ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2560
วันที่ 4 ก.ย. 2560
ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วย นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการฯ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2560  ณ ห้องประชุม 521 อาคาร 5 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญได้แก่ การจ้างงาน รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น เด็กไทยมีระดับไอคิวและอีคิวดีขึ้นและคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น การเกิดอุบัติเหตุลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การว่างงานในกลุ่มแรงงานใหม่ การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังและสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ คนไทยมีแนวโน้มป่วยและตายด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น การสูบบุหรี่อิเล็คทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน การเร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมทั้งการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคในโลกดิจิทัล โดยมีสาระดังนี้ 

การจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น

ไตรมาสสองปี 2560 การจ้างงานเพิ่มขึ้นครั้งแรกในช่วงสี่ไตรมาสที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 0.4 ภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย น้ำในเขื่อนเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในช่วงไตรมาสแรกที่ดีขึ้นจูงใจให้เกษตรกรขยายกิจกรรมการเกษตร สำหรับการจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลงในสาขาอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และโรงแรมและภัตตาคาร เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวช้าและการจ้างงานมักจะเกิดขึ้นหลังการลงทุนขยายตัวประมาณ 2-3 ไตรมาส ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังใช้หลักการบริหารจัดการแรงงานที่มีอยู่ มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต การก่อสร้าง และการให้บริการ อัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อยเท่ากับร้อยละ 1.2 โดยที่ผู้ว่างงานไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 24.1 เนื่องจากเป็นช่วงจบการศึกษาและแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งประมาณร้อยละ 39 จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยปกติแรงงานกลุ่มนี้จะว่างงานสูงในช่วงไตรมาสที่สอง-ไตรมาสที่สาม และจะลดลงในไตรมาสที่สี่ของทุกๆ ปี ส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.1 โดยเพิ่มทั้งภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรมร้อยละ 1.2 และ 0.9 รวมทั้งผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3

ประเด็นด้านแรงงานที่ควรติดตามและให้ความสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ได้แก่

(1) ผลกระทบการจ้างงานและรายได้เกษตรกรจากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรอ่อนตัวลง และปัญหาอุทกภัย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 เกษตรกรมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลง โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม–มิถุนายน ราคาสินค้าเกษตรลดลงเฉลี่ยร้อยละ 4.2 และมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่ ตามราคายางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ขณะที่ราคาข้าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก นอกจากนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าในเดือนสิงหาคมและกันยายนอาจเกิดพายุที่มีโอกาสเคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยตอนบน และจะทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งในเดือนดังกล่าวเป็นช่วงเพาะปลูกข้าวนาปี อาจส่งผลต่อกิจกรรมการทำการเกษตรและการจ้างงานภาคเกษตรได้ รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้อนุมัติงบประมาณในวงเงิน 1,685 ล้านบาท ครัวเรือนละ 3,000 บาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 12 เดือนโดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ และสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปีกับ ธกส. ที่ได้รับความเสียหายจะได้รับความคุ้มครองไร่ละ 1,260 บาท รวมถึงการให้กู้ปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือนสำหรับการใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ 

(2) การเร่งพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและยกระดับผลิตภาพแรงงาน ในไตรมาสสองปี 2560 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว
ร้อยละ 3.2 หลังจากหดตัวต่อเนื่องในระยะ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่ดีต่อการจ้างงานใหม่ อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการแรงงานภายในองค์กร การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิตและบริการ อาจมีผลทำให้รูปแบบและความต้องการจ้างงานเปลี่ยนไป อาทิ การจ้างงานแบบสัญญาจ้างมีระยะเวลา ความต้องการแรงงานที่สามารถทำงานได้หลายหน้าที่ (Multi-Skill) 

ภาครัฐได้มีการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เช่น การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ที่เน้นการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงานในสถานประกอบการจริง อีกทั้งโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ เช่น โครงการ Excellent Model School ความร่วมมือกับประเทศเกาหลีใต้ในการจัดการศึกษาวิชาชีพทวิวุฒิร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้มีโครงการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อพัฒนาแรงงานใหม่และยกระดับฝีมือลูกจ้างร่วมกับสถานประกอบการ เช่น บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โรงแรมในเครือเซ็นทารา หรือบริษัทสยามไดกิ้น เป็นต้น เพื่อให้มีฝีมือรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปและซับซ้อนมากขึ้น 

