ข่าวสาร/กิจกรรม
“บ้านสุริยานุวัตร” จากบ้านของนักเศรษฐศาสตร์ไทยคนแรก สู่อาคารสำนักงานของสภาพัฒน์
วันที่ 29 ก.ย. 2560
รายงานพิเศษ

"บ้านสุริยานุวัตร” สร้างขึ้นในราวปี 2448 เป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพื่อตอบแทนคุณความดี ในการปฏิบัติราชการด้วยความสามารถ ความเพียร และซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอดของ "พระยาสุริยานุวัตร” ออกแบบก่อสร้างโดยนายมารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน 
คนเดียวกับที่ออกแบบก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม 
ความบังเอิญอย่างน่าอัศจรรย์   

"บ้านสุริยานุวัตร” มีประวัติความเป็นมาที่กล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของตำนานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย เนื่องจากเป็นอาคารที่ทำงานถาวรหลังแรกของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน แต่ความสำคัญมิได้อยู่เพียงแค่นั้น จากการค้นคว้าถึงความเป็นมา ได้ค้นพบถึงความบังเอิญอย่างน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งของบ้านสุริยานุวัตรกับภารกิจหลักของ สศช. นั่นคือ บ้านหลังนี้ในอดีตเคยเป็นบ้านพักอาศัยของ มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร ซึ่งมีประวัติการทำงานและผลงานที่น่ายกย่อง และยังเป็น "นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย” ผู้เขียน "ทรัพย์ศาสตร์” ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย  

จากการสอบถาม นายสุนทร  หงส์ลดารมภ์ อดีตเลขาธิการฯ ท่านแรกขณะยังมีชีวิตอยู่ ว่าทราบหรือไม่ว่าบ้านหลังนี้เดิมเป็นของใคร ท่านกล่าวว่า ไม่ทราบมาก่อน ตอนซื้อพิจารณาว่าเป็นสถานที่ใกล้ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากลักษณะงานของ สศช. ต้องติดต่อใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จึงได้ตัดสินใจซื้อตึกหลังนี้มาเป็นที่ทำการตั้งแต่ปี 2493 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2532 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติที่ต้องอนุรักษ์ไว้ในฐานะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ

คุณค่าของบ้านสุริยานุวัตรที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ 

บ้านหลังนี้ยังทรงคุณค่าด้านจิตใจและด้านประวัติศาตร์ เปรียบเสมือนอนุสรณ์ที่พระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้กับเสนาบดีซึ่งทรงไว้วางพระราชหฤทัยทั้งในราชการงานเมืองและพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ อีกทั้งสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระราชทานทรัพย์เพื่อปลูกสร้างบ้าน ให้เป็นที่พำนักของพระยาสุริยานุวัตร บุรุษผู้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงให้กับประเทศชาติเป็นเวลาเกือบ 30 ปี โดยท่านได้เขียนหนังสือ "ทรัพย์ศาสตร์” และ "เศรษฐศาตร์-การเมือง” ซึ่งเป็นตำราทางเศรษฐศาสตร์ภาษาไทยเล่มแรกขึ้นที่บ้านหลังนี้ 

ที่สำคัญคือ เป็นที่ทำงานของผู้ซึ่งทำหน้าที่ให้ความเห็น เสนอนโยบายทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศมาตั้งแต่ต้น คือตั้งแต่สมัยพระยาสุริยานุวัตร ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญมากมาย และสุดท้ายเป็นรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังเคยใช้เป็นที่ประชุมของผู้ก่อการล้มพระยามโนปกรณ์นิติธาดาอีกด้วย  
การบูรณะซ่อมแซมและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ 

บ้านหลังนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมใหญ่ครั้งแรกในสมัย ดร.พิสิฎฐ  ภัคเกษม เป็นเลขาธิการฯ และตั้งชื่อว่า "ตึกสุริยานุวัตร” รวมทั้งได้สืบหาทายาทของ "พระยาสุริยานุวัตร” ซึ่งได้พบนางประชงค์  บุนนาค สะใภ้ของท่าน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัย 83 ปี และนับเป็นทายาทใกล้ชิดเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะนั้น เนื่องจากบุตรและธิดารวม 7 คนได้ถึงแก่กรรมหมดแล้ว และทุกท่านไม่มีทายาทเลย โดยนางประชงค์ ได้มอบภาพเหมือนพระยาสุริยานุวัตร และเครื่องใช้ส่วนตัวอื่นๆ อันประมาณค่ามิได้ให้แก่ สศช.  

ต่อมาสมัย ดร.อำพน  กิตติอำพน เป็นเลขาธิการฯ ได้บูรณะตึกสุริยานุวัตรและจัดทำเป็น "พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ” เพื่อเป็นแหล่งบอกเล่าประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย รวมทั้งมีความหวังว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะเป็นที่ประกาศเกียรติคุณของมหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร ปูชนียบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน ให้กับชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รับทราบถึงคุณูปการที่ท่านได้สร้างให้แก่ประเทศไทยอย่างมากมายเหลือเกิน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ฯ เมื่อวันพุธที่ 7 มีนาคม 2555 

อาจกล่าวได้ว่า "บ้านสุริยานุวัตร” แห่งนี้ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของประเทศที่เกิดขึ้นในช่วง 112 ปีที่ผ่านมา นับแต่ได้ก่อสร้างขึ้นมา จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาสัมผัสบรรยากาศบ้านสุริยานุวัตร พร้อมเรียนรู้และย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญมากมายที่ก่อเกิดขึ้น ณ บ้านหลังนี้ได้ทุกวันในเวลาราชการ อันเป็นบริการแก่สังคมที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ 

ติดต่อเข้าเยี่ยมชม "บ้านสุริยานุวัตร” ได้ที่กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โทร. 0 2628 2847, 0 2280 4085 ต่อ 2103-2110

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์