เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 นายวิโรจน์ นรารักษ์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา เรื่อง "ระบบการประเมินผลกระทบการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ” ณ ห้องราชา 1 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ โดยมี ดร.พิกุล เอกวรางกูร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการวิจัยและประเมินทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอเรื่อง "ระบบการประเมินผลกระทบการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศและคู่มือการประเมินผลกระทบ” รองศาสตราจารย์ พร้อมพิไล บัวสุวรรณ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้อภิปราย และ ดร.มารยาท สมุทรสาคร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. เป็นผู้ดำเนินรายการและผู้อภิปราย หลังจากนั้นเป็นการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนา
การสัมมนาในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการประเมินผลกระทบการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ที่ สศช. ได้ว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาฯ ระยะเวลาดำเนินการ 15 เดือน ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2559 – 3 พฤศจิกายน 2560 โดยมีวัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อจัดทำโมเดลระบบการติดตามประเมินผลกระทบการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เพื่อรองรับการตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินงานภาครัฐ บริบทการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ของประเทศหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พุทธศักราช 2560 และร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยผลที่คาดหวังจากการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ การปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการยุทธศาสตร์และนโยบายของภาครัฐให้ครบวงจร (Policy Cycle) นำไปสู่การแปลงแผนสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลยุทธศาสตร์และแผนต่างๆ
สาระสำคัญของระบบการประเมินผลกระทบการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ มุ่งเน้นการประเมินผลเพื่อการพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับกิจกรรมการประเมินทั้งก่อน (Ex-ante) ระหว่าง (On-going) และหลัง (Ex-post) ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เน้นแนวคิดเชิงระบบ คือ เป็นการผสานวิธีระหว่างโมเดลตรรกะ (Logical Model) กับการประเมินโดยใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) ที่ช่วยให้มองความสัมพันธ์และความสอดคล้องระหว่างกิจกรรมที่ทำกับผลที่ต้องการให้เกิดขึ้น โดยที่กระบวนการประเมินผลกระทบมีทั้งหมด 7 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 กำหนดสิ่งที่มุ่งประเมิน ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมาย ขั้นที่ 2 วิเคราะห์สิ่งที่มุ่งประเมิน ขั้นที่ 3 การออกแบบการประเมิน ขั้นที่ 4 การพัฒนาเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ขั้นที่ 5 การเก็บรวบรวมข้อมูล ขั้นที่ 6 การวิเคราะห์ข้อมูล และขั้นที่ 7 การจัดทำรายงานเผยแพร่ข้อค้นพบจากการประเมินและข้อเสนอแนะ ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบฯ จะต้องมีความเชื่อมโยงกันทั้งในระดับพื้นที่ (Area Based) ระดับภารกิจ (Function Based) และระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Based) ตลอดจนให้เห็นความสำคัญกับการพัฒนาวัฒนธรรมการติดตามประเมินผล (Culture of Evaluation) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันของวัตถุประสงค์การติดตามประเมินที่มุ่งสู่การพัฒนางานที่ดำเนินการ
ในส่วนของคู่มือการประเมินผลกระทบจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ จัดทำขึ้นสำหรับให้ผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ใน สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบประเมินผลและตัวชี้วัดการพัฒนายุทธศาสตร์สำคัญ ได้เข้าใจสาระของระบบการประเมินผลกระทบฯ และสามารถนำไปใช้ในการวางระบบการประเมินผลกระทบจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ตรงตามเป้าหมาย และตัวชี้วัดที่กำหนด โดยคู่มือมีเนื้อหาประกอบด้วย 3 บท ได้แก่ (1) ความรู้เบื้องต้นในการประเมินผลกระทบ (2) ระบบการประเมินผลกระทบการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ และ (3) การวางระบบนำเข้าข้อมูลแผนงาน/โครงการจากกระทรวงและพื้นที่ และเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลกระทบ
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรมหาชน รวมทั้งสิ้นประมาณ 120 คนร่วมรับฟังการสัมมนาครั้งนี้ด้วย สำหรับความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ จะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงรายงานและคู่มือการประเมินผลกระทบให้มีความสมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาแนวคิด วิธีการ และระบบการประเมินผล รวมทั้งตัวชี้วัดผลกระทบจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับกระทรวง และระดับยุทธศาสตร์ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมต่อไป
โอกาสนี้ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้แทน สศช. มอบของที่ระลึกให้กับ ดร.พิกุล เอกวรางกูร และ รองศาสตราจารย์ พร้อมพิไล บัวสุวรรณ ก่อนสิ้นสุดการสัมมนา
ข่าว : พุทธิดา เชี่ยวชาญพานิชย์
ภาพ : วันทนีย์ สุขรัตนี และ อมรเทพ ศรีประเสริฐ
|