ข่าวสาร/กิจกรรม
ตั้งเป้าปฏิรูปสื่อสารมวลชนสู่ดุลยภาพแห่งเสรีภาพบนพื้นฐานจริยธรรมและการกำกับดูแลบนพื้นฐานประชาธิปไตย
วันที่ 2 ต.ค. 2560
นายจิรชัย  มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยถึงการกำหนดกรอบแนวทางและกระบวนการในการจัดทำแผนการปฏิรูปว่า ในระยะแรกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้รวบรวมและสรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนที่ผ่านมา เพื่อกำหนดกรอบแนวคิดในการปฏิรูป ที่เน้นการปฎิรูปให้เกิดดุลยภาพทางการสื่อสารระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ ภาครัฐ สื่อสารมวลชน และประชาชนผู้บริโภค รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกียวข้องควรเน้นการส่งเสริมมาตรฐาน คุณภาพ คุณธรรมและจริยธรรมที่ดี มากกว่าการกำกับควบคุม 

จากนั้นจึงกำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อการปฏิรูป ประกอบด้วย เป้าหมาย พันธกิจ ปรัชญาแนวคิด กรอบยุทธศาสตร์ และวิธีการทำงาน ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นชอบแล้ว ดังนี้
เป้าหมาย  "ดุลยภาพแห่งเสรีภาพบนพื้นฐานจริยธรรม และการกำกับดูแลบนพื้นฐานประชาธิปไตย” โดยมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลัก 3 ส่วน คือ ภาครัฐ ผู้ผลิต และผู้บริโภค ซึ่งต่างมีความสัมพันธ์ต่อกัน ได้แก่ รัฐต่อผู้ผลิต มีความสัมพันธ์ในเรื่องเสรีภาพและความสุจริตทางวิชาชีพ ผู้ผลิตต่อผู้บริโภค สัมพันธ์กันในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม และความรู้เท่าทันต่อข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนผู้บริโภคต่อรัฐ สัมพันธ์กันในเรื่องสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร 

พันธกิจ "พัฒนาการทำงานของสื่อให้มีเสรีภาพบนรากฐานของการมีจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อสังคม ตามหลักการของธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนวางแนวทางในการรณรงค์ให้ผู้ผลิต ผู้เสพข่าวสารและสาระอื่นๆ ในพื้นที่ดิจิทัลด้วยสำนึกของความรับผิดชอบและมีจริยธรรม”
ปรัชญาแนวคิด "สร้างดุลยภาพระหว่างการกำกับที่มีความชอบธรรมและเสรีภาพของการทำหน้าที่ของสื่อและการใช้พื้นที่ดิจิทัลเพื่อการสื่อสารอย่างมีจรรยาบรรณ ดำรงรักษาเสรีภาพของการแสดงออก การรับรู้ของประชาชน ด้วยความเชื่อว่าเสรีภาพของการสื่อสารคือเสรีภาพของประชาชนตามแนวทางของประชาธิปไตย”
นายจิรชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กรรมการทุกท่านได้ร่วมกันพิจารณาคัดแยกข้อเสนอการปฏิรูปที่ผ่านมาและจัดส่งให้ฝ่ายเลขานุการเพื่อรวบรวมสรุปเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป โดยยึดกรอบการดำเนินงานเพื่อการปฏิรูปที่คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบแล้วในการกลั่นกรองคัดแยก โดยการคัดแยกจะดำเนินการ 2 แนวทาง ได้แก่  (1) ตามกรอบกลไกยุทธศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย 5 กลุ่ม คือ ด้านกฎหมาย ด้านมาตรฐานวิชาชีพ ด้านภารกิจเพื่อประชาชน ด้านการสร้างจิตสำนึก และด้านพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และ (2) ตามความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลัก ซึ่งประกอบด้วย 6 กลุ่ม ได้แก่ ภาครัฐต่อผู้ผลิต ภาครัฐต่อผู้บริโภค ผู้ผลิตต่อภาครัฐ ผู้ผลิตต่อผู้บริโภค ผู้บริโภคต่อภาครัฐ และผู้บริโภคต่อผู้ผลิต เพื่อพิจารณาสัดส่วนของข้อเสนอตามกลุ่มดังกล่าว พิจารณาบริบทในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การปรับแก้ไขกฎหมายที่แล้วเสร็จ และการเกิดขึ้นของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นต้น เพื่อพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอที่ยังมีความจำเป็น และควรสอบถามความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเสนอการปฏิรูปจากหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ จะรวบรวมประเด็นการปฏิรูปอื่นๆ มาประกอบการพิจารณาคัดกรองด้วย เช่น การปฏิรูปการกำกับดูแลกิจการอวกาศและวงโคจรดาวเทียม การปฏิรูประบบและเครื่องมือสื่อสารและโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนกิจการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น
ทั้งนี้ ในระยะต่อไปภายหลังการสรุปและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดเสร็จแล้ว จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยอาจแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มหน่วยงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐ (2) กลุ่มสื่อสารมวลชน (3) กลุ่มตัวแทนประชาชนผู้บริโภคสื่อ และ (4) กลุ่มผู้ใช้สื่อ Social Media (Prosumer) เพื่อรับฟังและระดมความคิดเห็นต่างร่างแผนการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศต่อไป

ข่าว : รวีวรรณ  เลียดทอง
ภาพ : อมรเทพ  ศรีประเสริฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์