ข่าวสาร
ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช.และสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจ มาเลเซีย (Economic Planning Unit: EPU) ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียภายใต้แผนงาน JDS
วันที่ 20 มี.ค. 2561

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมระดับผู้ประสานงานโครงการของแผนงานภายใต้คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์ร่วมสำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 4 (The 4th Project Coordinators’ Meeting of the Thailand-Malaysia Committee on Joint Development Strategy for Border Areas: JDS) ร่วมกับ H.E.  Dato' Saiful Anuar B. Lebal Hussen รองเลขาธิการสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจ มาเลเซีย (Economic Planning Unit: EPU) ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของฝ่ายไทยและมาเลเซียเข้าร่วมจำนวน 90 ท่าน

ที่ประชุมได้พิจารณาผลสรุปจากที่ประชุมและข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันสองประเทศ จากฝ่ายเลขานุการระดับชาติ และได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการสร้างความร่วมมือโครงการที่อยู่ใน 7 สาขาความร่วมมือภายใต้แผนงาน JDS เพื่อให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาบริเวณพื้นที่ชายแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย โดยมีแนวระเบียงสำคัญ 2 แนว คือ แนวระเบียงสตูล-สงขลา – ปะลิส-เกดะห์  และแนวระเบียงปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส – เปิงกาลันกุโบร์-เประ-กลันตัน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แบ่งการพิจารณาโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบริเวณพื้นที่ชายแดนประเทศไทย-มาเลเซียออกเป็น2 ประเภท ได้แก่ 

1.โครงการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Projects) อาทิ โครงการบูรณาการการพัฒนาระหว่างด่านศุลกากรวังประจัน (จังหวัดสตูล) – ด่านศุลกากรวังเกลียน (รัฐปะลิส) โครงการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางหลวง (สะพานถนน) จังหวัดสตูล - รัฐปะลิส (ตำมะลัง-ปูยู-บูกิตปูเต๊ะ) โครงการการพัฒนาระหว่างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ (จังหวัดสงขลา) – ด่านบูกิตกายูฮิตัม (รัฐเกดะห์) และโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งใหม่ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส – เมืองเปิงกาลันกุโบร์ รัฐกลันตัน รวมทั้งสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่สองที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส – เมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน เป็นต้น

2. โครงการความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ที่ไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐาน (Non-Infrastructure Projects) อาทิ โครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลาและเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส โครงการพัฒนาอุทยานธรณีสตูล (Satun Geo-park) โครงการท่าเรือประมงปัตตานีแห่งใหม่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และโครงการการแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น 

ประธานที่ประชุม ยังได้กล่าวว่าการขับเคลื่อนแผนงาน JDS ในอนาคตจำเป็นต้องคำนึงถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโลกและภูมิภาค และจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ในภาพรวมของทั้งสองประเทศเพื่อยึดโยงสู่ความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งการขับเคลื่อนแผนงาน JDS จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle:  IMT-GT) ซึ่งมีการริเริ่มขับเคลื่อนแนวระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 (จังหวัดปัตตานี- ยะลา-นราธิวาส-รัฐเประ-กลันตัน) 

นอกจากนี้ ประธานและประธานร่วมในที่ประชุมฯ เห็นพ้องว่าควรมีการกำหนดยทธศาสตร์โครงการในกลุ่มเดียวกันอย่างมีการบูรณาการและเสริมสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเริ่มจากการบูรณาการของแต่ละประเทศตามแนวระเบียง

ผลลัพธ์จากการประชุมซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดการขับเคลื่อนโครงการของทั้งสองประเทศประเด็นยุทธศาสตร์ร่วมและแนวทางขับเคลื่อนร่วมกันในอนาคต จะนำไปใช้จัดทำแผนปฏิบัติการ JDS ฉบับที่ 2 ที่จะได้นำเสนอต่อประชุม JDS ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรี ในเดือนพฤษภาคม 2561 เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป   

ข่าว : สำนักงานยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ 
ภาพ : เมฐติญา  วงศ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์