ข่าวสาร/กิจกรรม
ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมนำพื้นที่ต้นแบบขยายผลความสำเร็จทั่วประเทศ รับฟังความคิดเห็นประชาชนภาคเหนือ
วันที่ 4 ธ.ค. 2560
        คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดทำแผนการปฏิรูปโดยจัดลำดับความสำคัญของเรื่องเร่งด่วนพร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชาและแนวทางตามโครงการพระราชดำริมาประยุกต์ใช้และขยายผลต่อ 

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานอนุกรรมการการมีส่วนร่วมเพื่อการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

       ในขณะนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศดังกล่าว คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมเพื่อการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใน 5 ภูมิภาค ซึ่งได้จัดครั้งแรกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2560 ครั้งที่ 2 ภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2560 ครั้งที่ 3 ภาคตะวันกลาง ที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 และครั้งนี้ ภาคเหนือ จัดที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2560 รวมทั้งจะมีการจัดนำเสนอสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด ที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 

       โดยในเบื้องต้น ร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดผลอันพึงประสงค์ ได้แก่      
1. ทรัพยากรธรรมชาติ ได้รับการรักษาและฟื้นฟูให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน เป็นฐานการพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

2. สิ่งแวดล้อมได้รับการดูแล รักษา อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดมลพิษ และผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ

3.  เกิดความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ ลดความขัดแย้งของการพัฒนาที่ใช้ฐานทรัพยากร ธรรมชาติ บรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และลดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

4.  มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศ

       โดยได้กำหนดประเด็นในการปฏิรูปไว้ 6 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1) ทรัพยากรทางบก 2) ทรัพยากรน้ำ 3) ทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง 4) ความหลากหลายทางชีวภาพ 5) สิ่งแวดล้อม และ 6) ระบบบริหารจัดการฯ ดังนี้  
ทรัพยากรทางบก ในช่วง 44 ปีที่ผ่านมาทรัพยากรป่าไม้ของชาติถูกทำลายอย่างหนัก พื้นที่ป่าไม้ลดลงประมาณ 36 ล้านไร่ หรือ เฉลี่ยปีละ 8 แสนไร่ ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ปัญหาป่าเสื่อมโทรมและภูเขาหัวโล้นมากกว่า 20 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังพบปัญหาประชาชนครอบครองหรือใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาตมากกว่า 15 ล้านไร่ ปัญหาความขัดแย้งคนกับสัตว์ป่าอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การบริหารจัดการที่ดินป่าไม้ยังขาดการจัดการที่เป็นระบบ การใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เหมาะสมกับสถานภาพของพื้นที่ และฐานข้อมูลเขตทรัพยากรแร่เพื่อการบริหารจัดการยังไม่มีประสิทธิภาพ 

จากสภาพปัญหาดังกล่าว ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) จึงกำหนดเป้าหมายให้มีพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ประเทศ โดยกำหนดประเด็นปฏิรูป ได้แก่ 

       - ทรัพยากรป่าไม้ โดย (1) ปรับปรุงและพัฒนาองค์กรและกฎหมายเพื่อสนองตอบการปฏิรูปทรัพยากรป่าไม้ทั้งระบบ(2) การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้เชิงพื้นที่ (3) การจัดระเบียบและแก้ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ (4) การพัฒนาการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ (5) การจัดการสัตว์ป่าเพื่อพัฒนาระบบนิเวศ สังคม และเศรษฐกิจ 

       - ทรัพยากรดิน โดย (1) จัดทำแผนการใช้ที่ดินของชาติทั้งระบบ (2) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นมิตรกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

