เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รวมทั้งตัวแทนจากภาคประชาชน
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กล่าวเปิดการประชุมโดยเสนอมุมมองใน 3 ส่วน คือ (1) การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา (2) การปฏิรูปเศรษฐกิจกับการวางรากฐานเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริง และ (3) โอกาสและความท้าทายของการปฏิรูปในระยะข้างหน้า
สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาช่วยให้ภาคเอกชนไทยแข็งแกร่งขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นและส่วนใหญ่พ้นความยากจน ช่วยยกระดับประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ผลจากการพัฒนาที่มุ่งเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ ศักยภาพการเติบโตที่ลดลง ปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ปัญหาคอร์รัปชั่น และบริบทสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กติกาและมาตรฐานสากลที่เข้มงวดขึ้น รวมทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะทำให้แรงงานหายากขึ้นและค่าแรงแพงขึ้น
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการฯ ได้กำหนดเป้าหมายหลักของการปฏิรูปให้ประเทศไทยมี "การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง” โดยคำนึงถึงการเพิ่มศักยภาพของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับการกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนแต่ละคน เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแบ่งประเด็นปฏิรูปออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ (1) การเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน (2) การลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้น และ (3) การปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ โดยการปรับกลไกและบทบาทของภาครัฐ
ดังนั้น ภาครัฐต้องปรับบทบาทจากผู้กำกับดูแลมาเป็นผู้สนับสนุนภาคธุรกิจ และปล่อยให้มีการแข่งขันตามระบบตลาดเสรีให้มากขึ้น โดยทิศทางสำคัญคือ มิติแรก ภาครัฐต้องคำนึงถึง "ประสิทธิภาพ” และ "ความยั่งยืน” มากขึ้น โดยเรื่องที่สำคัญคือ การปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มิติที่สอง ต้องโปร่งใส มีการตรวจสอบจากภาคประชาชนได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชั่นที่เป็น "ต้นทุนแฝง” ของภาคเอกชนและประชาชน มิติที่สาม กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจมากขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่การพัฒนามีแนวโน้มกระจุกตัวที่ส่วนกลาง และ มิติที่สี่ ประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างส่วนราชการ และระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน
นอกจากนี้ มีการนำเสนอประเด็นสำคัญในการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ โดยกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง "การลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ประชาชน” ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิต เรื่อง "การปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจ” รวมทั้งนายสว่างธรรม เลาหทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ เรื่อง "การเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน”
ข่าว : ช่อผกา แก้วใหญ่
ภาพ : อมรเทพ ศรีประเสริฐ
|