ข่าวสาร/กิจกรรม
IMF หารือ สศช. ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย
วันที่ 2 ต.ค. 2560
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมเดช สนิทวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดร.วิชญายุทธ  บุญชิต ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. เป็นประธานในการหารือกับคณะผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นำโดย Dr.Ana Corbacho, Division Chief, ASEAN 2, Asia and Pacific Department (APD) เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุด ในครึ่งแรกของปี 2560 สถานการณ์ล่าสุดและประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 และปี 2561 

ในการประชุมหารือ ดร. วิชญายุทธ ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย โดยชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในครึ่งปีแรกสอดคล้องกับที่ สศช. ได้คาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้า  โดยเฉพาะในไตรมาสที่สองของปี 2560 ซึ่งขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อย เมื่อรวมกับแนวโน้มการขยายตัวที่เร่งขึ้นในครึ่งปีหลังทำให้ สศช. ปรับเพิ่มค่ากลางประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี 2560  อีกเล็กน้อยจากเดิมร้อยละ 3.5 เป็นร้อยละ 3.7 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา 

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2560 นั้น เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญๆ ยังแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจไทย และเป็นไปตามการคาดการณ์ของ สศช. ตามที่ได้ระบุไว้ในรายงานเศรษฐกิจล่าสุด ทั้งในด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเร่งขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังขยายตัวสูงกว่าในครึ่งปีแรก ในขณะที่การผลิตภาคเกษตรยังขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้หลายๆ หน่วยงานกำลังปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้และค่าประมาณการเข้ามาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าประมาณการของ สศช. มากขึ้น และบางหน่วยงานปรับสูงกว่าค่าประมาณการล่าสุดของ สศช. เล็กน้อย
ทั้งนี้ ผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ซักถามถึงสาเหตุการลดลงของการลงทุนภาครัฐในไตรมาสที่สอง ซึ่ง ดร. วิชญายุทธ ได้กล่าวว่ามีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) ฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปี 2559 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายโครงการลงทุนในระดับท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานรากภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัด (2) การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนของกระทรวงสำคัญๆ ในช่วงไตรมาสก่อนหน้า (3) การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมยังอยู่ในระยะแรกของการดำเนินการ และ (4) ค่าใช้จ่ายบางรายการที่เบิกจ่ายจากงบลงทุนบางส่วนไม่นับเป็นรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบคำจำกัดความของระบบบัญชีประชาชาติ อย่างไรก็ตาม การลดลงของการลงทุนภาครัฐเป็นเพียงการลดลงชั่วคราวและเกิดขึ้นเฉพาะในส่วนของการลงทุนของรัฐบาลเท่านั้น ในขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูงต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีหลังการลงทุนภาครัฐจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกและขยายตัวเร่งขึ้น

นอกจากนั้น ผู้แทนกองทุนทางการเงินระหว่างประเทศยังได้ซักถามเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งซักถามถึงมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ซึ่ง ดร. วิชญายุทธ ได้ตอบข้อซักถามสำคัญๆ รวมทั้งชี้แจงค่าประมาณการเศรษฐกิจของ สศช. และแนวโน้มทิศทางการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบและสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ในปี 2561 โดยในตอนหนึ่งได้กล่าวว่า ข้อจำกัดด้านหนี้สินครัวเรือนที่ยังมีการพูดถึงกันอยู่ในขณะนี้นั้นในข้อเท็จจริงแล้วข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติได้แสดงให้เห็นว่าเราได้ผ่านจุดที่มีความรุนแรงมากที่สุดมาแล้วและสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้กำลังปรับตัวลดลง นอกจากนั้นยังได้กล่าวเน้นว่า การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 และแนวโน้มการขยายตัวที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีในปี 2561 เป็นเครื่องยืนยันว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามที่ สศช. ได้เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงของการจัดเตรียมแผนฯ 12 (เฉลี่ยร้อยละ 3.8 และอาจสูงถึงเฉลี่ยร้อยละ 4.3 ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจโลกขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.6) ซึ่ง สศช. ได้เคยพูดถึงในการบรรยายสรุปให้กับคณะผู้แทนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาแล้วหลายครั้งในการพบปะหารือกันในช่วงก่อนหน้า แม้ว่าในขณะนั้นหลายหน่วยงานจะคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางไว้ค่อนข้างต่ำก็ตาม

ข่าว : ช่อผกา แก้วใหญ่
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์