ข่าวสาร/กิจกรรม
“พระยาสุริยานุวัตร” รัฐบุรุษ 5 แผ่นดิน นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย
วันที่ 29 ก.ย. 2560
รายงานพิเศษ

"พระยาสุริยานุวัตร” รัฐบุรุษ 5 แผ่นดิน นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย

"มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร” เป็นปูชนียบุคคลผู้มีคุณูปการต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในหลายด้าน เนื่องจากเป็นผู้มีความคิดก้าวหน้า และความคิดของท่านมีความทันสมัยอยู่เสมอ แม้เวลาจะล่วงเลยไป ที่สำคัญความคิดที่แสดงออกทั้งนโยบาย
ที่เสนอเมื่อครั้งเป็นเสนาบดีหรือในงานเขียน ก็เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญมากกว่าเพื่อตนเอง 
งานเขียนสำคัญคือ "ทรัพย์ศาสตร์” ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย จนได้รับการยกย่องเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกของประเทศไทย จึงนับเป็นบุคคลสำคัญที่ควรมีชื่อจารึกลงในประวัติศาสตร์ของไทย  
ชีวิตวัยเด็กศึกษาในต่างแดน  

"พระยาสุริยานุวัตร” มีนามเดิมว่า เกิด บุนนาค เกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2405 เป็นบุตรพระยามนตรี
สุริยวงศ์ (ชุ่ม  บุนนาค) สมุหกลาโหมฝ่ายเหนือ กับหม่อมศิลา เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษาหนังสือไทยที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้เป็นลุง ต่อมาในปี 2414 อายุ 9 ขวบ ได้เดินทางไปศึกษาวิชาที่ปีนังและกัลกัตตาอยู่ 5 ปี จึงกลับประเทศ และเข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อปี 2419 ในตำแหน่งมหาดเล็กวิเศษในกรมมหาดเล็ก ด้วยความสามารถที่โดดเด่นจึงมีความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาสุริยานุวัตร” เมื่อปี 2439   
ผลงานของพระยาสุริยานุวัตรเมื่อรับราชการ        
                          
พระยาสุริยานุวัตร มีผลงานที่น่ายกย่อง ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งใด ทั้งการเป็นอัครทูต เสนาบดีกระทรวง องคมนตรี และรัฐมนตรี ก็สามารถทำงานได้อย่างดีเลิศ จึงมีผลงานมากมาย ที่สำคัญ อาทิ 

   1. แต่งตำราการทูตภาษาไทยเล่มแรก เมื่อปี 2430 ระหว่างรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยทูตประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ ได้เรียบเรียงหนังสือเรื่อง  "ขนบธรรมเนียมราชการต่างประเทศ” ซึ่งถือเป็นตำราการปฏิบัติระหว่างประเทศเรื่องการทูตภาษาไทยเล่มแรก 
   2.ถวายการดูแลพระราชโอรสที่กำลังศึกษาอยู่ในยุโรป ปี 2439 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และรัสเซีย รวม 4 ประเทศ ด้วยความที่เป็นผู้ใกล้ชิดและไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดูแลพระราชโอรสที่กำลังศึกษาอยู่ในยุโรป ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) 
ต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระประชวรไส้ติ่งอักเสบ ต้องถวายการผ่าตัด ท่านเห็นว่าหากรอรับพระบรมราชานุญาตจะไม่ทันการณ์ จึงอนุญาตให้แพทย์ถวายการผ่าตัด โดยขอถวายศีรษะเป็นราชพลี และปรากฏว่าพระราชโอรสทรงปลอดภัย  
   3. ทำโค้ดโทรเลขใช้ในการทูตครั้งแรก ในปี 2444 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นอัครราชทูต พระยาสุริยานุวัตรได้ดำริทำโค้ดโทรเลขเพื่อใช้ในการทูตของไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ชื่อ "สุริยาโค้ด” และ "สยามมาคูโต” อย่างละเล่ม โดยใช้ในราชการมาตั้งแต่ปี 2447 และยังใช้ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน  
   4. เสนอแนวคิดให้ตั้งธนาคารชาติ ท่านได้เสนอให้ตั้งธนาคารแห่งชาติออกทุนให้ชาวนากู้โดยเก็บดอกเบี้ยแต่พอควร ดังปรากฏในจดหมายที่กราบทูลกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ลงวันที่ 13 มีนาคม 2445 ต่อมาเมื่อท่านเขียนหนังสือ "เศรษฐกิจ-การเมือง” ในปี 2477 ได้ยกร่างโครงการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และในที่สุดได้มีการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติขึ้นในปี 2485 
   5. มีบทบาทในการเจรจาเพื่อทำอนุสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส งานสำคัญยิ่งของพระยาสุริยานุวัตรคือ เป็นผู้มีบทบาทในการเจรจาเพื่อทำอนุสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ฉบับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2446 ได้สำเร็จ โดยระบุให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรี  
   6. เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ พระยาสุริยานุวัตรกลับประเทศไทยเมื่อปี 2448 และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ทำหน้าที่กำกับดูแลการพัฒนาประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการโยธา การรถไฟ  และการไปรษณีย์โทรเลข ทั้งที่ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปีเต็ม ท่านได้ปรับปรุงและสร้างผลงานไว้มากมาย เช่น การสร้างทางรถไฟ การปรับปรุงการบริการไปรษณีย์โทรเลข การเปิดสำนักงานไปรษณีย์ตามสถานีรถไฟ รวมทั้งเป็นผู้หนึ่งในกลุ่มเสนาบดีที่ริเริ่มการสร้างพระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5
   7. เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงสำคัญของแผ่นดิน ต่อมาปี 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุริยานุวัตรย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งไม่เคยมีสามัญชนคนใดเคยได้รับพระมหากรุณาเช่นนี้มาก่อน เนื่องจากเป็นกระทรวงสำคัญที่เปรียบเสมือนหัวใจของแผ่นดิน ระหว่างดำรงตำแหน่งได้สร้างผลงานที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอากร โดยโอนกิจการฝิ่นมาเป็นของรัฐบาล ซึ่งช่วยให้เกิดผลดีในระยะยาว เนื่องจากช่วยขจัดการรั่วไหลรายได้ของรัฐบาล ทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น 

