ข่าวสาร/กิจกรรม
ผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 4 ภูมิภาค รวมถึง สงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อประกอบการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
วันที่ 6 ธ.ค. 2560
วันพุธที่ 6 ธันวาคม 2560 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ  โดยมี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ  พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ และ ดร.อุทิศ ขาวเธียร กรรมการปฏิรูปประเทศฯ และประธานอนุกรรมการเพื่อช่วยดำเนินการตามมาตรา 18(3) แห่งพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 (ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ)ร่วมกันแถลงถึงผลการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน 4 ภูมิภาค รวมถึง สงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อประกอบการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ณ ห้องประชุม 6 ชั้น 2 อาคาร 2 สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

สืบเนื่องจาก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการเพื่อช่วยดำเนินการตามมาตรา 18(3) แห่งพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบได้มีการดำเนินการจัดการสัมมนารับฟังความเห็นการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศฯ โดยประกอบด้วย 4 ภูมิภาค ได้แก่  ภาคเหนือภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้  และอีก 1 พื้นที่คือ สงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผู้เข้าร่วมสัมมนา เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ นักการเมือง นักการเมืองท้องถิ่น องค์กรตรวจสอบ ภาคธุรกิจ สื่อมวลชน ภาคประชาชนในภูมิภาคต่างๆ และมีกลุ่มผู้นำศาสนาและโรงเรียนสอนศาสนาในจังหวัด สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าร่วมด้วยในพื้นที่สงขลาและ ๓ จังหวัดชายแดนใต้  ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนารับฟังความคิดเห็นภูมิภาคละประมาณ 200 คน รวมจำนวนผู้เข้าร่วมสัมมนารับฟังความคิดเห็นทั้งสิ้น 1,000  คน

การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมประเด็นปัญหา ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะมาประมวลผลเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำ (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบสำหรับผลจาการจัดสัมมนาดังกล่าว ทางคณะอนุกรรมการได้รวบรวมข้อมูลประเด็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำมาประมวลวิเคราะห์ โดยสามารถจำแนกออกเป็นสองประเด็นหลัก ได้แก่ การวิเคราะห์สภาพปัญหาและอุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูป ดังนี้

ในด้านสภาพปัญหาและอุปสรรค พบว่า 1) ปัญหาการปฏิรูปที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากระบบปัญหาการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานของรัฐ/เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มุ่งเน้นกำกับควบคุมมากกว่าการส่งเสริมแนวทางการดำเนินงานที่สุจริตที่แท้จริง โดยเจ้าหน้าที่/พนักงานผู้มีอำนาจส่วนหนึ่งอาจหวังผลตอบแทนจากการมุ่งเอาเปรียบของผู้ประกอบการในวงการต่างๆ ตลอดจนการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนของเจ้าพนักงานของรัฐ/เจ้าหน้าที่ของรัฐเอง ซึ่งการทุจริตมีผลกระทบโดยตรงต่อการใช้งบประมาณโดยสิ้นเปลือง 2) การแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศไทยที่ผ่านมา มิได้มีผลต่อการลดปัญหาแต่อย่างใด ทั้งนี้ จากการรับฟังความคิดเห็นฯ พบว่า แนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันต้องอาศัยการรวมตัวเพื่อสร้างบทบาทและอำนาจการต่อต้านการทุจริตฯ อย่างมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคม "โดยประชาชนคนไทยต้องการทวงคืนอำนาจ  บทบาทและการจัดการร่วมกันตรวจสอบ” 

สำหรับข้อเสนอแนะในการปฏิรูป พบว่ามีแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้ 1) เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้เป็นแกนกลางในการเสนอแนะติดตาม ตรวจสอบ และต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ โดยรัฐต้องเร่งรัดออกกฎหมายรองรับการทำงานของเครือข่ายประชาชนภายใน 1 ปี ให้เป็นกฎหมายที่มุ่งให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจและบทบาทปฏิบัติต่อต้านและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ รัฐต้องให้ความคุ้มครองและป้องกันการถูก กลั่นแกล้ง หรือได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในลักษณะต่างๆ 2) เครือข่ายตรวจสอบของภาคีประชาชนต้องได้รับบทบาทและมีอำนาจในการเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลอย่างแท้จริง 3) ยุทธศาสตร์ด้านการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบต้องเน้นมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง รวดเร็ว เด็ดขาด เท่าเทียมและเป็นธรรม 4) ต้องปฏิรูปการบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐ ให้มีการทำงานแบบ บูรณาการในทุกระดับหน่วยงาน เพื่อลดความซ้ำซ้อน สร้างความเป็นเอกภาพ ตลอดทั้งมีการบูรณาการหน่วยงานตรวจสอบ 5) บุคลากรหน่วยงานภาครัฐ ต้องมีความรับผิดชอบต่อกรณีการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาโดยตรง โดยมีการลงโทษให้พ้นไปจากตำแหน่ง เมื่อมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีพฤติกรรมการทุจริตในหน่วยที่ทำหน้าที่ 6) ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ในหลายช่องทางเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ เช่น การดำเนินงานนโยบายของรัฐบาล การจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลด้านงบประมาณ และการจัดทำงบประมาณ รวมถึงข้อมูลการใช้ดุลยพินิจในงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมกำกับ ดูแล และอนุมัติโครงการต่างๆ 7) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับต้องรายงานผลการใช้งบประมาณทุกด้านที่ถูกจัดสรร แก่จังหวัดและองค์กรที่รับผิดชอบให้ประชาชนได้รับทราบและร่วมตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณฯ ในทุกโครงการ 8) เน้นยุทธศาสตร์ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมีการปรับทัศนคติ ส่งเสริมให้มีการปลูกฝังเพื่อหล่อหลอมคุณธรรมจริยธรรม ตั้งแต่เยาว์วัยและตลอดจนทุกช่วงของชีวิตให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชน โดยผ่านทั้งกระบวนการการเรียนการสอน และกระบวนการทางสังคม เพื่อสร้างจิตสำนึกให้มีค่านิยม และทัศนคติที่ถูกต้อง 

ทั้งนี้ ผลจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จะนำไปสู่ การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันคิด วิเคราะห์  และแสดงพลังการมีส่วนร่วมและแนวคิดของประชาชนมีส่วนในการจัดทำแผนและกลไกสำคัญในการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านการทุจริต ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ ได้ทำการรวบรวมประเด็นข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้ นำมาเพื่อประมวลเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์