ข่าวสาร/กิจกรรม
เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2560 และแนวโน้มปี 2560-2561
วันที่ 20 พ.ย. 2560
ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่สามของปี 2560 และแนวโน้มปี 2560 - 2561 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสที่สองของปี 2560 ร้อยละ 1.0 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการลงทุนรวม การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 3.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวร้อยละ 7.0 สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 10.9 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายซื้อสินค้ากึ่งคงทน และสินค้าไม่คงทน ขยายตัวร้อยละ 3.5 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม (ราคาคงที่) ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล และปริมาณการจำหน่ายเบียร์ที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ร้อยละ 4.5 และร้อยละ 15.2 ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 62.4 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ในขณะที่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.1 ส่วนการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 2.6 แต่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 19.6 ต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 20.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากฝนตกชุกและปัญหาอุทกภัย

ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 61,633 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 ไตรมาส ร้อยละ 12.5 เร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 7.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และกระจายตัวมากขึ้นทั้งในด้านจำนวนสินค้า และตลาดส่งออก สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น รถยนต์นั่ง รถกระบะและรถบรรทุก และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน (9) ขยายตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง (15) กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส แต่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียลดลงเล็กน้อย เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 51,490 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 13.0 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้าร้อยละ 3.8 และปริมาณการนำเข้าร้อยละ 8.8 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออก การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ

ด้านการผลิต การผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาการค้าส่งค้าปลีก สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา และสาขาประมงขยายตัวเร่งขึ้น สาขาเกษตรกรรมขยายตัวในเกณฑ์สูง ส่วนสาขาขนส่งและคมนาคม และสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่สาขาการก่อสร้างปรับตัวลดลง โดยภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 9.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 16.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการขยายตัวของสาขาเกษตรกรรม และสาขาประมงร้อยละ 10.1 และร้อยละ 8.6 ตามลำดับ โดยผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าวเปลือกนาปี มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และผลไม้ (เช่น มะม่วง ลำไย เงาะ มังคุด สับปะรด และลิ้นจี่) เป็นต้น เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของผลผลิตหมวดปศุสัตว์และหมวดประมง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลง ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 12.9 ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น และส่งผลให้ราคาปรับตัวลดลงจากฐานที่สูงในช่วงภัยแล้งของปีก่อนหน้า โดยราคาพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง เช่นเดียวกับการลดลงของราคาหมวดปศุสัตว์และหมวดประมง (เฉพาะกุ้งขาวแวนนาไม) ในขณะที่ราคายางพาราและอ้อยเพิ่มขึ้น การลดลงของดดัชนีราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.6 สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ร้อยละ 4.3 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการขยายตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นของอุตสาหกรรมสำคัญๆ สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ขยายตัวร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้าในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 0.4 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวและเร่งขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 62.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 58.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญๆ ขยายตัวเกือบทุกรายการ เช่น ยานยนต์ เครื่องยนต์ ส่วนประกอบและอุปกระกอบสำหรับยานยนต์ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น เครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้อง และการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ เป็นต้น สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และเป็นการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งในสาขาอุตสาหกรรม สาขาการค้าส่งค้าปลีก สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และในภาคครัวเรือน ด้านการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้น้ำในส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ในขณะที่กิจกรรมโรงแยกก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของปริมาณก๊าซที่เข้าโรงแยกก๊าซ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวดีต่อเนื่องร้อยละ 6.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 693.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 453.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายรับของนักท่องเที่ยวจีน เกาหลีใต้ อินเดีย และสหรัฐอเมริกา เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 240.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.6ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 63.71 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61.90 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.2 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 0.4 บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 13.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (456.6 พันล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 12.0 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 อยู่ที่ 199.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,369.3 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.7 ของ GDP

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2560
คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 8.6 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 10.4 ของ GDP

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2561
คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 – 4.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคส่งออกอย่างต่อเนื่อง (2) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น (3) การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน (4) สาขาเศรษฐกิจสำคัญมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจากปีก่อน และ (5) การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่มาตรการดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.1 และร้อยละ 5.5 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 – 1.9 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.1 ของ GDP

รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2561 ในด้านต่างๆ มีดังนี้ 
1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 3.1 ขยายตัวดีต่อเนื่องจากร้อยละ 3.2 ในปี 2560 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในปี 2560 
2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2560 โดยการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของกรอบวงเงินงบลงทุนทั้งภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 21.8 และร้อยละ 45.7 ตามลำดับ รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน ปี 2559 และปี 2560 ที่คาดว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่เข้าสู่กระบวนการก่อสร้างมากขึ้นในปี 2561 และการเร่งตัวขึ้นของการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (i) อัตราการใช้กำลังการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้อัตรากำลังการผลิตในปัจจุบันสูงกว่าร้อยละ 75 (ii) การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นของนักลงทุนภายใต้บรรยากาศการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการปรับตัวดีขึ้นของเงื่อนไขและเสถียรภาพการเมืองในประเทศ และ (iii) ความคืบหน้าของมาตรการและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน 
3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.6 ในปี 2560 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ตามแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ชะลอตัวลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ในปี 2560 ตามการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกชะลอตัวลง และเป็นปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมขยายตัวช้าลงจากปีก่อนหน้า เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่าจะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 

ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2560 และปี 2561 
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี และในปี 2561 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตนอกภาคเกษตร โดย (i) การดูแลการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นและสนับสนุน การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น (ii) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนทั้งในด้าน การดำเนินการตามโครงการลงทุนที่สำคัญ การชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนในความต่อเนื่องของนโยบายและมาตรการที่สำคัญ ในช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้ง (iii) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ควบคู่กับการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่ชุมชนและชนบท (2) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวตามเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง โดย (i) การเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงที่เหลือของปี และการเบิกจ่ายงบลงทุนในกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75.0 และร้อยละ 80.0 ตามลำดับ (ii) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้เข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง (iii) การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (iv) การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และการพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจในระดับภาคและจังหวัดสำคัญๆ (3) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก ทั้งในด้านการผลิตสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร การดำเนินการตามมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน และการพัฒนา SMEs ให้มีความเข้มแข็ง และ (4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุนทั้งในด้านกำลังแรงงานทักษะฝีมือ แรงงานกึ่งทักษะฝีมือ และแรงงานต่างชาติ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
20 พฤศจิกายน 2560

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์