ข่าวสาร/กิจกรรม
ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย
วันที่ 4 ก.ค. 2560
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษในการประชุมประจำปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง "ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย”” ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

แผนฯ 12 : 5 ปีแรกสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า สศช. ได้จัดการประชุมใหญ่ทางวิชาการทุกปี เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคม ในเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และในปีนี้ซึ่งเป็นปีแรกภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และเป็นปีที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาของการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สำนักงานฯ จึงกำหนดให้การสัมมนาประจำปี 2560 นี้เป็นเวทีของการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในแนวคิดประเด็นการพัฒนาที่มีลำดับความสำคัญ และกรอบแนวทางการพัฒนาที่กำหนดภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 รวมถึงความเชื่อมโยงจากขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้แผนฯ 12 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) ที่จะเชื่อมโยงไปสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2560-2579) ความเข้าใจและการรับรู้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการที่จะกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมตระหนักและให้ความสำคัญต่อเป้าหมายการพัฒนาทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวของประเทศร่วมกัน อันจะก่อให้เกิดพลังในการร่วมมือกันขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างสัมฤทธิ์ผล  

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นตัวแทนของทุกภาคส่วนในสังคมไทยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้แทนจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน และประชาชน รวมทั้งสิ้นกว่า 3,000 คน

การประชุมประจำปี 2560 นี้มีกรอบสาระสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ในแผนฯ 12 ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเป็นเวทีที่นอกจากจะมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสาธารณชนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนแผนฯ 12 ไปสู่การปฏิบัติภายใต้ประเด็นการพัฒนาหลักที่กำหนดภายใต้แผนฯ 12 และความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว ยังให้ความสำคัญกับการระดมความเห็นร่วมกันเพื่อช่วยให้แนวทางและกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และประเด็นการพัฒนาสำคัญในมิติต่างๆ ในแผนฯ 12 สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง

10 ยุทธศาสตร์แผนฯ 12 วางรากฐานการพัฒนาประเทศ 
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้กำหนด 10 ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศสู่เป้าหมายความ "มั่นคงมั่งคั่ง ยั่งยืน” ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศ สู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบและธรรมาภิบาลในสังคมไทย ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 9  การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 10 ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา

ทั้ง 10 ยุทธศาสตร์ล้วนมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยมีประเด็นการพัฒนาที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญให้ตรงจุด และวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง ซึ่งได้นำมาเป็นประเด็นในการระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย และมีเป้าหมายที่ต้องบรรลุใน 6 ประเด็นหลักการพัฒนา ซึ่งแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 
กลุ่มที่ 1 ศักยภาพคนไทยเพื่ออนาคตประเทศไทย ส่งเสริมคนไทยให้สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงและกำหนดเส้นทางชีวิตในอนาคต มีระบบการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย สร้างสรรค์ มีส่วนร่วม และนำไปปฏิบัติได้จริง การบริการสุขภาพที่มีคุณภาพทั่วถึงทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมภายใต้ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ   

กลุ่มที่ 2 นวัตกรรมนำสู่อนาคตประเทศไทย ส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพให้ภาคการผลิต การค้า และบริการ สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน

กลุ่มที่ 3 เกษตรกรยุคใหม่เพื่ออนาคตประเทศไทย เน้นการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยการสนับสนุoเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีการวางแผนอย่างมีระบบ มีองค์ความรู้ สามารถนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กลุ่มที่ 4 โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์เพื่ออนาคตประเทศไทยก มุ่งเน้นเป้าหมายหลัก 4 ประการ ได้แก่ การขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพการให้บริการ การเชื่อมโยงอนุภูมิภาคและอาเซียนอย่างเป็นระบบ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบบริหารและการประยุกต์ใช้นวัตกรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพออกไปลงทุนในต่างประเทศ

กลุ่มที่ 5 ภาครัฐดิจิทัลเพื่ออนาคตประเทศไทย ยกระดับการบริหารจัดการราชการแผ่นดิน และการบริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ติดต่อสื่อสารได้รวดเร็ว และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดและสะท้อนความต้องการต่อบริการของภาครัฐ รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของภาครัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น