       - ทรัพยากรแร่ โดย (1) เร่งรัดการจัดทำเขตศักยภาพแร่และเขตเศรษฐกิจแร่ (2) พัฒนาเครื่องมือควบคุมการบริหารจัดการเหมืองแร่ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (3) สร้างกลไกเพื่อเสริมศักยภาพของท้องถิ่นและชุมชน ในการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ทรัพยากรน้ำ ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนชื้นมีฝนตกชุกทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากก่อให้เกิดปัญหาอุทกภัยที่สร้างความเดือดร้อนต่อชีวิตและทรัพย์สินอยู่บ่อยครั้งแต่ถึงแม้จะมีปริมาณเป็นจำนวนมากแต่กลับยังคงประสบกับปัญหาภัยแล้งอยู่บ่อยครั้งด้วยเช่นกัน อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการน้ำยังขาดประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอ ทั้งในด้านการบริหารโครงการขนาดใหญ่ การบูรณาการเชิงพื้นที่ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อีกทั้งความต้องการใช้น้ำของประเทศกลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคณะทำงานฯ จึงได้กำหนดกรอบการปฏิรูป 5 ด้าน ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 การบริหารแผนโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อปฏิรูปแล้วจะทำให้การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องผู้รับผิดชอบโครงการ กระบวนการพัฒนาโครงการ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กระบวนการด้านงบประมาณ รวมทั้งการปฎิรูปวิธีการบริหารโครงการขนาดใหญ่อย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงกับโครงการขนาดเล็ก เพื่อสร้างความยืดหยุ่น และรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ประเด็นที่ 2 การบริหารเชิงพื้นที่  ซึ่งเมื่อปฏิรูปแล้วจะทำให้เกิดความชัดเจนด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดรูปที่ดินที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ การแบ่งเขตบริหารจัดการและกำหนดผู้รับผิดชอบผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในพื้นที่ 

ประเด็นที่ 3 ระบบเส้นทางน้ำ ซึ่งเมื่อปฏิรูปแล้วจะทำให้เกิดการจัดการระบบเส้นทางน้ำที่มีความสอดคล้องกับระบบผังเมือง ประกาศขอบเขตเส้นทางน้ำเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากเส้นทางน้ำ และเพื่อพัฒนา อนุรักษ์เส้นทางน้ำไว้ไม่ให้เกิดการุกล้ำหรือถูกทำลาย 

ประเด็นที่ 4 ระบบขยายผลแบบอย่างความสำเร็จ ซึ่งเมื่อปฏิรูปแล้วจะทำให้เกิดต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำที่ประสบความสำเร็จ เกิดเครื่องมือและกลไกในการขยายผลความสำเร็จซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการน้ำทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ

ประเด็นที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือและทรัพยากรมนุษย์เพื่อการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเมื่อปฏิรูปแล้วจะทำให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในการบริหารจัดการน้ำ มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีระบบการบริหารจัดการแบบอัตโนมัติ 

ทั้งนี้ ได้กำหนดตัวอย่างความสำเร็จจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ความสำเร็จด้านการบริหารเชิงพื้นที่ เช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำกระเสียว ชุมชนภูถ้ำภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น การประกาศใช้ผังเมืองรวมเบื้องต้นบริเวณหนองใหญ่ จ.ชุมพร ซึ่งจะได้ใช้เป็นแบบอย่างในการขยายผลและการดำเนินการตามกรอบการปฏิรูปข้างต้นต่อไป

ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปัจจุบัน ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทย ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งพลังงาน แหล่งท่องเที่ยว และเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญของชาติ ที่ได้สร้างมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 24 ล้านล้านบาท กำลังประสบปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการที่ด้อยประสิทธิภาพและประสิทธิผล ก่อให้เกิดความไม่สมดุลและความขัดแย้งในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ ทรัพยากรฯ จำนวนมากถูกทำลายและมีสภาพเสื่อมโทรม ทั้งยังเกิดมลพิษทางทะเล ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการปฏิรูปย่อมนำไปสู่ความเสียหายและส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศอย่างรุนแรง ดังนั้น คณะทำงานฯ จึงได้กำหนดกรอบการปฏิรูปไว้ 3 กรอบการปฏิรูป กล่าวคือ

