ข่าวสาร/กิจกรรม
15 ปี ธนาคารสมอง...พลังอาสาร่วมพัฒนาประเทศ
วันที่ 14 ก.ย. 2560
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "15 ปีธนาคารสมอง..พลังอาสาพัฒนาประเทศ” และปาฐกถาพิเศษ "อนาคตประเทศไทยกับสังคมสูงวัย” ณ โรงแรมเซนทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเผยแพร่พระเกียรติคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  ที่ได้ทรงริเริ่มแนวคิดธนาคารสมอง ร่วมพัฒนาประเทศ และเพื่อเผยแพร่บทบาทการดำเนินงานธนาคารสมองผ่านรูปธรรมเชิงประจักษ์ ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างกว้างขวาง รวมทั้ง เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564) ให้วุฒิอาสาธนาคารสมองและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เห็นถึงความสำคัญและสามารถเชื่อมโยงสู่แนวทางการขยายบทบาทความร่วมมือของวุฒิอาสาธนาคารสมอง เพื่อทำงานอย่างบูรณาการและเป็นเครือข่ายร่วมกับภาคีการพัฒนาในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ความเป็นมาของวุฒิอาสาธนาคารสมอง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมี
พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2543  เนื่องในมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ความตอนหนึ่งว่า 

"...ความจริงหกสิบแล้ว ถึงแม้จะเป็นเวลาที่สมควรจะให้ผู้ที่มีอายุน้อยเข้ามาทำหน้าที่ของเขาบ้าง มีโอกาส
ทำหน้าที่ เราก็ยังเป็นกองหนุนที่คอยปกป้องคุ้มครองบ้านเมือง...เรียกว่า เบรนแบงก์ (Brain Bank) ธนาคารมันสมอง..”  และ "...เรียกว่าคณะกลุ่มที่คอยจ้องดู เพ่งว่าจะทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้อย่างไรบ้าง คล้ายๆ เป็นผู้ช่วยได้ เราจะคอยเพิ่งพิจารณาทุกเรื่องที่ต่อไปจะเป็นปัญหาที่น่าห่วงใยของประเทศ...” 

นับเป็นการจุดประกาย ริเริ่มแนวความคิด "ธนาคารสมอง” ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ทรงชี้แนะให้เห็นว่า ประเทศไทยมีผู้เกษียณอายุที่มีความรู้ ความสามารถจำนวนมาก บุคคลเหล่านี้เปรียบประดุจธนาคารสมอง กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ไม่มีโอกาสเข้ามาช่วยงานที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทำอย่างไรจึงจะสามารถนำผู้ที่เกษียณอายุแล้ว แต่ยังมีความรู้ ความสามารถมาช่วยงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศได้

คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยทะเบียนกลางธนาคารสมอง ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล จัดทำบัญชีหรือทำเนียบผู้ทรงคุณวุฒิ จำแนกเป็นรายสาขาตามความเหมาะสม และประสานเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อจัดให้วุฒิอาสาฯ ได้นำความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ มาช่วยเสริมหรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานตามความต้องการของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน มีวุฒิอาสาธนาคารสมองในระบบฐานทะเบียน รวมทั้งสิ้น 4,919 คน เป็นเพศชาย ร้อยละ 69 เพศหญิง ร้อยละ 31 โดยรวมส่วนใหญ่ร้อยละ 38 อายุเฉลี่ย 75 ปีขึ้นไป กระจายอยู่ในเขต กทม. และปริมณฑล ร้อยละ 41 รองลงมาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง เหนือ และใต้ ตามลำดับแบ่งเป็นสาขาความรู้ความสามารถและประสบการณ์ 21 สาขา ได้แก่ ด้านเกษตร การเงินการคลังและงบประมาณ การเมืองการปกครอง กฎหมาย การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข การวางแผนพัฒนา คมนาคมสื่อสาร ความมั่นคงและความปลอดภัย การต่างประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการและบริหารธุรกิจ ประชาสัมพันธ์ พลังงาน พัฒนาสังคม ท้องถิ่น ชุมชน พาณิชย์และบริการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปวัฒนธรรมและศาสนา สถาปัตยกรรม และด้านอุตสาหกรรม (ข้อมูล ณ มิถุนายน 2560) 

ผู้สูงอายุกับการพัฒนาประเทศ

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย ตั้งแต่ปี 2548 คือ เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aging Society) ในปี 2568 จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้ ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมหลายประการ ด้านเศรษฐกิจ เมื่อคนหนุ่มสาวที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีจำนวนน้อยลง ประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนแรงงาน ภาระการคลังเพิ่มขึ้นจากการที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ด้านสังคม เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง วิถีการดำเนินชีวิตในสังคมก็เปลี่ยนตาม ครอบครัวมีขนาดเล็กลงเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น วัยแรงงานมีการย้ายถิ่นมากขึ้น สมาชิกในครอบครัวที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุน้อยลง ผู้สูงอายุขาดผู้ดูแล ถูกทอดทิ้ง เกิดปัญหาสุขภาพและกลายเป็นปัญหาด้านจิตใจตามมา

