ข่าวสาร/กิจกรรม
เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นปฏิรูปพลังงาน ครั้งที่ 3
วันที่ 15 ธ.ค. 2560
รับฟังความคิดเห็นปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ครั้งที่ 3 เรื่อง เทคโนโลยี นวัตกรรมพลังงานฯ มุ่งสร้างความตระหนักถึงผลกระทบและเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วนเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (Disruptive Technology) เพื่อให้เกิดการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานจากอุตสาหกรรมใหม่ที่จะส่งเสริมพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เชื่อมั่นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและระบบสำรองไฟฟ้า (Energy Storage) จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ พร้อมทั้งช่วยรับมือแนวโน้มสถานะผู้ใช้เปลี่ยนเป็นผู้ผลิต (Prosumer) ของกิจการไฟฟ้า

วันพุธที่ 13 ธันวาคม 2560 เวลา 13.00 น. ณ ห้องแพลทตินั่มฮอลล์ ชั้น 2 โรงแรมแกรนด์ ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดนครสวรรค์  นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวถึงงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ครั้งที่ 3 ถึงการให้ความสำคัญกับประเด็นการปฏิรูปพลังงาน เรื่อง "เทคโนโลยี นวัตกรรมพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งแวดล้อม” เนื่องมาจากปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตและการใช้พลังงานที่ขาดประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ไม่ได้รับการปรับปรุงหรือลงทุนอย่างเพียงพอเพื่อรองรับเทคโนโลยีหรือการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็นและก่อให้เกิดความสูญเสียในระบบพลังงานของประเทศ 

ขณะที่กลไกการบริหารจัดการ กฎหมาย และระเบียบยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาหรือพร้อมรับความเสี่ยงจากบริบทการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ได้แก่ ผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศและพันธกรณีระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของสังคมเมือง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อันจะนำมาสู่สภาพตลาด รูปแบบธุรกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน อาทิ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบการกักเก็บพลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า ได้ช่วยขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ และจะนำมาสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ (Turning point) ของอุตสาหกรรมพลังงานเช่นที่เกิดขึ้นกับธุรกิจมือถือ กล้อง และทีวีดิจิตัล 

นายกวิน ทังสุพานิช กรรมการและเลขานุการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ผู้รับผิดชอบประเด็นการปฏิรูปประเทศเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมพลังงานฯ เห็นว่าการเตรียมความพร้อมของระบบไฟฟ้าของประเทศควรต้องเริ่มตั้งแต่ปฏิรูปวิธีการจัดทำแผนบริหารจัดการพลังงาน ปรับปรุงวิธีการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) และจำเป็นต้องนำปัจจัยด้านพัฒนาการของเทคโนโลยีและแนวโน้มมาร่วมพิจารณาตั้งแต่การจัดทำแผน โดยพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายระบบส่ง ระบบจำหน่าย และศูนย์ควบคุมโครงข่ายไฟฟ้า ให้เป็นระบบ Smart Grid หรือ Digital Grid นำเทคโนโลยีมาช่วยพยากรณ์และควบคุมสั่งการการผลิตและการใช้ไฟฟ้าอย่าง Real Time และแม่นยำ เพื่อรวบรวมข้อมูลและนำไปวิเคราะห์ นอกจากนี้ ควรนำเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) มาใช้ในระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับโหลดการใช้ไฟฟ้าที่มีความผันผวนและพร้อมรับมือแนวโน้มสถานะผู้ใช้เปลี่ยนเป็นผู้ผลิต (Prosumer) ของกิจการไฟฟ้าได้

อย่างไรก็ตาม แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมพลังงานฯ แล้วในหลายเรื่อง แต่จากการทบทวนผลการดำเนินงานพบว่า การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานยังดำเนินการในลักษณะตั้งรับต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดังกล่าว การกำหนดนโยบายยังขาดการบูรณาการด้านทิศทางและเป้าหมายการลงทุนมีการดำเนินการส่งเสริมการลงทุนในหลายรูปแบบที่อาจไม่สอดคล้องและเป็นเอกภาพกับภาคเอกชนผู้ลงทุน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อกระทบโดยตรงต่อการวางแผนด้านด้านพลังงานเพื่อรองรับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานจึงได้วิเคราะห์ปัญหาและสรุปเป็น (ร่าง) ข้อเสนอการปฏิรูป 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ (1) การปฏิรูปการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาวมีการจัดทำแผนปฏิบัติการที่ครอบคลุมทั้งด้านกฎหมาย นโยบาย มาตรการ โครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเทคโนโลยี  (Reverse Engineering) ที่ชัดเจน พร้อมทั้งปรับปรุงแผนด้านพลังงานและจัดหาพลังงานให้มีความสอดคล้องกัน (2) การปฏิรูปการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน โดยกำหนดกลไกเพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนในรูปแบบคณะกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการลงทุน กำหนดแผนการนำมาใช้ในระบบสายส่งในภาคพลังงาน ภายใน 1 ปี และ (3) การปฏิรูปโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่ง ระยะ 20 ปี โดยกำหนดทิศทางการใช้พลังงานในภาคขนส่งเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบใช้เป็นกรอบในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น นโยบายด้านการเกษตรในส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพ นโยบายด้านอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้เกี่ยวข้อง สามารถจัดหาและบริหารจัดการเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ให้มีปริมาณเพียงพอ มีราคาที่เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานในอนาคต ทั้งนี้ หากมีการขับเคลื่อนและแก้ไขในส่วนที่เป็นประเด็นสำคัญ (Critical issues) ได้ คาดว่าจะช่วยลดความเสี่ยงด้านสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ไม่สมดุลและกำลังการผลิตสำรองที่ไม่เหมาะสม เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบไฟฟ้า และสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เพิ่มมากขึ้น 

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานคลัสเตอร์พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วิทยากรพิเศษในงานสัมมนาฯ กล่าวอย่างมั่นใจว่าการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและระบบสำรองไฟฟ้าเป็นยุทธศาสตร์ประเทศที่สำคัญ โดยหากพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ควบคู่ไปด้วย จะช่วยให้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถชาร์จไฟได้ในที่สาธารณะ ส่งเสริม "พลังงานหมุนเวียน" ลดการพึ่งพาโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิล ช่วยให้แต่ละเมืองลดมลภาวะทางเสียงและปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ขณะที่การส่งเสริมระบบสำรองไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง (Cut Peak) และรองรับยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนระบบสำรองไฟฟ้าอื่นๆ อีกทั้งช่วยสร้างรายได้ และก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ "การจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็น ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนและหน่วยงานของรัฐ ที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อช่วยดำเนินการตามมาตรา 18 (3) แห่งพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับคณะทำงานฯ โดยได้กำหนดจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจำนวนทั้งสิ้น 4 ครั้ง สำหรับครั้งต่อไป คือ ครั้งที่ 4 ประเด็นด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ด้านก๊าซธรรมชาติ และด้านปิโตรเคมี ในวันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ณ โรงแรม โกลเด้น ซิตี้ ระยอง จ.ระยอง จึงอยากเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนมาร่วมแสดงความคิดเห็น” พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานและประธานอนุกรรมการการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนและหน่วยงานของรัฐ กล่าว

สำหรับผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนารับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ www.ptit.org/publichearing หรือส่งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะผ่านอีเมล์ Thaienergyreform2017@gmail.com หรือทางไปรษณีย์ถึง "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน)” เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดกรุงเทพฯ 10100 หรือที่เว็บไซต์ www.nesdb.go.th

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์