ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2561
วันที่ 20 เม.ย. 2561
วันนี้ (20 เมษายน 2561) พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2561 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาวาระที่สำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมได้รับทราบ การประกาศใช้แผนการปฏิรูปประเทศและแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมาย ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ โดยจะเร่งดำเนินโครงการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและสามารถทำได้ทันที (Quick Win) ประมาณ 30 เรื่อง การปรับแก้หรือตรากฎหมายใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ประมาณ 80 ฉบับ และโครงการสำคัญตามแผนการปฏิรูปประเทศ (Flagship) ประมาณ 110 เรื่อง นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบกรอบแนวทางการสร้างการรับรู้และขยายผลหุ้นส่วนการพัฒนาร่างยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือ 4 รู้ ได้แก่ รู้จัก สร้างการรับรู้ รู้จำ สร้างการจดจำ รู้จริง สามารถถ่ายทอดต่อได้วงกว้าง และรู้แจ้ง เข้ามาเป็นหุ้นส่วนการขับเคลื่อนต่อไป โดยที่ประชุมเน้นย้ำให้สร้างการรับรู้และขยายผลให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในทุกประเภท ระดับ พื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งร่างแผนฯ มีวัตถุประสงค์รวม ได้แก่ (1) ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (2) ยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา (3) มุ่งความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ (4) ปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร เพิ่มความคล่องตัวในการรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา และสร้างเสริมธรรมาภิบาล 

สำหรับประเด็นการปฏิรูปมี 6 ประเด็น ได้แก่ (1) การให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาก่อนวัยเรียน (2) การจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครู (3) กลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ระบบค่าตอบแทนและกลไกระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู (4) การปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด (5) การปรับโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และ (6) การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ ผ่านการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ โดยที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการอิสระฯ ให้ความสำคัญกับการเร่งดำเนินการเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ก่อน เช่น การพัฒนาทักษะการสอนของครู และการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ คุณธรรม จริยธรรม และการค้นหาศักยภาพเฉพาะของผู้เรียน เป็นต้น ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสระฯ คาดว่าจะเสนอแผนฯ ได้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2561

ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการการจัดทำ รูปแบบ และเค้าโครงของแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยเห็นควรให้แผนแม่บทมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี สามารถแบ่งช่วงระยะเวลาการพัฒนาตามแผนแม่บทเป็น 2 ช่วง ๆ ละ 10 ปี และควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งให้ระบุแผนงาน/โครงการ/การดำเนินการที่เป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผนแม่บท ทั้งนี้ ไม่ต้องระบุงบประมาณของแผนงาน/โครงการ/การดำเนินการต่างๆ ที่ปรากฏในแผนแม่บท ยกเว้นในเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผนแม่บท ให้มีการระบุกรอบงบประมาณเบื้องต้น และได้มอบหมายให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะใช้ในการเตรียมการจัดทำแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้านต่อไป

ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแนวทางการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ โดยเน้นย้ำให้กลไกและวิธีการประเมินสามารถประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่เป็นภาระของหน่วยงานมากจนเกินไป และมอบหมายให้ สศช. หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อปรับปรุงร่างระเบียบฯ ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนการนำเสนอ ครม. พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ที่ประชุมได้พิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ และ สศช. โดยยุทธศาสตร์ชาติมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศ คือ การที่ประเทศชาติมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข มีการยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ มีการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม ซึ่ง ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ โดยแต่ละยุทธศาสตร์มีเป้าหมายและประเด็นการพัฒนา ดังนี้ 

1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ คือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข โดยเน้นการบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ สังคม ชุมชน ไปจนถึงระดับความมั่นคงของมนุษย์ และทุกมิติ ทั้งมิติทางด้านการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาหาร น้ำ ไปจนถึงมิติทางพลังงาน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคน เครื่องมือ เทคโนโลยี และระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้มีความพร้อมสามารถรับมือกับภัยคุกคามและภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ และทุกระดับความรุนแรง ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้กลไกการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการทั้งกับส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาสังคม และองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศทั่วโลก บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล เพื่อมุ่งที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการดำเนินการของยุทธศาสตร์ชาติด้านอื่นๆ ตลอดถึงการบริหารประเทศของรัฐบาล ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ตามทิศทางและเป้าหมายที่กำหนด

