ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. แถลงรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 3 ปี 2560
วันที่ 7 ธ.ค. 2560
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสามปี 2560 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญได้แก่ รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น การผิดนัดชำระหนี้ลดลง การเกิดอุบัติเหตุลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การจ้างงานลดลง การว่างงาน
ที่เพิ่มขึ้น การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังและสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลง รวมทั้งการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว โดยมีสาระดังนี้

การจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รายได้และผลิตภาพยังคงขยายตัว
ไตรมาสสามปี 2560 การจ้างงานลดลงร้อยละ 1.6 โดยภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.2 เนื่องจากได้รับผลกระทบอุทกภัยในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เกิดความเสียหายทั้งด้านพืช ประมงและปศุสัตว์ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่การจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลงร้อยละ 1.8 ในสาขาการผลิต การก่อสร้าง การขายส่ง และโรงแรมและภัตตาคาร แม้มูลค่าการผลิตภาคนอกเกษตรยังขยายตัวได้ดี แต่การจ้างงานจะลดลง เนื่องจาก (1) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตและดำเนินธุรกิจ และ (2) การส่งออกที่ขยายตัวดีในกลุ่มที่ใช้ทุนเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ขณะที่การส่งออกในกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นยังขยายตัวช้า อาทิ เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ และสินค้าบางประเภทเป็นการทยอยระบายสินค้าในสต๊อค

อัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อยเท่ากับร้อยละ 1.19 ทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและแรงงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน สำหรับผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาร้อยละ 43.4 และร้อยละ 85 ของคนกลุ่มนี้ใช้เวลาหางานมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน ขณะที่ผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนส่วนใหญ่ร้อยละ 65 เป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมปลายลงมาและหางานมาแล้วไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงที่จะว่างงานก่อนกลุ่มอื่นและจะหางานยากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าสามารถทำงานซ้ำๆ แทนคนได้ ส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เป็นการเพิ่มในภาคเกษตรกรรมร้อยละ 2.0 และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0

ประเด็นด้านแรงงานที่ควรติดตามและให้ความสำคัญในช่วงต่อไป ได้แก่
(1) แนวโน้มการจ้างงานที่มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นภายใต้สถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องและมีการกระจายตัวมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน และการค้าระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ รวมถึงการกระจายการผลิตไปสู่ผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าหรือผลิตรายย่อยมากขึ้น และเกิดการขยายตำแหน่งงาน 

(2) การปรับตัวของภาคเกษตรจากแนวโน้มจำนวนแรงงานลดลง แรงงานภาคเกษตรลดลงต่อเนื่องจากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 42 ของกำลังแรงงาน ในปี 2544 เหลือร้อยละ 31.2 ในปี 2559 ส่วนใหญ่ร้อยละ 47 อายุมากกว่า 50 ปี โดยร้อยละ 72 มีการศึกษาระดับประถมและต่ำกว่า ประกอบกับสภาพการทำงานที่หนักทำให้การทดแทนแรงงานมีน้อย ดังนั้น การปรับตัวของเกษตรกรและแรงงานในภาคเกษตรจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะการเรียนรู้การนำเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อช่วยในการทำงานที่จะลดการใช้แรงงานคนลง ซึ่งในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีหลายอย่างเข้าช่วยในการทำเกษตร อาทิ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการบินฉีดพ่นยาและใส่ปุ๋ย ที่ทำให้ประหยัดแรงงานคน เวลา ปุ๋ยและเคมี รวมถึงเป็นผลดีต่อสุขภาพเกษตรกรในระยะยาว หรือการใช้เทคโนโลยีการพยากรณ์สภาพอากาศที่จะสามารถพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนภายใน 24 ชั่วโมงทำให้เกษตรกรมีการวางแผนการเก็บเกี่ยวเพาะปลูกได้ดีและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