ประเด็นที่ 1 การปฏิรูประบบฐานข้อมูลซึ่งเมื่อปฏิรูปแล้วจะทำให้ประเทศไทยมีระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ครอบคลุม มีการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรฯ ที่ได้มาตรฐานและเป็นธรรม ตลอดจนมีการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลรายจังหวัดที่ชัดเจน ซึ่งสามารถนำไปวางแผนและใช้ประโยชน์
จากทรัพยากรฯ ในพื้นที่ได้อย่างมีคุณภาพ

       ประเด็นที่ 2 การปฏิรูปองค์กร กฎหมาย และการมีส่วนร่วมซึ่งจะก่อให้เกิดการปรับสมดุลโครงสร้างองค์กร
ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทางทะเลให้ทันสมัยและสอดคล้อง
กับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 และข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ที่ไทยเป็นภาคี รวมทั้งระบบการบริหารจัดการองค์ความรู้ทางทะเลที่สามารถสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

       ประเด็นที่ 3 การปฏิรูปการดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมซึ่งเมื่อปฏิรูปแล้วจะทำให้มีการกำหนด
แนวทางการดูแล รักษา แก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้อย่างสมดุลและยั่งยืน อาทิ ปัญหาขยะ มลพิษ แร่ธาตุและพลังงาน การประมง สัตว์ทะเล ปะการัง การกัดเซาะชายฝั่ง และการส่งเสริม
ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล

ทั้งนี้ ได้กำหนดพื้นที่ "อ่าวไทยตอนใน” (อ่าวไทยรูปตัว ก) เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการแบ่งเขตจังหวัดทางทะเล และ "พื้นที่อ่าวพังงา” เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการอนุรักษ์ทรัพยากรฯ ทางทะเล ซึ่งจะได้ใช้เป็นแบบอย่างในการขยายผลและการดำเนินการตามกรอบการปฏิรูปข้างต้นต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการปฏิรูปได้ให้ความสำคัญกับแนวปะการังไทยซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 2 ของโลก มากกว่าปีละ 86,000 ล้านบาท จึงเป็นเป้าหมายหลักของการปฏิรูป โดยจะเร่งให้มีแผนปะการังแห่งชาติ จัดตั้งกองอุทยานแห่งชาติทางทะเล จัดตั้งเขตสงวนรักษา 17 แห่งในอุทยาน สร้างเขตการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 50 แห่งภายใน 5 ปี และกำหนดดัชนีชี้วัดให้มีพื้นที่ปะการังเสียหายน้อยกว่า 40% ใน 5 ปี และน้อยกว่า 20% ใน 20 ปีข้างหน้า                                                 
ความหลากหลายทางชีวภาพ ได้เร่งรัดให้มีการออกกฎหมายว่าด้วยการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ เนื่องจากหากมีการนำความหลากหลายทางชีวภาพไปใช้ประโยชน์ทางการค้าจะต้องมีการขออนุญาตจากชุมชนท้องถิ่นที่เป็นแหล่งต้นทางของความหลากหลายทางชีวภาพ และเมื่อมีการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการต้องมีการแบ่งปันรายได้หรือผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมมาสู่ชุมชนท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจชีวภาพ และเป็นกลไกสำคัญให้เกิดความหวงแหน อนุรักษ์ และฟื้นฟู แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งสามารถ "สร้างมูลค่า จากคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น” ที่สร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สำหรับแนวทางการปฏิรูปเน้นให้ "ชุมชนท้องถิ่น” เป็นพลังขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นเจ้าของฐาน "ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น” พร้อมให้มีศูนย์รวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพประจำตำบลทั่วประเทศ ภายใน 1 ปี และเป็นต้นทางของการนำความรู้ นวัตกรรมมาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพที่ชุมชนท้องถิ่นเป็นเจ้าของ ซึ่งจะเป็นการสร้างพลังให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในที่สุด
สิ่งแวดล้อม สภาพปัจจุบันปัญหามลพิษทางดิน น้ำ อากาศยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ในปี 2558 ปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 26.85 ล้านต้น (73,560 ตันต่อวัน) 8.34 ล้านตัน ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี (ร้อยละ 31) 4.94 ล้านตัน (ร้อยละ 18) ถูกนำไปใช้ใหม่ ที่เหลือตกค้างในชุมชนหรือกำจัดแบบไม่ถูกต้อง เช่น เผาหรือเทกอง ขยะกล่องโฟมไม่ต่ำกว่า 138 ล้านกล่องต่อวัน ขยะถุงพลาสติกประมาณ 5,300 ตันต่อวันใช้เวลาย่อยสลายหลายร้อยปี ขยะอันตราย (ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า แบตเตอรี่ หลอดไฟ) ประมาณ 5.9 แสนตัน ถูกส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องได้แค่ 200 ตันต่อปี กากอุตสาหกรรมอันตรายมีประมาณ 2.8 ล้านตันต่อปี แต่เข้าสู่ระบบจัดการแค่ 0.97 ล้านตัน บางส่วนถูกลักลอบทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป คุณภาพน้ำในช่วง 2555-2558 มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง ระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่เพียง 100 แห่ง บำบัดน้ำเสียชุมชนได้เพียงร้อยละ 46 (2.7 ล้านลูกบาศก์เมตร) ของปริมาณน้ำเสียชุมชน (5.87 ล้านลูกบาศก์เมตร)

