วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม 2560 นายรอยล จิตรดอน ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ และนางสาวลดาวัลย์ คำภา ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย”
ชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำแม่ลาว ในอดีตประสบปัญหานายทุนเข้าสัมปทานเหมืองแร่ดีบุก ตัดต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก ทำให้สายน้ำแม่โถซึ่งเป็นต้นน้ำแม่ลาวแดงขุ่น ไม่สามารถใช้อุปโภค บริโภคได้ ชุมชนจึงรวมตัวกันเป็น "กลุ่มคนรักษ์ป่า” เมื่อปี พ.ศ. 2548 เพื่อช่วยกันหาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำแม่ลาวร่วมกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ขยายเครือข่ายเป็น 10 หมู่บ้าน พัฒนาเป็น "เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว”
ปี พ.ศ. 2554 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ให้ข้อมูล ความรู้ ถ่ายทอดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกับชุมชนดำเนินงานจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เริ่มสำรวจและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รวมทั้งเก็บข้อมูล จัดทำแผนที่เครือข่าย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2555 ชุมชนสามารถขอคืนพื้นที่ทำกิน 20% ของพื้นที่ติดกับป่าไม้ ได้ป่าที่ถูกบุกรุกกลับคืนมากว่า 2,000 ไร่
ปัจจุบัน เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว ได้ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ในพื้นที่ต้นน้ำแม่ลาวอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ลาวทั้งหมด 260,105 ไร่ ใน 44 ชุมชน 4 ตำบล ของอำเภอเวียงป่าเป้า รวมเส้นทางน้ำ 298 ลำห้วย เกิดการบริหารจัดการน้ำชุมชนร่วมกันเป็นเครือข่าย โดยมีตัวอย่างผลสำเร็จ ได้แก่ การสร้างฝายภูมิปัญญาพื้นที่ต้นน้ำเครือข่าย ช่วยชะลอความชุ่มชื้นและดักตะกอน รวม 2,532 ฝาย เชื่อมต่อแนวกันไฟป่าต้นน้ำเครือข่าย ระยะทางรวม 107 กิโลเมตร และเกิดหน่วยเฝ้าระวังภัยพิบัติเครือข่าย ร่วมกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำ และยังมีกลุ่มเยาวชน "ละอ่อนฮักน้ำลาว” ร่วมช่วยงานเครือข่ายฯ ในด้านการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า
นอกจากนี้ยังมีการปลูกต้นไม้เสริมป่า ทำให้ป่าต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ดังเดิม เมื่อแหล่งน้ำต้นทุนดี จึงจัดทำระบบสำรองน้ำ ระบบกระจายและกรองน้ำ ได้น้ำคุณภาพดีให้ทุกครัวเรือนใช้ จำนวน 21 ชุมชน ผู้รับประโยชน์ 1,071 ครัวเรือน รวม 3,240 คน และยังได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาเป็นรูปแบบ ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 ประการ ตามแนวพระราชดำริ ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตชุมชน เกิดตัวอย่างเรื่องการลดรายจ่ายและสร้างรายได้เสริมตลอดปี เป็นตัวอย่างความสำเร็จ ให้กับชุมชนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้ จึงเกิดเป็น "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป
ข่าว : คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาพ : รวีวรรณ เลียดทอง
|