(3) ทักษะแรงงานในตลาดยุคดิจิตอล มีแนวโน้มการนำปัญญาประดิษฐ์ ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และการเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ เข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต มาใช้ในการผลิตและการจัดการมากขึ้น โดยเฉพาะในกิจการขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปสู่ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้โครงสร้างธุรกิจมีรูปแบบการผลิตและบริการที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์และรวบรวมทางสถิติที่มีผลแม่นยำยิ่งขึ้นในธุรกิจการเงินการธนาคารรวมถึงการตลาด การใช้ระบบ Automation ในกระบวนการการผลิต ทำให้บริษัทมีการลดจำนวนแรงงานเหลือเพียงแต่ผู้ควบคุมดูแลเครื่องจักร การเปิดธุรกิจในรูปแบบ E-commerce และธุรกิจบริการในรูปแบบ Online booking and Check-in ที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลต่ออาชีพพนักงานขายและบริการลูกค้าที่ลดลง ขณะเดียวกันความต้องการผู้ดูแลระบบออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้น แรงงานในยุคใหม่จึงจำเป็นต้องมีทักษะสามารถที่ตอบสนองต่องานในรูปแบบใหม่และความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นคุณลักษณะและทักษะที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการทำงานในยุคดิจิตอลได้ อาทิ มีความสนใจใฝ่รู้ทันโลกทันเหตุการณ์ คุ้นเคยหรือใช้เทคโนโลยีเป็น สามารถวิเคราะห์และจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถทำงานหลากหลาย (Multi-Skill) มีทักษะด้านภาษา รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการทำงาน

หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ไตรมาสสองปี 2560 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่าเท่ากับ 11,602,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในอัตราชะลอลง สัดส่วนลดลงเป็นร้อยละ 78.4 ต่อ GDP ในไตรมาสสามปี 2560 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้น สัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.74 อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตลดลง

การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ต้องเฝ้าระวังสุขภาพจิตคนไทยในภาวะน้ำท่วม ในไตรมาสสามปี 2560 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 23.8 โดยผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 15-24 ปี และโรคปอดอักเสบเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย รวมทั้งต้องเฝ้าระวังสุขภาพจิตของคนไทยที่มีแนวโน้มป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาวะน้ำท่วมภาคใต้ กรมสุขภาพจิตได้จัดทีมสุขภาพจิตออกให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัย โดยการใช้ หลัก 3 ส. (สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง) ช่วยปฐมพยาบาลทางใจในเบื้องต้นเพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย

การเร่งส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การเจ็บป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของคนไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การเร่งส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอในทุกกลุ่มวัยเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทำให้มีสุขภาพกายและจิตใจที่ดี จากการสำรวจข้อมูลกิจกรรมทางกายในประเทศไทย พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยประมาณ 1 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ขณะที่ระยะเวลาการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งในแต่ละวันสูงถึงเกือบ 14 ชั่วโมงต่อวันและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่าในวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุเริ่มเกิดความตระหนักถึงภัยคุกคามจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันมามีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ส่วนวัยเด็กและเยาวชนยังมีกิจกรรมทางกายน้อย ทั้งนี้ หลายภาคส่วนได้ดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในชีวิตประจำวันทั้งในสถานศึกษา สถานประกอบการ ชุมชน และบริการสาธารณสุข

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น การบังคับใช้มาตรการด้านภาษีและราคาต้องดำเนินมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยเพื่อลดการบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไตรมาสสามปี 2560 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.2 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิดเป็นร้อยละ 3.4 ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน การบังคับใช้มาตรการด้านภาษีและราคาต้องดำเนินมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ทั้งด้านการตลาด อาทิ การห้ามโฆษณา ห้ามจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และมาตรการการเข้าถึง อาทิ ลดช่องทางจัดจำหน่าย ลดเวลาจัดจำหน่าย จัดโซนนิ่งสถานที่จัดจำหน่าย สถานที่สูบบุหรี่ รวมถึงการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