กลุ่มที่ 6 การพัฒนาพื้นที่ ภาค และเมืองสู่อนาคตประเทศไทย กำหนดแนวทาง กลไก และมาตรการ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ภาคและเมืองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่เศรษฐกิจ สนับสนุนการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า แผนฯ 12 นับเป็น 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ จึงเป็นก้าวสำคัญในการที่แก้ปัญหาพื้นฐานและวางรากฐานสำคัญของประเทศก่อนที่จะเร่งพัฒนาต่อเนื่องไปสู่เป้าหมายที่ยกระดับการพัฒนาประเทศให้สูงขึ้น การที่จะขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ให้บรรลุเป้าหมายหรือ Milestones ที่กำหนดได้นั้น อยากเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดัน มีการรับรู้ เข้าใจ ตระหนักในการเป็นเจ้าของ มีภารกิจและความรับผิดชอบในการพัฒนาประเทศภายใต้ทิศทางที่ได้ร่วมกันกำหนดขึ้น ซึ่งจะต้องมีระบบและกลไกการบริหารจัดการจากแผนสู่การปฏิบัติและสู่การติดตามและประเมินผล ที่มีความเชื่อมโยงกันในระดับต่างๆ ทั้งนี้การพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จะสำเร็จมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับคนไทยจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันสนับสนุน และก้าวเดินไปด้วยกันตามแผนที่วางไว้ 

ทั้งนี้ สศช. จะนำความคิดเห็นประเด็นการพัฒนาสำคัญในมิติต่างๆ ไปเป็นแนวทางในการกำหนดกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ในแผนฯ 12 สู่การปฏิบัติ ส่งผลให้การแปลงแผนพัฒนาฯ สู่การปฏิบัติเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง และบรรลุวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ในที่สุด 

นวัตกรรม หัวใจการขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต

ภายหลังกล่าวปาฐกถาพิเศษแล้ว นายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมนิทรรศการเรื่อง "นวัตกรรม หัวใจ
การขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต” ซึ่ง สศช. ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และสถาบันการศึกษารวม 13 แห่ง ในการนำผลงานความสำเร็จของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ ร่วมจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ ได้แก่ หุ่นยนต์กับภาคบริการ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง "หุ่นยนต์บันทึกทักษะการทำงาน” สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เรื่อง "การพัฒนากำลังคนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วย Work Base Education” บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด เรื่อง "หุ่นยนต์ดินสอ”  

จากนั้นจะแสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาทางสังคมและพัฒนาพื้นที่ด้วยนวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เรื่อง "นาโนเทคโนโลยีเพื่อชุมชน... เกษตรกรไทยเข้มแข็งยั่งยืนด้วยนาโนซิงค์ออกไซด์” สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) เรื่อง"เทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำ” สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เรื่อง "Faarm Series” และ "เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi)” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง "นวัตกรรมการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันตาบอดจากโรคจอประสาทตา” ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เรื่อง "TCDC Charoenkrung : A Path to the New Experience” และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง "ย่านนวัตกรรมประเทศไทย” 

รวมทั้งการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและบริการภาครัฐด้วยนวัตกรรม โดยกระทรวงคมนาคม เรื่อง "คมนาคมรวมเป็นหนึ่ง เพื่อคนไทยทุกคน One Transport for all” สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เรื่อง "e-Government Showcase” บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด เรื่อง "Smart City” สวทช. เรื่อง "โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกล” ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ โดย สวทช. จำนวน 2 เรื่อง คือ "Food Innovation Service” และ "NETPIE แพลตฟอร์มไร้สายสำหรับงาน Internet of Things” และบริษัท อาปิโก ไอทีเอส จำกัด เรื่อง "Powermap Tracking” 

นอกจากนี้ปิดท้ายด้วยการนำเสนอ ""เทคโนโลยีในอนาคต” โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ และวีดิทัศน์เกี่ยวกับความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งสะท้อนและได้บทสรุปที่สำคัญว่า ประเทศไทยต้องมีวิทยาศาสตร์พื้นฐานเข้มแข็ง เพื่อยกระดับจากการลอกเลียนแบบสู่การสร้างนวัตกรรมที่นำไปใช้ให้เกิดผล   

ผลการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11
สำหรับผลการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา สศช. ได้ประเมินผลการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปีของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) พบว่าความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยมีการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีค่าดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 70.48 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 71.54 ในปี 2555 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 78.26 ในปี 2559 โดยมีปัจจัยเกื้อหนุน ได้แก่ ชุมชนมีความเข้มแข็ง จากการที่ชุมชนสามารถพึ่งตนเองและมีการรวมกลุ่มช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งและเป็นธรรมเพิ่มขึ้น จากปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนลดลง เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศสมดุลเพิ่มขึ้น จากระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น และดัชนีการมีสุขภาวะเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนไทยมีสติปัญญาและใฝ่รู้เพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยบั่นทอน ได้แก่ ความอบอุ่นในครอบครัวลดลง เนื่องจากสัมพันธภาพในครอบครัวมีความเปราะบาง การหย่าร้างเพิ่มขึ้น และผู้สูงอายุอยู่คนเดียวมาก นอกจากนั้น ในประเด็นของการสร้างสังคมที่มีธรรมาภิบาลและความสมานฉันท์นั้นมีความคืบหน้าไม่มากและยังต่อผลักดันกันมากขึ้นเพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างสังคมคุณธรรม และเป็นธรรม    
การสร้างความเป็นธรรมในสังคม มีการกระจายรายได้ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยที่สุดกับกลุ่มคนจนที่สุดลดลงจาก 11.81 เท่าในปีสุดท้ายของแผนฯ 10 (พ.ศ. 2554) เหลือ 10.31 เท่าเมื่อสิ้นสุดแผนฯ 11 ขณะที่เศรษฐกิจฐานราก และผู้ประกอบการรายย่อยได้รับประโยชน์จาก
การพัฒนามากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนของมูลค่าผลผลิตวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 36.6 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 42.1 ในปี 2559 ขณะที่การคุ้มครองทางสังคมครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบสามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการเพิ่มขึ้น 

การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน โดยด้านคุณภาพการศึกษายังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่าคนไทยจะได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 8.5 ปี ในปี 2559 จากเป้าหมาย 12 ปี ขณะที่สัดส่วนบุคลากรทางด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 13.6 คนในปี 2558 แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 15 คนต่อประชากร 10,000 คน และอัตราการเพิ่มของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ด้านสุขภาพ พบว่าสัดส่วนคนไทยที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการดำรงชีวิต ส่วนสถาบันครอบครัวไทยมีความเปราะบาง ค่าดัชนีความอบอุ่นในครอบครัวมีแนวโน้มลดลงและอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง แม้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวลดลง ขณะที่คนในชุมชนมีการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมทำกิจกรรมสาธารณะของหมู่บ้านและชุมชนมีเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย

ความเข้มแข็งภาคเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน โดยความเข้มแข็งภาคเกษตรยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายของแผน สัดส่วนมูลค่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 16.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2554 เป็นร้อยละ 13.5 ในปี 2558 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดร้อยละ 16.0 ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรต่อรายได้เงินสดสุทธิของครัวเรือนเกษตรลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 39.22 ในปี 2554 เหลือร้อยละ 28.91 ในปี 2559 ในส่วนของคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร พบว่า จำนวนฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐานมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย และพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น สำหรับความมั่งคงด้านพลังงาน บรรลุเป้าหมายของแผน เนื่องจากสามารถผลิตพลังงานทดแทน (เอทานอล และไบโอดีเซล) ได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ของเสียจากครัวเรือน วัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรเพิ่มขึ้น

การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัว โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 7.32 ในปี 2555 และชะลอตัวลงเป็น 0.80 ในปี 2557 ก่อนจะขยายตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 3.2 ในปี 2559 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.41 ต่อปีในระยะ 5 ปีของแผนฯ 11 จากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคครัวเรือนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.8 ส่วนการส่งออกปรับตัวดีขึ้น สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบร้อยละ 0.9 ในปี 2558 ปรับตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 0.2 ในปี 2559 เนื่องจากราคาพลังงานในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้นและปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 1.27 ต่อปีในระยะ 5 ปีของแผนฯ 11 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี 

ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมสาขาเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 15.8 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 13.5 ในปี 2558 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 16.0  และสัดส่วนมูลค่าภาคบริการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 60.35 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 64.24 ในปี 2559 เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนค่าใช้จ่ายการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.37 ต่อ GDP ในปี 2554 เป็นร้อยละ 0.62 ในปี 2558 ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.0 ขณะที่ภาคเอกชนมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาสูงกว่าภาครัฐ โดยมีอัตราเท่ากับ 70 : 30 บรรลุเป้าหมายที่กำหนด สำหรับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้น อยู่ในอันดับที่ 28 ในปี 2559 จากอันดับที่ 30 ในปี 2558 ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้เป็นอันดับที่ 16 ในส่วนของสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ลดลงจากร้อยละ 14.41 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 13.86 ในปี 2559 บรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้ต่ำกว่าร้อยละ 15

การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม จากการจัดอันดับความสามารถการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดย The World Economic Forum (WEF) พบว่า ไทยมีคะแนนรวมสูงขึ้นจาก 4.2 คะแนนในปี 2558 เป็น 4.4 ในปี 2559  อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกนั้น ไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำลงจากอันดับที่ 19 (183 เขตเศรษฐกิจ) ในปี 2554 มาเป็นอันดับที่ 49 (189 เขตเศรษฐกิจ) อยู่ในอันดับที่ 9 ของเอเซีย และอันดับที่ 3 ของอาเซียนในปี 2559  การใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงทางการค้าเสรีต่อมูลค่าส่งออกรวม มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 72.21 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 56.47 ในปี 2559 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดให้มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีต่อมูลค่าส่งออกรวมเป็นร้อยละ 50.0 ในปี 2559  อัตราการเติบโตของมูลค่าการค้าชายแดนไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย เมียนมา ลาว และกัมพูชา) ยังไม่บรรลุเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของมูลค่าการลงทุนโดยตรงของไทยในประเทศเพื่อนบ้านบรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้การลงทุนโดยตรงของไทยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ต่อปี 

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พบว่า การรักษาความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นไปตามเป้าหมาย สัดส่วนพื้นที่อนุรักษ์ต่อพื้นที่ประเทศในปี 2559 มีร้อยละ 20.66 สูงกว่าเป้าหมายของแผนที่กำหนดให้พื้นที่อนุรักษ์ต่อพื้นที่ประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 19 ขณะที่พื้นที่ป่าไม้มีสัดส่วนร้อยละ 31.60 ของพื้นที่ประเทศ ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดให้เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ส่วนการขยายพื้นที่ชลประทานเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย สามารถดำเนินการเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนด ทำให้ในปี 2559 มีพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 30.78 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักและใช้งานได้ต่อจำนวนประชากรเป็น 1,177 ลูกบาศก์เมตรต่อคน ขณะที่การกำจัดได้อย่างถูกต้องเป็นไปตามเป้าหมายของแผน

แนวทางติดตามประเมินผลการพัฒนาของแผนฯ 12
สำหรับแนวทางในการติดตามประเมินผลแผนฯ 12 สศช. ได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาการวางระบบการติดตามประเมินผลกระทบการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามประเมินผลแผนฯ 12 โดยปรับปรุงระบบติดตามและประเมินผลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้เป็นการติดตามประเมินผลแบบถ่ายทอดระดับ (Cascade) เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ตั้งแต่แผนฯ ฉบับที่ 12 เป็นต้นไป ดังนี้ (1) ระดับกระทรวง และระดับพื้นที่ โดยใช้โมเดลเชิงตรรกะ (Logic Model) กระทรวงร่วมกับพื้นที่จังหวัดทำหน้าที่จัดทำรายงานติดตามประเมินผลแผนงาน/โครงการ ทั้งในระดับผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลแผนพัฒนาฯ และยุทธศาสตร์ชาติ และ (2) ระดับยุทธศาสตร์ (Strategic-based) โดยใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) เป็นเครื่องมือศึกษาเปรียบเทียบการประเมินผลลัพธ์ และผลกระทบระหว่างค่าที่เกิดขึ้นจริงกับค่าที่คาดหวังในแต่ละตัวชี้วัด โดยมี สศช. ร่วมกับสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะการพัฒนาระบบราชการจัดทำรายงานติดตามประเมินผลแผนพัฒนาฯ ที่เชื่อมโยงกับแผนงาน/โครงการ ทั้งในระดับกระทรวงและพื้นที่ และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 

ทั้งนี้ จะดำเนินการติดตามประเมินผล 3 ระยะเวลา ได้แก่ การประเมินผลก่อนการปฏิบัติการหรือก่อนเริ่มโครงการ (Ex-ante Evaluation) การประเมินผลระหว่างดำเนินการ (On-Going Evaluation) และการประเมินผลหลังการดำเนินงาน (Ex-Post Evaluation) พร้อมทั้ง พัฒนาระบบตรวจสอบระบบติดตามประเมินผล (Evaluation Audit) เพื่อปรับระบบติดตามประเมินผลให้มีมาตรฐานสากล โดย สศช. ควรเป็นผู้ตรวจสอบ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และให้ระบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งมีเครือข่ายด้านการติดตามประเมินผล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตั้งหน่วยวิจัยและฝึกอบรม พัฒนาระบบติดตามประเมินผลให้มีมาตรฐานสากลและทันสมัย ควบคู่กับการพัฒนากระบวนการมีส่วนรวม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนรวม รับฟังความคิดเห็น และตรวจสอบแผนงาน/โครงการ


สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์