สาเหตุของปัญหาสืบเนื่องจากการจัดการมลพิษที่ยังขาดประสิทธิภาพ การบังคับใช้กฏหมายที่ไม่เข้มงวด บทลงโทษต่ำ (แม้ว่ากฎหมายในการควบคุมกำกับดูแลมลพิษค่อนข้างครบถ้วน) ขาดระบบจัดเก็บข้อมูลการปล่อยมลพิษและการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ขาดกลไกสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตาม ตรวจสอบ ขาดมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่เข้มข้นในการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนและประขาชนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ จึงได้กำหนดประเด็นปฏิรูป ดังนี้ 

1. ปฏิรูปองค์กรและกฎหมาย ด้วยการแก้ไขบทลงโทษภายใต้ พรบ. โรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรุนแรงมากขึ้น เพิ่มความเคร่งครัดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐในการติดตามตรวจสอบการปล่อยมลพิษของสถานประกอบการ ปรับแก้พระราชบัญญัติการประปาเพื่อเก็บค่าใช้น้ำต่อลูกบาศก์เมตรเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นงบประมาณในการบำบัดน้ำเสีย และแก้กฎหมายให้เอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากขยะได้

2. ปฏิรูประบบจัดการมลพิษที่แหล่งกำเนิด โดยเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการวางแผนและบริหารจัดการขยะทั่วไป ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ขยายความรับผิดชอบของเอกชนตามหลักการ extended producer responsibility ในการจัดการขยะอันตรายโดยลงทะเบียนผลิตภัณฑ์จากต้นทาง กำหนดช่องทางการรับคืน จัดเก็บ และทำลาย นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศต้องพัฒนาระบบการเก็บรวบรวมและขนส่งขยะแบบแยกประเภท

3. ปฏิรูประบบข้อมูลและการมีส่วนร่วม จากการเร่งรัดจัดทำข้อมูลการใช้สารเคมีและการปล่อยมลพิษของสถานประกอบการและการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะอย่างโปร่งใสให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เปิดเผยข้อมูลการขนย้ายกากอุตสาหกรรมของสถานประกอบการต่อสาธารณะ เสริมสร้างกลไกการติดตาม ตรวจสอบการปล่อยมลพิษโดยภาคประชาชน และกำหนดให้โรงงานติดตั้งระบบรายงานแสดงผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งและคุณภาพอากาศจากปล่องต่อสาธารณะ
4. ปฏิรูปกลไกทางเศรษฐศาสตร์เพื่อลดพิษและการผลิต-บริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการเก็บค่ากำจัดขยะตามปริมาณ เก็บภาษีถุงพลาสติกและกล่องโฟมใส่อาหารหรือบรรจุภัณฑ์ที่กำจัดยาก ลดภาษีสินค้า recycle และผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบสำหรับ recycle ใช้ระบบมัดจำ-เงินคืนสำหรับขยะอันตราบเพื่อทำให้ขยะอันตรายมีราคาและเข้าสู่ช่องทางกำจัดที่ถูกต้อง เก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยมลพิษของโรงงาน เก็บภาษีสารเคมีเพื่อการเกษตร และส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดประเด็นปฏิรูป ดังนี้