(3) การติดตามการบังคับใช้กฎระเบียบและพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม การปรับแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และกฎระเบียบ มีสาระสำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2560 มีการปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีความทันสมัย ครอบคลุม และเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเพิ่มอัตราโทษในความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก เพื่อให้เกิดการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับแก้ในส่วนของการให้นายจ้างประกาศระเบียบการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไว้ ณ สถานประกอบการ และการปรับแก้กฎกระทรวงในส่วนการเพิ่มวงเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลของนายจ้างในกรณีที่ลูกจ้างรักษาตัว
ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองลูกจ้างให้สูงขึ้นและลดระดับความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐตามนโยบายของรัฐบาล

ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสสองปี 2560 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 14.9 โดยผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1 และยังต้องเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 โดยพบมากในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมทั้งโรคซึมเศร้าพบผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สามารถป้องกันโดยการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและรักษาโรคซึมเศร้าให้กับประชาชน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้ ตลอดจนได้รับความเข้าใจจากคนในครอบครัวและชุมชน

เด็กไทยมีระดับไอคิวเฉลี่ยสูงขึ้น แต่ยังต่ำกว่ามาตรฐานสากล ขณะที่อีคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติ จากผลการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ในเด็กไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พ.ศ. 2559 ของกรมสุขภาพจิต พบว่า เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีระดับ IQ เฉลี่ยเท่ากับ 98.23 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 94.58 ในปี 2554 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากล (IQ = 100) และยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มที่มีระดับสติปัญญาสูงกับกลุ่มที่มีระดับสติปัญญาต่ำ ส่วนความฉลาดทางด้านอารมณ์ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ การเลี้ยงดูเอาใจใส่ของพ่อแม่ ผู้ปกครองมีผลอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็กในช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงที่สมองส่วนหน้าพัฒนามากที่สุด การเลือกของเล่นให้เด็กได้คิดอย่างสร้างสรรค์ การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง การส่งเสริมให้เด็กเล่นดนตรี ก็เป็นวิธีการฝึกสมองที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัย และจะช่วยให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้และมีผลต่อความสำเร็จในชีวิต 

คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการป้องกันโรคไม่ติดต่อ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม พบว่าอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 73.28 ปี ในปี 2552 เป็น 75.4 ปี ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบว่า อายุคาดเฉลี่ยของภาวะสุขภาพดี (Health Adjusted Life Expectancy: HALE) มีค่าต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยไม่ได้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ตลอดช่วงชีวิต แต่จะมีช่วงเวลาที่ต้องอยู่อย่างเจ็บป่วยหรือพิการ และจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยมีแนวโน้มเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย และลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดช่วงชีวิต

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ในไตรมาสสองปี 2560 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 35,097 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.0 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 14,878 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ จำนวนนักดื่มยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและยังต้องเฝ้าระวังบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน เนื่องจากยังสามารถหาซื้อได้อย่างแพร่หลายทางอินเทอร์เน็ต ทั้งที่มี การห้ามนำเข้ามาในประเทศตั้งแต่ปี 2557 และจากผลสำรวจของกรมควบคุมโรคพบว่า เยาวชนอายุ 13-15 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 3.3 โดยเพศชายมีอัตราการสูบร้อยละ 4.7 และเพศหญิงมีอัตราการสูบร้อยละ 1.9 ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ และอาจเป็นจุดตั้งต้นในการเสพติดบุหรี่หรือสารเสพติดประเภทอื่นๆ ในกลุ่มเด็กและเยาวชน