การพัฒนาระบบเงินตรา โดยเปลี่ยนระบบเงินจาก "ระบบมาตราเงิน” เป็น "ระบบมาตราทองคำ” และ คิดทำสตางค์ขึ้นใช้แทนอัฐ ซึ่งสำเร็จผลต่อมาภายหลังที่ท่านพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีแล้ว  
รัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดินให้ปลูกสร้างบ้าน

ผลจากการปฏิบัติราชการด้วยความเพียร ซื่อสัตย์ สุจริต และสร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับประเทศชาติมาโดยตลอด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานที่ดินให้ปลูกสร้างบ้าน ซึ่งก็คือ "ตึกสุริยานุวัตร” อันเป็นที่ทำการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในปัจจุบัน และพระราชทาน "หีบทอง” แก่พระยาสุริยานุวัตร โดยมีพระราชหัตถเลขาความตอนหนึ่งว่า "เจ้าได้แสดงให้เห็นเป็นที่มั่นใจว่า เจ้าเป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากคนหนึ่ง ซึ่งได้ความร้อนใจมาด้วยกันนานแล้ว”    

ชีวิตและผลงานภายหลังออกจากราชการ

ในการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีอากร โดยโอนกิจการฝิ่นมาเป็นของรัฐบาลนั้น ทำให้เจ้าภาษีนายอากรไม่พอใจ เพื่อยุติปัญหา พระยาสุริยานุวัตรจึงได้กราบถวายบังคมลาหยุดพักราชการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2450 และลาออกจากราชการในที่สุด หลังจากนั้นใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเขียนหนังสือทรัพย์ศาสตร์ขึ้น 3 เล่ม 
ซึ่งนับเป็นมรดกล้ำค่าของชาวไทย และได้รับการยกย่องว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของประเทศไทย ที่มีความคิดก้าวล้ำหน้า จนแทบไม่มีใครในยุคนั้นตามทัน  

เมื่อมีการพิมพ์ "ทรัพย์ศาสตร์” เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2454 ปรากฏว่าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง จนทางราชการขอร้องไม่ให้เผยแพร่ ราว 20 ปีต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ทองเปลว  ชลภูมิ ได้นำ 
"ทรัพย์ศาสตร์” เล่ม 1 มาพิมพ์ใหม่โดยเปลี่ยนชื่อเป็น "เศรษฐวิทยาชั้นต้น” แต่คงเนื้อหาไว้อย่างเดิม ต่อมาในปี 2477 ทรัพย์ศาสตร์ เล่ม 3 จึงได้รับการตีพิมพ์โดยใช้ชื่อว่า "เศรษฐกิจ-การเมือง” หรือ "เศรษฐวิทยา เล่ม 3"  

แม้ว่าแนวคิดต่างๆ ในหนังสือทรัพย์ศาสตร์นี้จะมีมานานถึง 105 ปีแล้ว  แต่นับว่ามีความก้าวหน้าและมองการณ์ไกลเป็นอย่างยิ่ง เพราะแนวคิดเหล่านี้หลายๆ อย่างได้มีการนำมาปฏิบัติในระยะต่อมา เช่น โครงการธนาคารชาติ การให้การสงเคราะห์คนยากจนพร้อมยกระดับความเป็นอยู่ การกระจายการผลิตทางการเกษตร  การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับการทำมาหากินของราษฎร และการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาในระดับประถม โดยรัฐให้การสนับสนุน เป็นต้น จนเป็นหนังสือ 1 ใน 100 เล่ม ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แนะนำว่าคนไทยควรหามาอ่าน
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี ในปี 2469  และเมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี "พระยาสุริยานุวัตร” ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ทำหน้าที่ที่ปรึกษาอาวุโสของรัฐบาล

เกียรติประวัติและคุณความดีที่ไม่มีวันตาย

"พระยาสุริยานุวัตร” ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองตีบเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2479 ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น สิริอายุ 74 ปี และในวันที่ 30 กันยายน 2560 ที่จะถึงนี้ นับเป็นวันที่ท่านถึงแก่อนิจกรรมเป็นเวลา 81 ปีพอดี 

แม้กาลเวลาจะผ่านมานานแล้ว แต่เกียรติประวัติและคุณความดีของท่านจะจารึกอยู่ในหัวใจของคนไทยตลอดไป

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์