ข่าวสาร/กิจกรรม
เดินหน้าปฏิรูปเพื่อลดช่องว่างสำหรับผู้เสียเปรียบในสังคม
วันที่ 8 พ.ย. 2560
หลังจากที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมได้มีการประชุมหารือไปแล้วจำนวน 9 ครั้ง โดยได้แบ่งประเด็นงานปฏิรูปด้านสังคมออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ (1) การออม สวัสดิการ และการลงทุนเพื่อสังคม (2) กลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคม (3) การจัดการข้อมูลและองค์ความรู้ด้านสังคม (4) ระบบสร้างเสริมชุมชนเข้มแช็ง และ (5) การมีส่วนร่วม การเรียนรู้ การรับรู้ และการส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม ซึ่งการปฏิรูปด้านผู้เสียเปรียบในสังคม ประกอบด้วย กลุ่มเด็กและเยาวชน สตรี ผู้พิการ คนยากจน คนไร้ที่พึ่ง ผู้สูงอายุ คนไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร ผู้พ้นโทษ ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี และผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องประชุมสุนทร หงส์ลดารมภ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมและโฆษกคณะกรรมการ เปิดเผยว่า การปฏิรูประบบผู้เสียเปรียบในสังคมได้มีการหารือกลุ่มย่อยไปแล้วทั้งสิ้น 7 ครั้ง ทั้งนี้ นายวิเชียร ชวลิต กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ผู้รับผิดชอบหลักเรื่องผู้เสียเปรียบในสังคม ได้ให้คำนิยามกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคมว่า ครอบคลุมกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้บริโภค และคนไร้สัญชาติ  โดยจะดำเนินการปฏิรูปภายใต้แนวคิด "ปฏิรูปเพื่อปลดล็อค” อุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้คนบางกลุ่มสังคมกลายเป็นผู้เสียเปรียบ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ตลอดจนทบทวนสถานการณ์ที่สำคัญเกี่ยวข้องกับประเด็นที่มีความเฉพาะ ทั้งจากรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 ร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รายงานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (สปท.)

ประเด็นเร่งด่วนที่ควรดำเนินการ ประกอบด้วย (1) การปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อคนทุกกลุ่ม โดยจะเร่งดำเนินการในระบบขนส่งสาธารณะทางรางก่อนเป็นอันดับแรก และจะขยายผลไปยังบริการสาธารณะของรัฐประเภทอื่น ตลอดจนการปฏิรูปกฎหมายและหน่วยงานที่ดูแลกฎหมายเกี่ยวกับอารยสถาปัตย์ (universal design) เพื่อให้มีการบูรณาการระหว่างกันมากยิ่งขึ้น และ (2) การปฏิรูปในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ประกอบด้วย การปฏิรูปกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยปรับให้มีแนวทางการนำเงินจากกองทุนมาใช้พัฒนาผู้พิการตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนให้มากขึ้น การเสริมสร้างศักยภาพผู้สูงอายุในการทำงาน (empowerment) ผ่านการอบรมทักษะอาชีพที่จำเป็นแก่ผู้สูงอายุ และการขยายอายุเกษียณในกลุ่มบุคลากรภาครัฐแบบค่อยเป็นค่อยไป การปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค เน้นการสร้างความรู้ให้แก่ผู้บริโภค และปรับกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้เป็นผู้บริโภค 4.0 และ การปฏิรูปแนวทางการให้สัญชาติไทยแก่ผู้ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร โดยพัฒนาระบบการจดทะเบียนผู้ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎรในกลุ่มที่ต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ เช่น ผู้พิการ คนยากจน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูประบบผู้เสียเปรียบในสังคมจะดำเนินการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายต่อไปในอนาคต เช่น กลุ่มสตรี คนไร้ที่พึ่ง ผู้พ้นโทษ และผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ภายใต้แนวคิดการดำเนินงานที่มุ่งเน้นให้ผู้เสียเปรียบในสังคมทุกกลุ่มได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งในอนาคตจะได้มีการหารือร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านอื่น ๆ เพื่อบูรณาการการทำงานในประเด็นปฏิรูปที่มีความเชื่อมโยงและสนับสนุนระหว่างกัน
              
นายวิเชียรฯ  กล่าวในตอนท้ายว่า คนทุกคนล้วนแล้วแต่ตกเป็นกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคม ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อเป็นการลดข้อจำกัดในการใช้ชีวิต จึงจำเป็นต้องเร่งจัดทำแผนการปฏิรูปให้แล้วเสร็จ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการผนวกแผนการปฏิรูปของกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคมเข้ากับกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำแผนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมไปรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนกลุ่มต่าง ๆ ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้ 

ข่าว :  สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม
ภาพ :  เมฐติญา  วงษ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์