ข่าวสาร/กิจกรรม
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานชี้เหตุจำเป็นต้องปฏิรูป วางกรอบการปฏิรูป “เร่ง ซ่อม สร้าง” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
วันที่ 7 พ.ย. 2560
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานชี้จำเป็นต้องปฏิรูปพลังงาน หลังประเทศเผชิญความเสี่ยงทั้งเชิงโครงสร้างพลังงาน การบริหารจัดการพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงในอนาคต พร้อมเผยผลการดำเนินงานวางกรอบปฏิรูป "เร่ง ซ่อม สร้าง” และเตรียมความพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า ความจำเป็นและความสำคัญในการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานและปัญหาด้านพลังงานที่เกิดขึ้นนั้นมาจากเรื่องของความเสี่ยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยปัจจุบันการผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์เพื่อการบริโภคภายใน ประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการและมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 80 ของความต้องการใช้ โดยขาดการกระจายความเสี่ยงของแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ขณะที่แหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศมีปริมาณที่จำกัดและลดลงอย่างต่อเนื่องและมีความเสี่ยงในการจัดหาก๊าซธรรมชาติในอนาคต

นอกจากนี้ยังมาจากความเสี่ยงในด้านการบริหารจัดการพลังงาน จากการใช้พลังงานที่ขาดประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ยังไม่ได้รับการปรับปรุงหรือลงทุนอย่างเพียงพอเพื่อรองรับเทคโนโลยีหรือการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็นและก่อให้เกิดความสูญเสียในระบบพลังงานของประเทศ ขณะที่ กฎหมายและระเบียบไม่เอื้อต่อการพัฒนาหรือแข่งขันเสรี รวมไปถึงความเสี่ยงจากบริบทการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อาทิผลจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน หรือแม้แต่การขยายตัวของสังคมเมือง ซึ่งทุกๆ บริบททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของตลาด รูปแบบธุรกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภค 

ทั้งนี้จากการประชุมของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานที่ผ่านมารวม 11 ครั้ง ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรมเชื้อเพลิงพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยได้วางแนวทางไว้ 3 เรื่องที่สำคัญได้แก่
1) "เร่ง" เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีความรับผิดชอบอย่างประหยัดและปลอดภัย ปรับสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงที่คำนึงถึงแนวโน้มการใช้พลังงานโลกที่ก๊าซธรรมชาติเหลวจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยต้องพิจารณากระจายการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลวให้มาจากหลายๆ แหล่งเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ลดความซ้ำซ้อนของกฎหมายในการกำกับดูแลธุรกิจพลังงาน โดยกำหนดแนวปฏิบัติที่ดีและปรับโครงสร้างหน่วยงานที่สำคัญ พร้อมทั้งปรับปรุงกลไก โครงสร้างตลาด และราคาด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน
2) "ซ่อม" ปรับปรุงการสื่อสารข้อมูลกับสาธารณะให้ครบทุกมิติ พัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติที่น่าเชื่อถือ พัฒนาบุคลากรด้านการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้ประกอบการ ประชาชน พร้อมยกระดับและส่งเสริมธรรมาภิบาล 
3) "สร้าง" วางรากฐานการบริหารจัดการและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม เตรียมความพร้อมของกลไกและปัจจัยแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากจุดแข็งประเทศไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงาน อาทิ พัฒนาอุปกรณ์การกักเก็บพลังงาน พัฒนาระบบโครงข่าย Smart Grid พร้อมกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย และทิศทางการพัฒนารถไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

"คณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาถึงนโยบายและแผน รวมถึงประเด็นข้อเสนอการปฏิรูปของร่างยุทธศาสตร์ชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยศึกษา และทบทวนประเด็นการปฏิรูปด้านพลังงานที่สำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางของอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป” ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าว 

ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อช่วยดำเนินการตามมาตรา 18 (3) แห่งพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 โดยมีพลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นประธาน ซึ่งได้กำหนดจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น จำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพฯ วันที่ 28 พ.ย. 2560 จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 8 ธ.ค. 2560 จังหวัดนครสวรรค์ วันที่ 13 ธ.ค. 2560 และจังหวัดระยอง วันที่ 23 ธ.ค. 2560 สำหรับผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนารับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ www.ptit.org หรือส่งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะผ่านอีเมล์ Thaienergyreform2017@gmail.com หรือทางไปรษณีย์ถึง "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน)” เลขที่ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดกรุงเทพฯ 10100 หรือที่เว็บไซต์ http://www.nesdb.go.th 

ข่าว : คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี  / อมรเทพ  ศรีประเสริฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์