ข่าวสาร/กิจกรรม
สศช. แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก ปี 2560
วันที่ 26 พ.ค. 2560
ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วย นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการฯ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก ปี 2560 มีรายละเอียด ดังนี้

ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญได้แก่ คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี การเจ็บป่วยทางกายด้วยโรคเฝ้าระวังและโรคไข้เลือดออกลดลง ภาวะโภชนาการในเด็กเล็ก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีแนวโน้มดีขึ้น ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง ได้แก่ สถานการณ์การจ้างงาน การว่างงาน และรายได้แรงงานลดลงเล็กน้อย การเกิดอุบัติเหตุจราจรมากขึ้นทั้งยังมีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การคุ้มครองผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ และการเตรียมความพร้อมทักษะแรงงานไทยในอุตสาหกรรมศักยภาพและในอนาคต โดยมีสาระดังนี้

การจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานสูงขึ้นเล็กน้อย ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น
ไตรมาสแรกปี 2560 การจ้างงานภาคเกษตรลดลงเนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคนอกเกษตรต่อเนื่องจากช่วงปี 2557–2559 ที่ภาคเกษตรประสบภัยแล้งรุนแรง ประกอบกับแรงงานที่เข้ามาทดแทนลดลง และแรงงานส่วนหนึ่งออกจากการเป็นกำลังแรงงานเนื่องจากการสูงอายุ สำหรับการจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลงในสาขาอุตสาหกรรมและก่อสร้าง เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ส่วนสาขาขายส่ง/ขายปลีก โรงแรมและภัตตาคาร และการขนส่ง/เก็บสินค้ายังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นตามการบริโภคครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.2 ส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.9 อย่างไรก็ดี ค่าจ้างภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0

ประเด็นที่คาดว่าจะมีผลต่อเนื่องในระยะต่อไป ได้แก่
1. การเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรและการปรับตัวของภาคเกษตร การจ้างงานภาคเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปัญหาโครงสร้างแรงงาน โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แรงงานเกษตรลดลง 1.3 ล้านคน โดยแรงงานในช่วงอายุ 30–49 ปีลดลง 0.99 ล้านคน ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากภาวะภัยแล้งในช่วงปี 2557–2559 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายออกไปทำงานในภาคนอกเกษตร ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทน และกลุ่มแรงงานสูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลง ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องโดยพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตรลดงจาก 151.0 ล้านไร่ในปี 2546 เป็น 149.2 ล้านไร่ในปี 2556 ลดลงเฉลี่ยปีละ 0.16 ล้านไร่ สะท้อนภาคเกษตรที่มีแนวโน้มเล็กลงทั้งจำนวนแรงงานและพื้นที่เพาะปลูก ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพการผลิตจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายสำคัญ เพื่อช่วยเพิ่มผลิตภาพการเกษตรและรายได้เกษตรกร เช่น การทำเกษตรแปลงใหญ่ การ Zoning by Agri-Map การปรับปรุงระบบส่งน้ำ/กระจายน้ำ การใช้เกษตรทฤษฏีใหม่และเกษตรแบบผสมผสานเป็นแนวทางที่จะช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายที่สำคัญนี้ให้สำเร็จ รวมถึงการสร้าง Smart Farmer
2. การฟื้นตัวของการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่จะมีผลต่อการจ้างงาน แม้การส่งออกจะมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่สามปี 2559 เป็นต้นมา แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยมูลค่าของการส่งออกสินค้ายังคงต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงปี 2555-2556 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวช้า ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการจ้างงานเพิ่ม อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการดีขึ้นเป็นลำดับจากระดับ 48.7 ในปี 2558 เป็น 49.6 และ 50.8 ในปี 2559 และไตรมาสแรกปี 2560 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 2560 หากการส่งออกสามารถเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายและตลอดปีขยายตัวได้เฉลี่ยร้อยละ 3.6 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก และการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจ และนำไปสู่การขยายตำแหน่งงานในระยะต่อไป โดยเฉพาะภาคการผลิต การก่อสร้าง และการขายส่ง/ขายปลีก และช่วยลดอัตราการว่างงาน
3. การส่งเสริมการประกันตนมาตรา 40 การส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ร่วมเข้าเป็นสมาชิกประกันสังคมโดยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ เข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมมากขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์และทางเลือกที่เพิ่มขึ้น อาทิ การเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล วันละ 300 บาทแต่ไม่เกิน 90 วัน และได้รับค่าชดเชย 200 บาทในกรณีไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ต้องหยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป การเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการทางการแพทย์ เช่น การเพิ่มวงเงินสำหรับการผ่าตัดเตรียมเส้นเลือดเพื่อฟอกไต หรือวางท่อรับ-ส่งน้ำยาล้างช่องท้องจากเดิม 2 หมื่นบาทเป็น 3 หมื่นบาท เป็นต้น ซึ่งต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้แรงงานนอกระบบได้รับรู้อย่างทั่วถึง

คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี สอดคล้องกับดัชนีความสุขโลก จากผลการสำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) คนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2558 คนไทยมีคะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ยอยู่ที่ 31.44 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยกลุ่มอายุ 25-59 ปี มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี และ 60 ปีขึ้นไป ตามลำดับ ความรักความผูกพันและการดูแลซึ่งกันและกันของคนในครอบครัวมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี สอดคล้องกับ World Happiness Report 2017 ซึ่งรายงานค่าดัชนีความสุขโลก พบว่าประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 33 ในช่วงปี 2556-2558 เป็นอันดับที่ 32 ในช่วงปี 2557-2559 และอยู่ในอันดับที่ 19 ของประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก

ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคติดต่อทางอาหารและน้ำพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ในไตรมาสแรกปี 2560 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 22.7 โดยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 44.7 เนื่องจากทุกฝ่ายร่วมกันเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคที่มากับยุงลายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 และติดตามสถานการณ์เด็กจมน้ำในช่วงปิดภาคเรียนซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดเฉลี่ยปีละ 348 คน สำหรับในปี 2560 จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคในช่วงปิดภาคเรียนมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 127 คน ทั้งหมดเป็นเด็กช่วงอายุ 5-14 ปี

ภาวะโภชนาการในเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีแนวโน้มดีขึ้น จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2559 (MICS 5) พบว่าภาวะโภชนาการเมื่อเทียบกับปี 2555 (MICS 4) ดีขึ้นในทุกตัวชี้วัด แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 6.7 มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 5.4 มีภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลัน (ผอม) ร้อยละ 10.5 มีภาวะทุพโภชนาการเรื้อรัง (เตี้ย) และร้อยละ 8.2 มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (อ้วน) สำหรับสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนที่กินนมแม่อย่างเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีเด็กร้อยละ 23.1 ที่กินนมแม่อย่างเดียว และร้อยละ 42.1 กินนมแม่เป็นหลัก แต่ยังต้องเฝ้าระวังในกลุ่มแม่ที่ไม่ได้เรียนหนังสือเนื่องจากมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเพียงร้อยละ 0.2

การตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง และยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง อัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 15-19 ปี ต่อหญิงวัยเดียวกัน 1,000 คน ลดลงอย่างต่อเนื่องจากอัตรา 53.4 ในปี 2555 เป็นอัตรา 44.8 ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม อัตราการคลอดในกลุ่มวัยรุ่นยังอยู่ในระดับสูง และยังมี 5 จังหวัดที่มีอัตราการคลอดสูงกว่า 60.0 ได้แก่ ชลบุรี นครนายก ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรสาคร นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มนักเรียนซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น อัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสถานการณ์การทำแท้งในกลุ่มวัยรุ่นที่พบว่าร้อยละ 53.1 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี และร้อยละ 28.6 ยังมีสถานภาพเป็นนักเรียน/นักศึกษา

ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังภัยของเหล้า-บุหรี่ มือสอง ในไตรมาสแรก ปี 2560 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 38,544 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.2 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 14,972 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.2 ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังภัยของเหล้า-บุหรี่ มือสอง ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสุขภาพของผู้ที่ไม่ได้ดื่มเหล้าและไม่ได้สูบบุหรี่ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์และขับเคลื่อนให้ประชาชนเห็นความสำคัญของพิษภัยจากการสูบบุหรี่ ผลกระทบและความสูญเสียทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เพื่อนำไปสู่การเลิกสูบบุหรี่และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีสุขภาพที่ดี และเชิญชวนให้ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำเลิกสูบ โดยมีเป้าหมาย 3 ล้านคน ในระยะเวลา 3 ปี