สถานการณ์อาชญากรรมและยาเสพติดดีขึ้น คดีอาญารวม ยาเสพติดลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.8 และ 4.2 ขณะที่คดีชีวิตร่างกายและเพศและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 และ 6.5 ตามลำดับ ดังนั้น การป้องกันและลดอาชญากรรมควรมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ มีการลงโทษผู้กระทำผิดในลักษณะคดีประเภทเดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน มีการนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษอย่างรวดเร็ว เพื่อให้คนในสังคมมีความเกรงกลัวต่อกฎหมายและบทลงโทษเป็นสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาและการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังให้หลุดพ้นวงจรการกระทำผิดกฎหมายด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิต การให้โอกาสในชีวิตใหม่ด้วยการให้ความรู้พื้นฐานด้านอาชีพ การศึกษา การเตรียมคนให้มีคุณค่าคืนสู่สังคม อาทิ โครงการสานพลังประชารัฐ บ้านกึ่งวิถี "บ้านเธอ” โดยกระทรวงยุติธรรมร่วมกับวิสาหกิจสุขภาพชุมชนที่นำผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษหญิงมาฝึกอาชีพ สร้างงาน ให้ที่พัก สามารถพึ่งพาตนเองและมีรายได้หลังพ้นโทษ
การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลง ในไตรมาสสองปี 2560 อุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 11.3 มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 10.9 และ 16.2 มูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 40 ทั้งนี้ มีประเด็นที่สังคมควรให้ความสำคัญ ได้แก่ การเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลฉุกเฉิน รถกู้ชีพ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการรีบนำส่งผู้ป่วยทำให้ต้องขับรถด้วยความเร็ว การดัดแปลงรถตู้มาเป็นรถพยาบาลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนไม่หลบหรือเปิดทางให้รถฉุกเฉิน ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งผู้ใช้รถใช้ถนน ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ จึงได้มีการจัดอบรมความปลอดภัยพิเศษเพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญในการขับขี่และต้องขึ้นทะเบียนตามระบบทั้งตัวรถและตัวบุคคล พร้อมผลักดันการออกใบขับขี่เฉพาะตามประเภทรถฉุกเฉิน นำร่องโครงการติดตั้งเครื่อง GPS ที่ส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่หากมีการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กำหนด รวมทั้งการประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกของประชาชนถึงความสำคัญของรถพยาบาลฉุกเฉินหากกรณีต้องฝ่าฝืนสัญญาณไฟ หรือใช้ทางพิเศษ พร้อมรณรงค์เปิดทางและชะลอความเร็วภายใต้ชื่อ "รถคันนี้มีน้ำใจ หลีกทางให้รถพยาบาล” 

ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง เพื่อปกป้องคุ้มครองคนไทยและคนต่างชาติในไทยเป็นสำคัญ โดยรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานอย่างครอบคลุมทุกมิติ มุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและให้ส่วนราชการเร่งรัดการดำเนินงานให้มีผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะผลการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกรายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ติดตามความคืบหน้าคดีสำคัญและคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐเพื่อสร้างความร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

เปิดพื้นที่การเรียนรู้: การศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ กับ "โรงเรียนมีชัยพัฒนา” โรงเรียนมีชัยพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของโรงเรียนทางเลือกที่จัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในชนบทที่มีคุณภาพ ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุข เน้นทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ เป้าหมายโรงเรียนมุ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เพื่อร่วมกันสร้างคนดีและซื่อสัตย์ ที่นึกถึงคนอื่น รู้จักแบ่งปัน และตั้งใจค้นคว้าหาความรู้ และเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าของสังคม มากกว่าการสร้างคนเก่งเพียงอย่างเดียว

บทความเรื่อง "ดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2560: เครื่องมือวัดความก้าวหน้าของคนในระดับจังหวัด”

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รับโอนภารกิจการจัดทำดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index- HAI) จากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย และได้เริ่มจัดทำดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2558 เป็นครั้งแรก และดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2560 เป็นครั้งที่ 2 สศช. ได้ทบทวนดัชนี โดยดัชนี HAI ปี 2560 ยังคงยึดกรอบและมีดัชนีย่อยเหมือนเดิม แต่ตัวชี้วัดในแต่ละด้านให้มี 4 ตัวเท่ากัน มีตัวชี้วัดทั้งสิ้น 32 ตัวชี้วัด ซึ่งจะทำให้ค่าคะแนนสามารถเปรียบเทียบกันได้

ดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2560 เป็นดัชนีรวม (composite index) มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประเมินความก้าวหน้าของคนในระดับจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การจัดยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาคนในจังหวัดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป ยึดกรอบแนวคิดการพัฒนาคนที่ครอบคลุมการมีสุขภาพที่ดี มีการศึกษา มีชีวิตการงาน มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นในชุมชนที่มีความปลอดภัย มีการคมนาคมที่สะดวกปลอดภัยและเข้าถึงการสื่อสารอย่างทั่วถึง ตลอดจนมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งจากกรอบแนวคิดดังกล่าวได้ใช้เป็นกรอบกำหนดองค์ประกอบของดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2560 ประกอบด้วย 8 ดัชนีย่อยคือ (1) ด้านสุขภาพ (2) ด้านการศึกษา (3) ด้านชีวิตการงาน (4) ด้านรายได้ (5) ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม (6) ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน (7) ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร และ (8) ด้านการมีส่วนร่วม โดยดัชนีย่อยในแต่ละด้าน มี 4 ตัวชี้วัดเท่าๆ กัน รวมตัวชี้วัดทั้งหมด 32 ตัวชี้วัด เพื่อเป็นข้อมูลตัวชี้วัดระดับจังหวัด (77 จังหวัด) โดยส่วนใหญ่เป็นข้อมูลในปี 2559 (จำนวน 21 ตัวชี้วัด) และเป็นข้อมูลในปี 2558 จำนวน 11 ตัวชี้วัด ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ผลการประเมินด้วยดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2560 พบว่า

