวลาการพัฒนาตามแผนแม่บทเป็น ๒ ช่วง ช่วงละ ๑๐ ปี ควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดทำ

ที่ประชุมได้รับทราบกลไกการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งประกอบด้วย ที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หน่วยงานราชการ ได้แก่ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการกลาง และคณะทำงานพิเศษภายในสำนักปลัดกระทรวง ทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายในกระทรวง รวมทั้ง กลุ่ม ป.ย.ป. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในของแต่ละกระทรวง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานพิเศษดังกล่าว 

ที่ประชุมได้หารือแนวทางการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศในระยะต่อไป ซึ่งจะเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจะดำเนินการผลักดันประเด็นปฏิรูปสำคัญและเร่งด่วนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งได้มีการจัดลำดับความสำคัญตามจำเป็นเร่งด่วนและการจัดกลุ่มการสร้างการรับรู้ (Theme) ไว้แล้ว ประกอบด้วย ๔ กลุ่มลำดับความสำคัญ ได้แก่ ได้แก่ (๑) กิจกรรม/โครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันที (Quick-win) คือ กิจกรรม/โครงการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ภายใน ๒-๓ เดือน ประมาณ ๓๐ กิจกรรม/โครงการ เช่น ป่าชุมชน ปรับปรุงระบบอาชีวศึกษา จัดให้มีทนายความทุกสถานีตำรวจ พลังงานโปร่งใส หมายเลขฉุกเฉินเบอร์เดียว เป็นต้น (๒) กิจกรรม/โครงการปฏิรูปที่สำคัญ (Flagship) คือ กิจกรรม/โครงการที่ส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศ รวมประมาณ ๑๑๐ กิจกรรม/โครงการ (๓) กิจกรรมตามแผนการปฏิรูปประเทศอื่น ๆ กิจกรรม/โครงการนอกเหนือจากข้างต้น โดยกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ อยู่ระหว่างการจัดทำความสอดคล้องและเชื่อมโยงระหว่างการดำเนินงานของหน่วยงานในช่วงที่ผ่านมาและแผนการดำเนินงานของหน่วยงานในระยะ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๖๕) กับแผนการปฏิรูปประเทศ และส่งกลับให้ สศช. ภายใน ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๑ และ (๔) กฎหมายที่ต้องจัดทำใหม่ ประมาณ ๘๐ เรื่อง และ ๖ กลุ่มการสร้างการรับรู้ ได้แก่ (๑) แก้จน สร้างอนาคตคนไทย เพื่อปากท้องและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (๒) แก้เหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียม (๓) แก้โกง สร้างความโปร่งใส (๔) การมีส่วนร่วมในการปกครองในระบบประชาธิปไตยฯ (๕) เปลี่ยนราชการเพื่อประชาชน และ (๖) การปฏิรูปเร่งด่วนอื่น ๆ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ จะเป็นผู้กำกับการดำเนินการตามประเด็นปฏิรูปที่อยู่ในความรับผิดชอบ และหากประสบอุปสรรคในการดำเนินงาน สามารถแจ้งต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อดำเนินการประสานและขจัดอุปสรรคดังกล่าวต่อไป 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์