1. เครื่องมือบริหารจัดการ โดยการปฎิรูปเครื่องมือบริหารจัดการที่มีอยู่ อาทิ ระบบการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) ระบบผังเมือง แผนแม่บทการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติประเภทต่างๆ ระบบเขตพื้นที่เฉพาะ (เขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, เขตควบคุมมลพิษ) รวมทั้งนำเครื่องมือบริหารจัดการใหม่มาใช้ ได้แก่ ระบบการประเมินยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Strategic Environmental Assessment : SEA) เครื่องมือเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ระบบติดตามประเมินผล ระบบเครือข่ายฐานข้อมูลและ Big Data สร้างนวัตกรรมของการทำงานร่วมแบบ Public –Private –People Partnership วิสาหกิจเพื่อสังคม–ด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี นวัตกรรม 

2. โครงสร้างองค์กร การบริหารราชการส่วนกลางโดยการจัดความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างคณะกรรมการระดับชาติด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (ดิน- น้ำ- ป่า- ทะเล –แร่- โลกร้อนฯ) และคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อม-ทรัพยากรธรรมชาติ กับ ด้านการพัฒนาสาขาต่างๆ (ท่องเที่ยว เกษตร พลังงาน อุตสาหกรรมฯลฯ) การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนระหว่างหน่วยงานด้าน Regulator กับ Operator การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ โดยปรับบทบาทหน้าที่ และเสริมศักยภาพของผู้ว่าราชการจังหวัดกับงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การจัดโครงสร้างองค์กรและความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาค และการกระจายอำนาจสู่หน่วยงานในระดับภูมิภาค เช่น EIA SEA การกระจายอำนาจ ถ่ายโอนภารกิจด้านทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม สู่ระดับท้องถิ่น (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น / ภาคเอกชน) เช่น ขยะ น้ำเสีย การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากร – สิ่งแวดล้อม การทำงานร่วม และระบบตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับชุมชนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม

3. วิธีปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐ โดย สร้างระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางการบูรณาการให้เกิดระบบการทำงานข้ามกรม ข้ามกระทรวงอย่างมีประสิทธิภาพ  กระบวนการมีส่วนร่วมทุกระดับของภาคประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่น)

4. ระบบงบประมาณ และแผน โดยจัดความสัมพันธ์ระหว่างแผนแม่บท แผนปฏิบัติการต่างๆ เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบบงบประมาณเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติ : ระบบงบประมาณเพื่อสนับสนุนแผนแม่บท (Program-Based Budgeting)  และระบบงบประมาณเชิงพื้นที่ (Area-Based Budgeting) :  จังหวัด ลุ่มน้ำ อ่าว พื้นที่ชายฝั่งทะเล ฯลฯ

5. ระบบกฎหมาย โดย จัดทำกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิของประชาชน ชุมชน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ กฎหมายสิทธิชุมชนในการร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมายการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ ปรับปรุง พัฒนากฎหมายเพื่อการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ประมวลกฎหมายป่าไม้ ประมวลกฎหมายน้ำ  และประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในการดูแล จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และเพิ่มศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านช่องทาง (1) แอพลิเคชั่น Line ที่ http://line.me/R/ti/g/3_ixH-2BXa  (2) Facebook ที่  https://www.facebook.com/nre.reform  (3) E-mail ที่ nre.reform@gmail.com (4)  เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) www.nesdb.go.th (5) โทรสาร หมายเลข 0 2282 9149 (6) จดหมาย ส่งมาที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ 10100 วงเล็บมุมซองว่า "คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” 

ข่าว : คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาพ : รวีวรรณ  เลียดทอง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์