จากสถานการณ์ดังกล่าว ประเทศไทยได้เตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) เป็นแผนแม่บทที่กำหนดเป้าหมายในระยะยาว และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) เป็นการแปลงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในช่วง 5 ปีแรก ที่คำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับสากลไปพร้อมกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 ให้มีความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมโยงไปสู่ประชาคมโลก ลดความเหลื่อมล้ำ มีความอยู่ดีกินดี สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่าง "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ภาครัฐได้กำหนดนโยบายผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง รวมทั้งจัดระบบสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมทั่วถึงและเพียงพอ อันเป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้สูงอายุ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี 
มีคุณค่า มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และมีความสุข

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ได้เตรียมความพร้อมในการรองรับสังคมสูงวัย และส่งเสริมบทบาทให้ผู้สูงวัยได้ร่วมเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ โดยส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุวัยต้นให้สามารถเข้าสู่ตลาดงานเพิ่มขึ้น ให้ผู้ประกอบการมีการจ้างงานที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ และสนับสนุนช่องทางการตลาด แหล่งทุน และบริการข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุในชุมชน  ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยการปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ในชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์และมีชีวิต พัฒนาระบบการดูแลและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับสังคมสูงวัย และพัฒนานวัตกรรมสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และส่งเสริมการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุทุกกลุ่มในสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเพิ่มการจัดสวัสดิการสังคมให้กับกลุ่มเป้าหมายประชากร ร้อยละ 40  อาทิ เพิ่มเบี้ยคนพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ยากจนที่มีรายได้ต่ำสุดอย่างเพียงพอและเหมาะสม ให้เพียงพอที่จะดำรงชีพได้และสนับสนุนชุมชนให้มีการจัดบริการตามความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ส่งเสริมและจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมให้ประชากรกลุ่มต่างๆ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยพัฒนานวตกรรมทางการเงินในรูปแบบใหม่ด้วยการสนับสนุนให้สถาบันการเงินออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ตอบสนองความต้องการของแต่ละกลุ่ม อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการหลักประกันการดำรงชีวิตหลังเกษียณ ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ โดยพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง ที่คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ให้แก่ผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ภายใต้หลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุ ยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม โดยการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้าและยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ  

ผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 15 ปี 

วุฒิอาสาธนาคารสมอง ได้หนุนเสริมการทำงานให้กับชุมชน หน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงระดับประเทศที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนหรือหน่วยงานที่อยู่บนฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการส่งเสริมอาชีพ รายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ โครงการพัฒนาสมุนไพรเพื่อชีวิตสู่โรงเรียนและชุมชน การพัฒนาผลิตผลส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามให้ได้มาตรฐาน และการสอน/สาธิตการนำรูปภาพใส่ในขวดที่มีรูปแบบต่างๆ 2) ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการอุทยานบึงบัวอุบลราชธานี โครงการฝายมีชีวิต การทำเตาแก๊สชีวมวล 3) ด้านการสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ เช่น โครงการจัดแสดงดนตรีไทยจิตอาสา ณ โรงพยาบาลบุรีรัมย์และบ้านพักผู้สูงอายุ และโครงการอุปกรณ์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ขาดที่พึ่งพิง 4) ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม อาทิ โครงการ 115 ปี เทียนพรรษาอุบลราชธานี อู่อารยธรรมอุษาคเนย์ การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นไท-ยวน คูบัว และโครงการเสนอพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชเป็นมรดกโลก เป็นต้น 5) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาทิ โครงการสอนภาษาอังกฤษและเขมร เพื่อการอาชีพและการสื่อสาร และ 6) ด้านการพัฒนาเพื่อความมั่นคง อาทิ โครงการเครือข่ายยุติธรรมชุมชน และการจัดอบรมลูกเสือชาวบ้านร่วมกับ อบจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเป็นวิทยากรให้คำปรึกษาตามที่ได้รับการร้องขอ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ 

วุฒิอาสาธนาคารสมองจึงเป็นทั้งนักคิด นักประสาน นักปฏิบัติ และผู้สร้างแรงบันดาลใจในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่มีเป้าหมายร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการร่วมเรียนรู้กับชุมชนและภาคีเครือข่ายการพัฒนาในการร่วมวิเคราะห์สภาพภูมิสังคมและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับความต้องการและภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่หรือประเด็นการพัฒนาอย่างแท้จริง เกิดการค้นหาและสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมการขับเคลื่อนการพัฒนาในชุมชน การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคนในชุมชนเกี่ยวกับกระบวนการคิด วิเคราะห์ วิธีปฏิบัติ และแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งต่อตนเอง ชุมชน สังคม ประเทศ และนานาประเทศ 

ในการก้าวเดินไปในทศวรรษหน้าของวุฒิอาสาธนาคารสมอง วุฒิอาสาธนาคารสมอง จะยังคงสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยมุ่งมั่นขับเคลื่อนงานในเชิงยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาประเทศแบบองค์รวม ยึดโยงกับพื้นที่และประเด็นการพัฒนา พร้อมทั้งร่วมสนับสนุนชุมชน ท้องถิ่น ประชาชน เครือข่ายภาคีการพัฒนา หน่วยงานต่าง ๆ  ทั้งเชิงรุกและรับ โดยการใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิด หลักปฏิบัติ ด้วยการระเบิดจากข้างใน เพื่อให้เกิดการเข้าใจ เข้าถึง และร่วมกันพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเข้มแข็งของสังคม สู่เป้าหมายสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข่าว : สำนักยุทธศาสตร์ด้านนโยบายสาธารณะ
ภาพ : เมฐติญา  วงษ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์