โดยในช่วงของการกล่าวเปิดสัมมนานั้น ดร. วิชญายุทธ บุญชิต ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการสัมมนาว่า การจัดสัมมนาทางวิชาการของสายงานเศรษฐกิจนั้น สศช. ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางวิชาการของเจ้าหน้าที่ในสายงาน การนำเสนอผลงานทางวิชาการของเจ้าหน้าที่ในสายงาน และการแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อคิดเห็นกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมสัมมนา ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทางวิชการอื่นๆ โดยในปีนี้ได้กำหนดให้จัดขึ้นในหัวข้อเรื่อง "เจาะลึกโครงสร้างเศรษฐกิจไทยด้วยตาราง I-O” เนื่องจากจุดมุ่งหมายใน 3 ด้าน โดยในด้านแรกนั้น เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ได้ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการผลิตและกำหนดเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูง ซึ่งในการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ (1) การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตของไทยในช่วงที่ผ่านมาทั้งทางด้านการผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของความเชื่อมโยงในภาคการผลิตที่สำคัญๆ ทั้งความเชื่อมโยงไปข้างหน้าของภาคการผลิตต้นน้ำในการที่จะเอื้ออำนวยการขยายตัวของภาคการผลิตอื่นๆ รวมทั้งความเชื่อมโยงไปข้างหลังที่มีนัยสำคัญต่อการกระจายตัวของการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ (2) ฐานะล่าสุดของภาคการผลิตที่สำคัญๆ ของไทยในห่วงโซ่การผลิตของโลกว่าอยู่ ณ จุดใด ซึ่งจะมีนัยสำคัญต่อการกำหนดแนวทางการพัฒนาภาคการผลิตในอนาคต รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศสำคัญในห่วงโซ่การผลิตของโลก และ (3) ภายใต้โครงสร้างการผลิตปัจจุบัน ระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และพลวัตการสะสมทุนในปัจจุบัน การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใน Steady State จะเป็นอย่างไร จุดมุ่งหมายในด้านที่สอง เป็นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตและแบบจำลองตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต ในฐานะที่เป็นข้อมูลและเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์และการกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยในด้านการจัดทำตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตนั้น มีการพัฒนาขึ้นครั้งแรกในปี 2494 และนับจากปี 2518 เป็นต้นมา สศช. ได้เป็นผู้จัดทำและเผยแพร่ทุก ๆ 5 ปีมาอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะต่อไป สศช. จะปรับปรุงให้มีรายละเอียดและความถี่ในการเผยแพร่มากขึ้น รวมทั้งกำหนดแนวทางที่จะพัฒนาตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต เพื่อใช้ในการวางแผนระดับภาคและจังหวัด ส่วนการใช้ประโยชน์จากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตนั้น สศช. ได้มีการใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์โดยตรง และใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำ Social Accounting Matrix สำหรับแบบจำลองดุลยภาพทั่วไปแบบต่าง ๆ ที่ใช้ในวิเคราะห์เศรษฐกิจของสำนักงานฯ และจุดมุ่งหมายประการที่สาม การพัฒนาองค์ความรู้ด้านแบบจำลองปัจจัยการผลิตและผลผลิตของเจ้าหน้าที่ในสายงาน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาขาดความต่อเนื่องไประยะหนึ่ง เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่และการให้ความสำคัญกับแบบจำลองประเภทดุลยภาพทั่วไป ดังนั้น ในปีงบประมาณที่ผ่านมา สายงานเศรษฐกิจจึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส (ดร. สุรพล ศรีเฮือง) อบรมความรู้ด้านแบบจำลองตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตให้กับเจ้าหน้าที่ในระดับกลางและเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ประมาณ 15 ครั้ง พร้อมทั้งมอบหมายให้จัดทำผลงานทางวิชาการจนนำมาสู่การเผยแพร่ในการสัมมนาในวันนี้
ต่อจากนั้น เป็นการแสดงปาฐกถาพิเศษโดย
ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ เรื่อง "เศรษฐกิจไทยกับบริบทการเปลี่ยนแปลงสู่โครงสร้างใหม่” ซึ่งถ่ายทอดมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา และแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะปานกลาง และการนำเสนอผลงานวิชาการจำนวน 3 บทความ ประกอบด้วย (1) "โครงสร้างการผลิตและห่วงโซ่การผลิตของประเทศไทย” นำเสนอโดย
นางสาวกิ่งกมล เลิศธิตินันท์กุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักบัญชีประชาชาติ และวิจารณ์บทความโดย
ผศ.ดร.ดนุพล อริยสัจจากร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2) "สถานะของอุตสาหกรรมไทยภายใต้ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) และการวิเคราะห์ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ” นำเสนอโดย
นายอุกฤษฎ์ พงษ์ประไพ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค (สศม.) วิจารณ์บทความโดย
รศ.ดร.คมสัน สุริยะ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ (3) "แนวโน้มการขยายตัวและการปรับตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาวในกรอบการวิเคราะห์ Dynamic Input-Output Model” นำเสนอโดย
ดร.ฉมาดนัย มากนวล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สศม. วิจารณ์บทความโดย
รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยมี
ดร.อานันท์ชนก สกนธวัฒน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญพิเศษ สศม. เป็นผู้ดำเนินรายการ สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่
http://www.nesdb.go.th/ewt_news.php?nid=6975