2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อมุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติ บนพื้นฐานแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ (1) "ต่อยอดอดีต” โดยมองกลับไปที่รากเหง้าทางเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และจุดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย รวมทั้งความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศในด้านอื่น ๆ นำมาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ (2) "ปรับปัจจุบัน” เพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้งโครงข่ายระบบคมนาคมและขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล และการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอนาคต และ (3) "สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” ด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาคนรุ่นใหม่ รวมถึงปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ผสมผสานกับยุทธศาสตร์ที่รองรับอนาคต บนพื้นฐานของการต่อยอดอดีตและปรับปัจจุบัน พร้อมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ จะทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก ควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้และการกินดีอยู่ดี รวมถึงการเพิ่มขึ้นของคนชั้นกลางและลดความเหลื่อมล้ำในประเทศได้ในคราวเดียวกัน

3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ โดยคนไทยมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มัธยัสถ์ อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย รักษาศีลธรรม และเป็นพลเมืองดีของชาติ มีหลักคิดที่ถูกต้อง  มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 และอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น มีนิสัยรักการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สู่การเป็นคนไทยที่มีทักษะสูง เป็นนวัตกร นักคิด ผู้ประกอบการ เกษตรกรยุคใหม่และอื่น ๆ โดยมีสัมมาชีพตามความถนัดของตนเอง 

4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญที่ให้ความสำคัญการดึงเอาพลังของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อน โดยการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนในการร่วมคิดร่วมทำเพื่อส่วนรวม การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบไปสู่กลไกบริหารราชการแผ่นดินในระดับท้องถิ่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเอง และการเตรียมความพร้อมของประชากรไทยทั้งในมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ สามารถพึ่งตนเองและทำประโยชน์แก่ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้นานที่สุด ขณะที่รัฐต้องให้หลักประกันการเข้าถึงบริการและสวัสดิการที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกันทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างบูรณาการ โดยเป็นการดำเนินการบนพื้นฐานความเชื่อในการเติบโตร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลทั้ง 3 ด้าน ไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไปอย่างแท้จริง โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการกำหนดกลยุทธ์และแผนงาน และการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในแบบทางตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม 

6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐที่ยึดหลัก "ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม” โดยภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาทภารกิจ และแยกแยะบทบาทหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการกำกับหรือในการให้บริการในระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขัน มีขีดสมรรถนะสูง ยึดหลักธรรมภิบาล ปรับวัฒนธรรมการทำงานให้มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม มีความทันสมัย และพร้อมที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีขอมูลขนาดใหญ่ และระบบการทำงานที่เป็นดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า และปฏิบัติงานเทียบได้กับมาตรฐานสากล รวมทั้งมีลักษณะเปิดกว้าง เชื่อมโยงถึงกันและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต ความมัธยัสถ์ และสร้างจิตสำนึกในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง นอกจากนั้น กฎหมายต้องมีความชัดเจน มีเพียงเท่าที่จำเป็น มีความทันสมัย มีความเป็นสากล มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและเอื้อต่อการพัฒนา โดยกระบวนการยุติธรรมมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ การอำนวยความยุติธรรมตามหลักนิติธรรม

โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการร่างยุทธศาสตร์ชาติ และเห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงในประเด็น ได้แก่ระดับรายละเอียดของเนื้อหาในยุทธศาสตร์ชาติ ความแตกต่างและความทับซ้อนกันระหว่างยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ความเหมาะสมของตัวชี้วัดรายยุทธศาสตร์ การใช้คำศัพท์ที่สอดคล้องกันและเข้าใจง่าย โดยที่ประชุมมอบหมายให้ สศช. พิจารณาปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ชาติตามความเห็นของคณะกรรมการฯ และนำเสนอประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบในนามคณะกรรมการฯ ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาให้ข้อคิดเห็นต่อผลการดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) โดยมีความเห็นว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ควรให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนและประเทศ ใน 6 เรื่องสำคัญตามที่ได้มีการสั่งการในที่ประชุม ครม. ด้วยแล้ว ได้แก่ (1) โครงสร้างองค์กรและการถ่ายโอนภารกิจบางส่วน (2) การปรับปรุงด้านการสอบสวนเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น (3) ระบบแต่งตั้งโยกย้าย และการร้องเรียนที่เป็นธรรม (4) ความพร้อมด้านวัสดุ อุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน (5) มาตรฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ และ (6) ระบบสวัสดิการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการนี้ ได้มอบหมายคณะกรรมการพิเศษพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการดำเนินการต่อไป

ข่าว : ปุณณลักขิ์ สุรัสวดี
ภาพ : อมรเทพ  ศรีประเสริฐ / สำนักนายกรัฐมนตรี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์