ข่าวสาร/กิจกรรม
ผลประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ 
วันที่ 3 ต.ค. 2560
เมื่อวันพุธที่ 20 กันยายน 2560 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Sub-region Economic Cooperation Program : GMS) ของไทย นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (22nd GMS Ministerial Conference) ณ โรงแรมเชอราตัน กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยกระทรวงวางแผนและการลงทุน เป็นเจ้าภาพการประชุมร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ภายใต้หัวข้อหลัก "ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ด้วยความร่วมมือที่แข็งแกร่งและมุ่งสู่การปฏิบัติ” (Greater GMS Achievements through Stronger and Pragmatic Cooperation) โดยมี นายเหวียน ชิ ดง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นประธานการประชุมฯ ร่วมกับนายสตีเฟน กรอฟ รองประธานฝ่ายเอเชียตะวันออก-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และการประชุมฯ มีนายซก เจนดา โซเพีย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา ราชอาณาจักรกัมพูชา นายซยู่ ฮอง ไค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สาธารณรัฐประชาชนจีน ดร.สุพรรณ แก้วมีชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแผนการและการลงทุน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายเซ็ท อ่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการเงิน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เข้าร่วม

การประชุมฯ ครั้งนี้ ยังประกอบด้วยการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1. การประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (GMS Ministerial Retreat) โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS ของไทย เข้าร่วมพร้อมด้วย ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และดร.ปิยนุช วุฒิสอน รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2. การประชุมเวทีหารือเพื่อพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 9 (9th GMS Economic Corridors Forum) โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นประธานการประชุมฯ และ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ และ 3. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสแผนงาน GMS (GMS Senior Officials Meeting) โดยมี ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย โดยการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 แผนงาน GMS ยังมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากหุ้นส่วนการพัฒนาต่างๆ ภาคเอกชน (สภาธุรกิจ GMS) และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เข้าร่วมประชุมฯ จำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. รัฐมนตรี GMS รับทราบความก้าวหน้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ที่ดำเนินเข้าสู่ปีที่ 25 ในปีนี้ โดยสาขาความร่วมมือที่มีความก้าวหน้าสูง อาทิ สาขาคมนาคม ได้จัดทำยุทธศาสตร์สาขาคมนาคมของอนุภูมิภาคฉบับใหม่ (Transport Sector Strategy: TSS) แล้วเสร็จ สาขาการอำนวยความสะดวกทางการค้าและคมนาคมขนส่ง ได้เริ่มดำเนินการ "ระยะแรกเริ่ม” (Early Harvest) ของความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Cross-border Transport Agreement: CBTA) ในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 เพื่อเคลื่อนย้ายรถบรรทุกและยานพาหนะระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างเสรีมากขึ้น สาขาพลังงาน เริ่มบูรณาการเครือข่ายรับส่งไฟฟ้าของแต่ละประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างหลายภาคส่วน และสาขาการพัฒนาเมือง ได้เริ่มผลักดันการพัฒนาเมืองและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจใน GMS เพื่อแปลงเปลี่ยนแนวระเบียงคมนาคมเป็นแนวระเบียงเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์แบบ

2. รัฐมนตรี GMS ได้ให้ความเห็นชอบต่อผลการทบทวนระยะกลางรอบของกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS (2555-2565) (Mid-Term Review of GMS Strategic Framework) ซึ่งเน้นย้ำความสอดคล้องของกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS ในภาพรวม กับยุทธศาสตร์รายสาขา และวาระการพัฒนาของประเทศสมาชิก และรัฐมนตรี GMS ยังได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการฮานอย (Hanoi Action Plan) ปี 2561-2565 ซึ่งถือเป็นกรอบและแนวทางการดำเนินงานของแผนงาน GMS ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะแนวระเบียงเศรษฐกิจ มุ่งรักษาสมดุลการพัฒนาความเชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อกระจายผลประโยชน์การเติบโตอย่างครอบคลุม รวมทั้งข้อเสนอให้จัดตั้งสาขาความร่วมมือใหม่คือสาขาความร่วมมือด้านสาธารณสุข (Health Cooperation Working Group) ใน GMS

3. รัฐมนตรี GMS ได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 (RIF 2022) ซึ่งเป็นแผนงาน/โครงการและร่างเอกสารที่มีความเคลื่อนไหว (Living Documents) สามารถทบทวนและปรับปรุงได้ทุกเมื่อ โดยกรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 ปัจจุบันประกอบด้วยโครงการลงทุนและโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการจำนวน 222 โครงการ รวมมูลค่าประมาณ 6.4 หมื่นล้านเหรียญ สรอ. อย่างไรก็ดี โครงการจำนวนกว่าครึ่งยังไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณลงทุน ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงเสนอให้ ADB จัดเวทีการลงทุน (Investment Forum) เพื่อนำเสนอกลไกทางการเงินในรูปแบบใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุน นอกจากนี้ ควรต้องศึกษาในเชิงลึกและหารูปแบบที่เหมาะสมเพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในการลงทุนโครงการภายใต้ RIF 2022 

4. รัฐมนตรี GMS รับทราบการดำเนินการระยะแรกเริ่มตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนใน GMS (CBTA) ซึ่งได้เริ่มขึ้นแล้วในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 โดยประเทศสมาชิกได้เริ่มออกใบอนุญาตขนส่งทางถนนใน GMS แล้ว อย่างไรก็ดี เมียนมาจะมีความพร้อมเข้าร่วมในระยะ Early Harvest ในวันที่ 1 มกราคม 2562 ต่อไป การดำเนินการในระยะ Early Harvest ดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายรถบรรทุกและยานพาหนะข้ามแดน และปรับปรุงกระบวนการผ่านแดนและศุลกากรให้มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนและระยะเวลา ส่งผลให้ลดต้นทุนทางโลจิสติกส์ของภาคเอกชน

5. รัฐมนตรี GMS ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของความร่วมมือในภูมิภาคและการบูรณาการในภูมิภาค โดยสนับสนุนหลักการภูมิภาคแบบเปิดกว้าง (Open Regionalism) และผลการประชุมเวทีหารือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งความร่วมมือระหว่างประเทศ และประสานความสอดคล้องการดำเนินงานระหว่างแผนงาน GMS ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เวทีหารือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และแผนงานอื่น ๆ ในภูมิภาค

6. รัฐมนตรี GMS รับทราบกำหนดการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 6 (6th GMS Summit) ซี่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2561 ณ เมืองวุงเตา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

7. การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 23 แผนงาน GMS และเวทีหารือการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 10 (ECF-10) กำหนดจัดขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

ข่าว/ภาพ : สำนักงานประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์