คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เปิดร่างแผนและขั้นตอนปฏิรูประบบส่งเสริมชุมชนเข้มแข็งซึ่งเป็น 1 ใน 5 เรื่องสำคัญ มุ่งขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยใช้พื้นที่ตำบลเป็นพื้นฐาน เน้นการรวมตัว ร่วมคิดร่วมทำตามแนวทางประชารัฐ และกำหนดแผนปฏิรูปเชิงระบบ 4 เสาหลัก คือ หนึ่ง การส่งเสริมสิทธิ บทบาทหน้าที่ และการมีส่วนร่วมของชุมชน สอง การร่วมจัดการทรัพยากรและทุนชุมชน สาม การส่งเสริมสัมมาชีพชุมชนหรือเศรษฐกิจฐานราก และ สี่ การส่งเสริมสวัสดิการชุมชน ต่อยอดจากข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.) และที่รัฐบาลกำลังทำอยู่
วันนี้ (6 ธันวาคม 2560) ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมได้ร่วมกันแถลงข่าว โดย นายแพทย์ อำพล จินดาวัฒนะ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการ กล่าวว่า
"เป้าหมายของการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง คือ การเสริมหนุนให้ชุมชนท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานรัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนในชุมชน จัดการกันเองได้อย่างมีคุณภาพ ทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจที่ดี มั่นคงยั่งยืน คุณภาพชีวิตดี และมีภูมิต้านทานจากปัจจัยกระทบต่าง ๆ โดยต้องเสริมสิทธิหน้าที่ และบทบาทของชุมชนต่อกิจการสาธารณะ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กลไกรัฐต้องช่วยขจัดปัญหาอุปสรรค และปกป้องคุ้มครองให้ชุมชนเข้มแข็ง และเสริมสร้างพลังอำนาจและพลังความสามารถให้กับชุมชน ทั้งชุมชนชนบทและชุมชนเมือง
ตัวอย่างประเด็นที่กำหนดไว้ในร่างแผนฯ ได้แก่ การปรับทิศทางการทำงานของสภาองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ร่วมกับรัฐในการพัฒนานโยบายสาธารณะและการทำกิจกรรมสาธารณะในชุมชนได้ดี และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมอย่างสำคัญ การส่งเสริมสิทธิชุมชนตามมาตรา 43 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 การผลักดันแผนยุทธศาสตร์และกฎหมายว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ การแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและจูงใจให้ประชาชนและชุมชนปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูง เช่น สัก ยางนา พะยูง และอื่น ๆ ในพื้นที่ของตนเองเพื่อออมทรัพย์ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยต้องปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคมายาวนาน การจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยการสนับสนุนการพัฒนาวิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาสัมมาชีพและคุณภาพชีวิต การสนับสนุนการออกกฎหมายรองรับสถาบันการเงินชุมชน สวัสดิการชุมชน การส่งเสริมภาคประชาสังคมให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐในการจัดสวัสดิการสังคมและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ มีการประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องมากกว่า 10 ครั้ง และคณะกรรมการกำลังเปิดเวทีรับฟังสาธารณะ 4 เวที ซึ่งจะได้นำข้อมูล ความเห็นต่าง ๆ มาพิจารณาปรับร่างแผนในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ให้เสร็จเรียบร้อยในเดือนธันวาคม 2560 นี้”
นายสมเดช นิลพันธุ์ กรรมการฯ กล่าวเสริมว่า "จากเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะ 3 ครั้งที่ผ่านมา และการปรึกษากลุ่มย่อยต่าง ๆ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันในเรื่องการปฏิรูประบบสร้างเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและกิจการสาธารณะต่าง ๆ ร่วมกับภาครัฐให้เป็นจริงมากที่สุด”
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการฯ กล่าวด้วยว่า "การปฏิรูปชุมชนเข้มแข็ง นับว่าเป็นหัวใจของการปฏิรูปด้านสังคม เพราะชุมชนเป็นฐานรากของสังคม ถ้าชุมชนเข้มแข็งประเทศก็จะมั่นคงยั่งยืน นอกจากข้อเสนอการปฏิรูปเชิงระบบแล้ว กรรมการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเชิงพื้นที่ คือ ‘ตำบลเข้มแข็ง’ โดยเสนอให้มีกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนเรื่องนี้ตามแนวทางประชารัฐ เพื่อบูรณาการการพัฒนาระดับจุลภาคต่อยอดจากงานที่รัฐบาล คสช. กำลังทำอยู่ ให้ต่อเนื่องไปอีก 5 ปี ข้ามไปถึงรัฐบาลในอนาคต
นอกจากนี้ ในฐานะได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ก็จะได้นำประเด็นปฏิรูปชุมชนเข้มแข็งไปผลักดันเพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคมต่อไปด้วย”
ข่าว : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม
ภาพ : อมรเทพ ศรีประเสริฐ
|