เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ณ ห้อง 521 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเรื่อง การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดยการจัดอันดับของสถาบัน World Economic Forum (WEF) และการกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการฯ ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และผู้บริหาร สศช. ประกอบด้วย นายมนตรี บุญพาณิชย์ รองเลขาธิการฯ นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการฯ และนายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ รวมทั้งผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
ในการประชุมหารือ สศช. ได้นำเสนอผลการจัดอันดับในช่วงที่ผ่านมา มีข้อสรุปสำคัญคือประเทศไทยมีอันดับระหว่าง 31-38 จากจำนวน 138-148 ประเทศ ซึ่งในภาพรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในรายงานปี ค.ศ. 2016-2017 ประเทศไทยได้อันดับที่ 34 จาก 138 ประเทศ และเมื่อเทียบกับภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีมากในด้านเศรษฐกิจมหภาคและมีตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ การใช้จ่ายภาครัฐ การออมมวลรวมแห่งชาติ และสัดส่วนหนี้ภาครัฐ นอกจากนั้น ด้านนวัตกรรม ก็ได้รับการปรับอันดับดีขึ้น 3 อันดับ ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ภายใต้เกณฑ์ปัจจุบันยังมีตัวชี้วัดหลายรายการที่สะท้อนว่าประเทศไทยต้องปรับปรุงทั้งการดำเนินการให้เกิดผลรวมถึงการให้ข้อมูลและการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงผลการดำเนินงานในด้านนั้นๆ เช่น ความเชื่อมั่นในนักการเมือง ปัญหาคอร์รัปชั่น ความโปร่งใสในกระบวนการนโยบาย ความมีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณภาครัฐ ปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรม คุณภาพของซัพพลายเออร์ในประเทศ (Local Supplier) คุณภาพการศึกษาระดับประถม คุณภาพโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหาร (Executive Opinion Survey) สำหรับการจัดอันดับในปีนี้ (Global Competitiveness Report 2017-2018) WEF จะประกาศผลในวันที่ 27 กันยายน 2560
สำหรับการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อยกอันดับตัวชี้วัดของสถาบัน WEF รองนายกฯ สมคิด ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการเร่งผลักดันแผนงานโครงการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาลให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้ สศช. เสนอผลการวิเคราะห์อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่จัดโดย WEF ( ปี 2017-2018) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปเร่งรัดดำเนินการและให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานให้ สศช. รวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีทุก 3 เดือน พร้อมทั้งมอบหมายให้ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เช่น นักลงทุน สื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ สถาบันการจัดอันดับ WEF รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย และมีแนวทางที่ชัดเจนในการปรับปรุงประเด็นที่จะช่วยยกอันดับความสามารถในการแข่งขัน
ในการพิจารณาประเด็นการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยด้านความร่วมมือกับ WEF ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาค WEF: ASEAN Summit ปี 2020 และได้มอบหมายให้ สศช. ไปพิจารณาศึกษาและคัดเลือกประเด็นการพัฒนาของประเทศไทยที่มีการดำเนินการอย่างน่าสนใจทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประกอบการพิจารณาการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WEF: ASEAN Summit ปี 2020 นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ สศช. ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานประสานเพื่อการเพิ่มบทบาทของประเทศไทยใน WEF โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม WEF ในระดับต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สศช. ได้รายงานเพิ่มเติมว่าในปี 2018 สถาบัน WEF มีแนวโน้มที่จะนำเกณฑ์ชี้วัดใหม่มาใช้ในการวัดและจัดอันดับประเทศ โดยเกณฑ์ชี้วัดใหม่จะให้ความสำคัญกับความสามารถด้านนวัตกรรมของภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ทางรัฐบาลกำลังผลักดันผ่านแผนงานโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการมุ่งเน้น
การเสริมสร้างความสามารถในการสร้างและการใช้นวัตกรรมของประเทศ โดยผลักดันให้ทุกภาคส่วนปรับตัว ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ และมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของตนเองมากขึ้น เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
ข่าว : ช่อผกา แก้วใหญ่
ภาพ : อมรเทพ ศรีประเสริฐ |