(1) ในภาพรวมของประเทศ การพัฒนาคนด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมมีความก้าวหน้ามากที่สุด แต่ด้านการศึกษาก้าวหน้าน้อยที่สุด ปี 2560 มีค่าดัชนี HAI = 0.5966 โดยการพัฒนาคนด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมเท่ากับ 0.8208 รองลงมาคือ ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน ด้านชีวิตการงาน ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ด้านรายได้ และด้านการมีส่วนร่วม ตามลำดับ ส่วนด้านการศึกษามีความก้าวหน้าน้อยที่สุดมีค่าเท่ากับ 0.4790 

(2) ในระดับภาค ภาคกลางมีความก้าวหน้ามากที่สุด ส่วนภาคใต้มีความก้าวหน้าน้อยที่สุด โดยภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) มีค่าดัชนี HAI = 0.6111 เนื่องจากมีการพัฒนาใน 5 ด้านมากกว่าภาคอื่นๆ คือ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านชีวิตการงาน ด้านรายได้ และด้านการคมนาคมและการสื่อสาร แต่ด้านการมีส่วนร่วมและด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมกลับมีการพัฒนาน้อยกว่าทุกภาค ส่วนภาคที่มีการพัฒนาคนรองลงมาคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ ซึ่งภาคใต้มีดัชนี HAI น้อยที่สุด คือ 0.5598 โดยมีการพัฒนาด้านชีวิตการงานและด้านชีวิตครอบครัวและชุมชนน้อยที่สุด สำหรับดัชนีย่อย พบว่า ทุกภาคมีความก้าวหน้าด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมมากที่สุด ภาคกลางมีความก้าวหน้าด้านการมีส่วนร่วมน้อยที่สุด ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีความก้าวหน้าด้านการศึกษาน้อยที่สุด สำหรับกรุงเทพมหานครมีความก้าวหน้ามากกว่าภาคอื่นโดยเฉพาะด้านการศึกษา ด้านชีวิตการงาน ด้านรายได้ และด้านการคมนาคมและการสื่อสาร แต่ยังมีปัญหาด้านการมีส่วนร่วม

(3) 5 จังหวัดที่มีความก้าวหน้าการพัฒนาคนมากที่สุด คือ ภูเก็ต พระนครศรีอยุธยา ลำพูน นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ โดยทั้ง 5 จังหวัดมีความก้าวหน้าในด้านชีวิตการงาน ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม และด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ค่อนข้างสูงมีค่าดัชนีเกินกว่า 0.6 สำหรับด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน มีความก้าวหน้าในระดับปานกลางจนถึงค่อนข้างสูงมีค่าดัชนีเกินกว่า 0.5 ขณะที่ด้านการมีส่วนร่วมมีความก้าวหน้าน้อยมาก ค่าดัชนีต่ำกว่า 0.3 โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ยกเว้นจังหวัดลำพูนมีความก้าวหน้ามากที่สุดและอยู่ลำดับที่ 1 ของประเทศ 

(4) 5 จังหวัดที่มีความก้าวหน้าการพัฒนาคนน้อยที่สุด คือ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ชัยนาท ปัตตานี และสระแก้ว ตามลำดับ โดยทั้ง 5 จังหวัดมีความก้าวหน้าในด้านการศึกษาและด้านรายได้น้อยมาก มีค่าดัชนีด้านการศึกษาอยู่ระหว่าง 0.1190–0.3303 (ค่าเฉลี่ยประเทศ = 0.4790) และค่าดัชนีด้านรายได้อยู่ระหว่าง 0.2760–0.4323 (ค่าเฉลี่ยประเทศ = 0.5463)


ข่าว : สำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม
ภาพ : อมรเทพ  ศรีประเสริฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์