คดียาเสพติดยังเพิ่มขึ้น แนวนโยบายของรัฐจึงมุ่งทั้งการป้องกันและลดปัญหาเพื่อสร้างสังคมปลอดภัย คดีอาญารวมและคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 9.9 และ 17.8 แต่คดีชีวิตร่างกายและเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ลดลงร้อยละ 10.6 และ 12.6 นโยบายรัฐจึงมุ่งทั้งการป้องกันและลดปัญหาเพื่อสร้างสังคมปลอดภัย เน้นการปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับอาวุธสงคราม ยาเสพติดข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มรายใหญ่ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยง ใช้ธุรกิจบังหน้าในรูปแบบต่างๆ เช่น วงการบันเทิง ขายสินค้าออนไลน์ ทั้งในและนอกประเทศ และในปี 2560 เป็นปีแห่งการปราบปรามยาเสพติด เน้นการปราบปราม ล่อซื้อ ขยายผลจับกุมเครือข่ายยาเสพติด คุมเข้มแนวชายแดนเพื่อสกัดกั้นมิให้ใช้เป็นเส้นทางการนำเข้าและส่งออกสารเสพติด มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการตรวจหายาเสพติด

การเกิดอุบัติเหตุลดลง แต่ยังต้องสร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงและความร้ายแรงของอุบัติเหตุเพื่อการปรับพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนให้ปลอดภัยขึ้น สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกในไตรมาสสามปี 2560 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 10.1 มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 2.7 และ 56.3 ขณะที่มูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 66.7 รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์คิดเป็นร้อยละ 38.5 ของประเภทรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด ทั้งนี้ คนไทยส่วนใหญ่ขาดความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงและความร้ายแรงของอุบัติเหตุจราจรทางบก ทำให้มีพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้รถใช้ถนนอยู่มาก เช่น ด้านความไม่พร้อมของผู้ขับขี่ "เมา” "ง่วง” "ขับไปกินไป” "ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ” "ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด” รวมทั้งการไม่ปฎิบัติตามกฎจราจร มีการตัดหน้าระยะกระชั้นชิด แซงรถอย่างผิดกฎหมาย หรือความไม่พร้อมของรถยนต์ เป็นต้น การรณรงค์สร้างความตระหนักด้านปัญหาความปลอดภัยทางถนนจึงเป็นสิ่งที่ควรจะทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านความเสี่ยงและความร้ายแรงของอุบัติเหตุจราจรทางบกอย่างเข้มข้น ปลูกฝังจิตสำนึกและระเบียบวินัย เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด มีบทลงโทษแรง รวมทั้งการจัดอบรมคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงความร้ายแรง
ของอุบัติเหตุ จะทำให้การลดอุบัติเหตุทางถนนมีประสิทธิผลมากขึ้น

เปิดพื้นที่การเรียนรู้: นวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุ นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อการดูแลผู้สูงอายุมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งพาตนเอง และอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า ภาครัฐและเอกชนจึงมีการคิดนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ "หุ่นยนต์ดินสอ” แจ้งเตือนเรียกแพทย์ฉุกเฉินผ่านจอสัมผัส หรือนวัตกรรมที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ประดิษฐ์เครื่องช่วยเหลือทางการแพทย์จากวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่ รองรับกิจกรรมต่างๆ ในวิถีชีวิตผู้สูงอายุให้มีสุขภาวะที่ดี มีคุณภาพ ไม่มีโรคเรื้อรัง อาทิ สมอไม้คลายเส้น ใช้สำหรับบำบัดและรักษาอาการปวดเมื่อยของร่างกาย ลูกคิดนวดฝ่าเท้า เป็นการผ่อนคลายเส้นแก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานลงเท้า และนวัตกรรมชุมชนที่ออกแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น "โครงการแสนสุขสมาร์ทซิตี้ Saensuk Smart City” สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว หรือ "นวัตกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ”รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคม เช่น ไม้เท้าแจ้งเตือนการล้มสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น

บทความเรื่อง "ระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในประเทศไทย”
การเปลี่ยนแปลงทางประชากรทำให้สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยในปี 2560 ผู้สูงอายุมีสัดส่วนร้อยละ 17.13 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2583 จะมีผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ของประชากร ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุวัยกลางและวัยปลายถึงร้อยละ 56.3 ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มอยู่ในภาวะพึ่งพิงและต้องการบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.5 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 20.7 ในปี 2557 การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้สูงอายุอยู่ในภาวะพึ่งพิงในการดำรงชีวิต ขณะที่ศักยภาพการดูแลผู้สูงอายุของครอบครัวลดลงจากขนาดของครอบครัวที่ลดลง ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้สูงอายุที่ต้องการคนดูแลยังขาดผู้ดูแล ทำให้ความต้องการบริการการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเพิ่มขึ้น

แนวทางการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุมุ่งเน้นการใช้ครอบครัวและชุมชนเป็นฐานการดูแล โดยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองให้นานที่สุด และให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว และมีการขับเคลื่อนการดำเนินงาน อาทิ การทำบันทึกความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาตำบลนำร่องโดยมีตำบลเข้าร่วมกระบวนการและผ่านเกณฑ์ 3,013 แห่ง การผลิตผู้จัดการดูแล (Care Manager) 4,577 คน และผู้ดูแล (Care Giver) 18,308 คน การจัดทำแผนดูแลให้ผู้สูงอายุเฉพาะราย (Care Plan) 53,880 คน ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแล 106,710 ราย การดำเนินโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (อผส.) มีประมาณ 50,000 คน และการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) 878 แห่ง

รูปแบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวของประเทศไทย แบ่งเป็น (1) การดูแลนอกสถาบันเป็นการสนับสนุนการดูแลที่บ้านและชุมชน โดยมีการจัดบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ทั้งบริการการแพทย์และบริการสังคม การดูแลผู้สูงอายุทั่วไปในชุมชน โดยมีสถานดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่เหมาะกับการพักฟื้น ให้คำแนะนำและข่าวสารด้านสุขภาพ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุด้านอาชีพ รายได้ กิจกรรมสังคมและสภาพแวดล้อม เช่น เบี้ยยังชีพ ส่งเสริมอาชีพ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้สูงอายุออกมาเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม และ (2) การดูแลในสถาบัน หรือสถานบริการ ได้แก่ บ้านพักสำหรับผู้สูงอายุ สถานบริบาล โรงพยาบาลที่ให้บริการดูแลระยะยาว และสถานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการจัดบริการและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น 

ประเด็นการพัฒนาการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ได้แก่ 
1. การสนับสนุนและพัฒนาการดำเนินงานที่มีปัจจุบัน ได้แก่ (1) การสนับสนุนการดูแลในชุมชนตามลักษณะของพื้นที่ โดยเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างความร่วมมือทุกระดับ พัฒนาฐานข้อมูล สนับสนุนทีมหมอครอบครัวและเพิ่มกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อขยายการดูแลแบบรายกรณี (Care Manager) ปรับปรุงกฎระเบียบด้านการเงินและสนับสนุนงบประมาณในท้องถิ่นที่มีรายได้ไม่เพียงพอ (2) การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดชุดบริการป้องกันดูแลผู้สูงอายุระยะยาว รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของครอบครัวซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพและช่วยกิจวัตรประจำวันผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้อง และ (3) การส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ การดูแลและติดตามการรักษาระยะไกลลดการเข้าสู่สถานบริบาลก่อนความจำเป็น เทคโนโลยีป้องกันการบาดเจ็บ ส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูสุขภาพและติดตามการบำบัดรักษา

2. การกำหนดมาตรฐานการดูแลตามระดับการดูแล รวมทั้งออกกฎระเบียบเพื่อขึ้นทะเบียนและกำกับดูแลให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐานของสถานบริการภาคเอกชน

3. การสนับสนุนการจัดบริการดูแลระยะกลาง โดยใช้โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิเป็นฐาน การจัดการดูแลในช่วงกลางวัน (Day Care) เพื่อช่วยรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดสังคมและติดบ้าน และจัดทำแผนการดูแลเชิงสังคมเข้ากับแผนการดูแลทางการแพทย์ เพื่อให้มีการดูแลแบบครบทุกมิติ

4. การผลักดันกฎหมายและสร้างเครื่องมือทางการเงินในการจัดบริการ อาทิ การผลักดันกฎหมายการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในทุกหน่วยงานและแนวทางเดียวกัน การพัฒนาระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมในประเด็นการดูแลระยะยาว การใช้พันธบัตรเพื่อสังคม (Social Impact Bond) เพื่อเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการจัดบริการดูแลสูงอายุในรูปแบบต่างๆ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
7 ธันวาคม 2560

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์