ข่าวสาร/กิจกรรม
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เดินหน้าวาง 6 เป้าหมาย 
วันที่ 8 ธ.ค. 2560
มุ่งหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศมุ่งสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปี

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ณ. ห้องประชุม 521 อาคาร 5 ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ธนวัฒน์  จารุพงษ์สกุล ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า  คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ 6 คณะ โดยประกาศลงราชกิจจานุเบกษา มีผลตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา สำหรับคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (คณะที่ 5) มีหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ที่บรรลุวิสัยทัศน์ด้านความมั่นคงและด้านยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้มาจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ประกอบด้วยที่ปรึกษา นายโชติ  ตราชู  และนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ  ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและอดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในส่วนคณะกรรมการ 9 ท่านได้แก่ ศาสตราจารย์ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล (ประธาน) รองศาสตราจารย์ บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย (รองประธาน) ศาสตราจารย์ เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์  รองศาสตราจารย์ พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายสุวัช สิงหพันธุ์ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นางสาวนิศรา การุณอุทัยศิริ และนางสาวลดาวัลย์ คำภา (เลขานุการ) นอกจากนี้ทางคณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ชาติและการมีส่วนร่วมด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมี มล.ปรียพรรณ  ศรีธวัช  เป็นประธานอนุกรรมการฯ และมีการตั้งคณะทางานด้านต่าง ๆ อีก 7 คณะซึ่งมีความหลากหลายทั้งวุฒิการศึกษาและ ความชำนาญ อาชีพ เพศ และอายุ อีกเกือบ 200 ท่าน มาร่วมกันทำงานยกร่างยุทธศาสตร์ชาติและการมีส่วนร่วม ซึ่งต้องทำงานแข่งกับเวลาภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายและต้องเสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาภายใน 120 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 24 มกราคม 2561

ศาสตราจารย์ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในบทเฉพาะกาล มาตรา 28 (4) แห่งพระราชบัญญัติการจัดทายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 จัดทำขึ้นและมีการปรับมาเป็นระยะมาใช้เป็นหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้นำมาใช้เป็นข้อมูลตั้งต้น ภายหลังจากมีการประชุมหารือกันมาระยะหนึ่ง ทำให้สามารถวางยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ออกมาได้ 6 ด้าน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาบนหลักการว่า จะต้องตอบโจทย์การสร้างการเติบโตของประเทศที่มุ่งหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศมุ่งสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปี โดยยุทธศาสตร์ย่อย 6 ด้านและตัวอย่างของเป้าหมาย เพื่อประเทศไทยเป็นต้นแบบการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในอาเซียน มีวิสัยทัศน์  "เติบโต สมดุล ยั่งยืน”  ดังนี้

1. สร้าง การเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว  มีเป้าหมาย เพิ่มพื้นที่ป่าทุกประเภทให้ปกคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 40% (128 ล้านไร่) ของพื้นที่ประเทศ จัดการขยะเป็นศูนย์ ฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองให้ใสสะอาด การผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

2. สร้าง การเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล มีเป้าหมาย เพิ่มรายได้จากเศรษฐกิจภาคทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการกัดเซาะชายฝั่งไม่เกิน 100 กิโลเมตร ของเสียลงทะเลลดลงทั้งน้ำเสีย (50% ได้รับการบำบัดจากปัจจุบัน 15%) และขยะ (ลดลง 30% จากกรณีปกติ และไม่ติด Top 10 ของโลก) มีป่าชายเลนมากกว่า 1.6 ล้านไร่

3. สร้าง สังคมและการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ มีเป้าหมาย ความสูญเสียจากภัยธรรมชาติทางภูมิอากาศลดลงอย่างน้อย 50% สร้างสังคมคาร์บอนต่ำที่ลดปริมาณก๊าชเรือนกระจกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 จากกรณีปกติ ลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4. พัฒนา ความมั่นคงน้ำ พลังงาน และเกษตรอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมาย ระบบจัดการน้ำและควบคุมอุทกภัยที่มีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์ สัดส่วนการใช้และผลิตพลังงานสะอาดไม่ต่ากว่า 20% การเกษตรยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 40% ของพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ สร้างสมดุล การพัฒนาเกษตรอาหาร น้ำ และพลังงาน
5. พัฒนา พื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีเป้าหมาย ผังการใช้ที่ดินตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ สนับสนุนพื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศและกำหนดพื้นที่แนวกันชน (Green Buffer Zone) ที่ชัดเจน การพัฒนาและยกระดับเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วประเทศที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต (Urban and Industrial Transformation)

6. ยกระดับ กระบวนทัศน์และมองอนาคตประเทศ เป้าหมาย มีโครงการปรับกระบวนทัศน์และมองอนาคตประเทศเกิดขึ้น อาทิ โครงการ DELTA VISION ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมและการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมให้มีความชัดเจน

ประชาชนทั่วไป สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทายุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้ทาง www.thailand2580.com หรือผ่านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ข่าว : คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ภาพ : อมรเทพ  ศรีประเศริฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์