คดีอาญาโดยรวมลดลงจากการปราบปรามอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง คดีอาญาโดยรวมไตรมาสแรกปี 2560 ลดลงร้อยละ 2.6 จากไตรมาสก่อนหน้า คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์และคดียาเสพติดลดลงร้อยละ 13.5 และ 0.3 ขณะที่คดีชีวิตร่างกายและเพศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 นอกจากนี้ ได้มีการเร่งปราบปรามภัยอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ได้แก่ (1) การป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยใช้หลักสิทธิมนุษยชนและการสาธารณสุขเป็นพื้นฐานการแก้ไขปัญหา ภายใต้หลักการ "เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้” และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข (2) การค้าประเวณีที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการค้ามนุษย์ จึงมีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งวางมาตรการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด กวาดล้างจับกุมการลักลอบค้าประเวณี ดำเนินคดีข้าราชการที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ จัดให้ผู้เสียหายได้รับการคุ้มครอง และ (3) ธุรกิจในลักษณะฉ้อโกงประชาชน การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ทำลายระบบเศรษฐกิจและประชาชนในทุกระดับ ควรตรวจสอบพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และเมื่อตกเป็นเหยื่อควรเข้ามาร้องทุกข์เพื่อตัดวงจรขบวนการ ภาครัฐควรบูรณาการการทำงานเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการสร้างการรับรู้ ติดตามและตรวจสอบพฤติกรรมผู้ต้องสงสัย และจับกุมผู้กระทำความผิด

การลดการใช้ความเร็วในการขับรถเพื่อบรรเทาความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ ไตรมาสแรกปี 2560 อุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงร้อยละ 7.2 มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 มูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 75.0 จากไตรมาสเดียวกันปี 2559 โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 พบการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 และ 4.2 แต่ผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 11.8 โดยเฉพาะการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุลดลงเหลือร้อยละ 50 เป็นผลจากการคุมเข้มการใช้รถ การเข้มงวดบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่งผู้โดยสารรถทุกประเภท มาตรการห้ามนั่งท้ายระบะเกิน 6 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงมาจากการเมาสุราและการขับรถเร็ว ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเมาแล้วขับ ยังต้องเน้นการปลูกจิตสำนึกและสร้างวินัยการใช้รถใช้ถนนให้กับคนไทยอย่างเข้มข้น รวมทั้งการแก้ปัญหาขับรถเร็วยังต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจัง และเมื่อตรวจพบผู้กระทำผิดให้ดำเนินคดีทันที รวมถึงมาตรการลงโทษหากไม่เสียค่าปรับเมื่อได้รับใบสั่ง 

การร้องเรียนสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น การรับร้องเรียนของ สคบ. และ กสทช. เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 และ 11.6 จากไตรมาสก่อน โดยสินค้าที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ รถยนต์ อาคารชุด และสินค้าบริการทั่วไป ส่วนบริการกิจการคมนาคมมีการร้องเรียนบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด โดยประเด็นการร้องเรียนคือมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ ซึ่งการดำเนินงานนอกจากจะแก้ไขปัญหาแล้วยังร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนเฝ้าระวังสินค้าบริการที่ไม่ปลอดภัยและการทดสอบสินค้าเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้รูปแบบการบริโภคสินค้าและการให้บริการเปลี่ยนไป เช่น กรณีบริการของรถรับจ้างโดยสารสาธารณะผ่านแอปพลิชัน ซึ่งบางบริการไม่มีกฎหมายรองรับและไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งความปลอดภัยและการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค จำเป็นต้องมีมาตรการกำกับดูแลเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการให้บริการที่เปลี่ยนแปลงไป 

บทความเรื่อง "การเตรียมความพร้อมทักษะแรงงานไทยในอนาคต: กรณีกลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพ First S-Curve”
การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เน้นใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ส่งผลต่อรูปแบบการผลิต และความต้องการแรงงานทั้งสาขาการศึกษาและทักษะที่เปลี่ยนแปลงไป แรงงานจำเป็นต้องมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าวเพื่อให้สามารถปรับตัวและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภาพรวมในปัจจุบันแรงงานในสถานประกอบการมีการศึกษาระดับ ม.3 และต่ำกว่า ร้อยละ 35.0 และส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทกึ่งฝีมือและแรงงานฝีมือ อย่างไรก็ตาม ระดับทักษะของแรงงานยังต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านภาษาต่างประเทศ ความรู้กฎหมาย/ระเบียบในวิชาชีพและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่

จากผลสำรวจทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่จะเป็นอุตสาหกรรมในอนาคต 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ เกษตร/การผลิตยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง แปรรูปอาหาร และที่พัก สปา และเรือสำราญ ในกลุ่มแรงงานระดับกลางวุฒิ ปวช. ขึ้นไป 1,353 ตัวอย่าง ผู้บริหาร/ผู้ประกอบการ 239 ราย ใน 10 จังหวัด พบว่า (1) ในด้านการรับรู้เกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 แรงงานร้อยละ 63.0 รับรู้แนวคิดการพัฒนาประเทศไทย 4.0 แต่ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 80.0 เห็นด้วยกับแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 โดยเห็นว่ามีความจำเป็นต้องขับเคลื่อนแต่ยังมีข้อกังวลในกลุ่ม SMEs ที่ยังมีข้อจำกัดและอาจไม่สามารถก้าวทันตามการพัฒนา ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุน และ (2) ด้านทักษะของแรงงาน ผู้ประกอบการเห็นว่าแรงงานมีทักษะในระดับมาก มีเพียงการใช้ภาษาอังกฤษและการค้นคว้าข้อมูลที่อยู่ระดับปานกลาง แต่แรงงานจบใหม่มีทักษะต่ำกว่าแรงงานที่มีประสบการณ์ในทุกด้าน สอดคล้องกับการประเมินตนเองของแรงงานที่ทักษะด้านภาษาอังกฤษกว่าร้อยละ 50.0 ยังต้องปรับปรุงเนื่องจากยังไม่สามารถสื่อสารได้ ส่วนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศส่วนใหญ่มีทักษะใช้อุปกรณ์คอมพิเตอร์ แต่ยังขาดทักษะในการสร้างเนื้อหา โดยทักษะที่ผู้ประกอบการเห็นว่าควรเพิ่มเติมในการเรียนการสอน คือ ภาษา การฝึกปฏิบัติจริง และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

ทั้งนี้ การพัฒนาตามแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ คุณภาพแรงงานใหม่ยังไม่ได้ตามที่ต้องการ การรับรู้/ความเข้าใจเกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ขาดเงินทุน/การลงทุนนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ และความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน จึงควรมีการดำเนินงาน ดังนี้

1. การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ "ไทยแลนด์ 4.0” ให้มีความชัดเจน ทุกภาคส่วนสื่อสารในเรื่องดังกล่าวได้ตรงกัน เพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนักและนำไปสู่การเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน
2. การพัฒนาทักษะแรงงาน โดยส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาการออกแบบหลักสูตรอบรมให้เหมาะกับแต่ละคลัสเตอร์ของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มทักษะบางด้าน อาทิ ด้าน Digital Skill การจัดการ Big Data ควบคู่กับคุณลักษณะการทำงาน อาทิ การคิดวิเคราะห์ การผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีกับการลงพื้นที่จริงอย่างเหมาะสม การคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถหลากหลายยืดหยุ่น รู้จักการปรับตัว และทักษะการสร้างทีม
3. การพัฒนาแรงงานในกลุ่มต่างๆ โดยแบ่งกลุ่มเพื่อพัฒนาได้ครอบคลุมและเหมาะสมกับศักยภาพทั้งกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือและด้อยโอกาส แรงงานสูงอายุ แรงงานภาคเกษตร แรงงานในธุรกิจหรือวิสาหกิจขนาดเล็กเพื่อลดผลกระทบและความเหลื่อมล้ำให้กับแรงงานในกลุ่มเหล่านั้น รวมทั้งยังช่วยสร้างเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจ
4. การวางแผนการผลิตและพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยสร้างความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษาทั้งเรื่องการพัฒนาหลักสูตร การสนับสนุนเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ของธุรกิจเพื่อใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้ได้บุคลากรตรงตามความต้องการและทำงานได้จริง การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งในด้านความรู้ที่เป็นแกนหลัก ความสามารถทำงานกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถคิดวิเคราะห์ ใช้คิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา (Brain Power) และนวัตกรรม ตลอดจนการสร้างคุณลักษณะที่เหมาะสม อาทิ มีทัศนคติที่ดี อดทน รับผิดชอบ ทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
5. การสนับสนุนปัจจัยอื่นๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยการผลิตที่เหมาะสมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs การจับคู่/สร้างความร่วมมือระหว่างผู้คิดนวัตกรรม (startup) กับผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้เกิดการผลิตสินค้าบริการใหม่ๆ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในทุกองค์กร/สถาบัน โดยเริ่มต้นจากครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน ฯลฯ โดยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เสริมสร้างแรงบันดาลใจ บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ และมุ่งการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
26 พฤษภาคม 2560

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์