ข่าวสาร/กิจกรรม
กรอบแนวคิด เรื่อง แผนปฏิรูปเศรษฐกิจไทย
วันที่ 7 พ.ย. 2560
1. เป้าหมายรวม 
การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง กล่าวคือ เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและโดยเน้นประโยชน์และการสร้างศักยภาพของภาคประชาชน

2. เป้าหมายรอง
    • กระตุ้นความเร็วในการเติบโตของไทย (Speed of Growth)
    • การกระจายโอกาสเศรษฐกิจฐานราก (Quality of Growth)     
    • การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability of Growth)
 ซึ่งที่ 3 ส่วนนี้นำไปสูงการแข่งขันได้ กระจายไปสู่ทุกคน และยั่งยืน

3. แนวคิดและหลักการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Approach)
    • กระตุ้นความเร็วในการเติบโตของไทย - สร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ของการพัฒนาประเทศ (New Engine of Growth) ที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศในอีก 20 ปี ข้างหน้า และช่วยทดแทนอุตสาหกรรมเก่าที่กำลังลดบทบาท ลงไป โดยมีการกำหนดเป้าหมายในอนาคตทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 
       ระยะสั้น – การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เรามีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ Comparative Advantages) อย่างแท้จริง เช่น เกษตรแปรรูป อาหาร ท่องเที่ยว สุขภาพ ยานยนต์ การค้า SMEs และการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะมาต่อยอดขึ้นไป เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเรื่องนี้ ต้องใช้เวลา 1-5 ปี ในการขจัดอุปสรรคในด้านต่างๆ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ ขณะที่รัฐบาลกำลังดำเนินการในระยะกลางและยาว
       ระยะกลาง – การพัฒนาตลาดให้มีความต่อเนื่องกัน (Regional Integration) เป็นฐานการผลิตเดียว เนื่องจากประเทศในกลุ่ม CLMVT มีขนาดตลาด 230 ล้านคน และหากรวมประเทศบังคลาเทศ อีกประมาณ 160 ล้านคน จะทำให้ตลาดมีขนาดถึง 400 ล้านคน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 6-8% ต่อปี โดยมีการเชื่อมโยงกันผ่านโครงข่ายคมนาคม ที่จะเอื้อให้บริษัทต่างๆ เลือกใช้ไทยเป็นฐานในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค (Regional Supply Chain) และกิจกรรมต่างๆ  ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลา 7-10 ปี ในการสร้าง Hard/Soft Infrastructure ในด้านต่างๆ ก่อนที่จะออกดอกผลอย่างแท้จริง
       ระยะยาว - การก้าวเป็น Innovation Hub และ Startup Nation ที่รายได้หลักจะมาจากการสร้างนวัตกรรมของเราเอง และเป็นผู้นำและแหล่งกำเนิดของ Startup ในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ ต้องใช้เวลา 15-20 ปี ในการสร้าง Ecosystem ก่อนที่จะเห็นผลที่ชัดเจน 

    ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาปัจจัยต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน (Sustained Competitive Advantage) ซึ่งรวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การพัฒนาบุคลากร การปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อให้ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ การพัฒนาระบบข้อมูลและ Big data ตลอดจนดำเนินการให้เกิดการแข่งขันตามระบบตลาดเสรีให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ

    • การกระจายโอกาสเศรษฐกิจฐานราก – วางแนวทางใหม่ของการพัฒนาประเทศ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาที่แท้จริง ที่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะตกไปยังพี่น้องประชาชนทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ โดยสร้างกรอบการสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องประชาชนใน 3 ระดับ ที่จะมาช่วยกระจายความเจริญและจัดสรรประโยชน์ ให้กับทุกคนอย่างเหมาะสม 
       ระดับประเทศ/สังคม – ต้องมุ่งสู่การเป็นสังคมที่สมดุล มีการจัดสรรประโยชน์ใหม่ ในระดับประเทศ โดยมีหน่วยงานดูแลจากส่วนกลางอย่างเหมาะสม ในการยกระดับประชาชนในกลุ่มต่างๆ ให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งกรอบนโยบายในส่วนนี้รวมไปถึง การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เน้นการพัฒนาหัวเมืองใหญ่ในภาคต่างๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนากรุงเทพ การจัดสรรงบประมาณให้กับจังหวัดที่ยากจน การสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐาน การปฏิรูประบบภาษี การเร่งดำเนินการตามโครงการประชารัฐ เพื่อให้กลุ่มธุรกิจที่ประสบ-ความสำเร็จช่วยเหลือทุกคนให้เข้มแข็งมากขึ้น 
       ระดับชุมชน – ต้องสร้างชุมชนที่เข้มแข็งที่จะเป็นเสาหลักสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และสามารถร่วมกันพัฒนาความเข้มแข็งจากฐานราก ซึ่งนโยบายในส่วนนี้ รวมไปถึงการจัดให้มีสถาบันการเงินในชุมชนต่างๆ การพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน การส่งเสริมให้มีวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนการวางกรอบเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นต้น 
       ระดับบุคคล – ต้องเพิ่มรายได้ให้กับทุกคนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเกษตรกรและกลุ่มแรงงานที่ยากจน โดยเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนกลุ่มนั้นอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เขาสามารถยืนอยู่บนขาของตนเองได้

    • การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน – ปรับปรุงกลไกที่มีอยู่และสร้างกลไกใหม่ให้กับการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศที่เป็น Top of Class ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ การนำสู่การปฏิบัติ และการติดตามประเมินผล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจไทยให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งทางด้านเทคโนโลยี และ Geopolitics ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในมิติต่างๆ
       หน่วยงานยุทธศาสตร์ (Strategic Unit) – ที่จะทำหน้าที่ต้นหน กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาวที่จะเป็นสมองของประเทศ
       ฐานข้อมูลและระบบข้อมูล (National Statistical Office Reform and National Data Unit) – ที่จะทำหน้าที่ในการสร้างข้อมูล ที่ประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งนำไปสู่การสร้าง Big Data ที่จะสามารถนำไปสู่การวิเคราะห์และใช้ในการกำหนดนโยบายของภาครัฐต่อไป
       หน่วยงานด้านงบประมาณ (Budgetary Unit) – ที่จะทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณที่จะไปสู่ Unit ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
       การปฏิรูปนโยบายการคลัง (Fiscal Policy Reform) – ที่จะรักษาความยั่งยืนทางการคลัง ตลอดจนความยั่งยืนของระบบประกันสังคมและประกันสุขภาพ
       หน่วยงานบริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Management Unit) – ที่จะทำหน้าที่พัฒนา Asset ของภาครัฐให้เต็มศักยภาพ  
       กลไกการนำสู่ปฏิบัติ (Execution Mechanism) – ที่จะยกระดับในการดำเนินการตามที่แนวทางที่รัฐกำหนดไว้ อย่างเป็นระบบ ไม่ล่าช้า
       กลไกการติดตามประเมินผล (Monitoring and Evaluation Unit)

4. Game Changers และ Policy Initiatives ในด้านต่างๆ มุ่งเน้นกลุ่มของมาตรการที่จะทำให้ 
     (1) Paradigm Shift
     (2) เกิดการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ 
     (3) พลิกสถานการณ์ที่เราประสบปัญหาอยู่ และ 
     (4) ต้องทำ 

5. ช่องทางสำหรับแสดงความคิดเห็น
    เว็บไซต์ www.econreform.or.th   โดยเริ่มเปิดรับความคิดเห็นได้ในวันที่ 13 พ.ย. 2560
 
ข่าว : คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี  / อมรเทพ  ศรีประเสริฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์