ข่าวสาร/กิจกรรม
เลขาธิการฯ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติและแผนฯ 12” แก่สมาชิกหอการค้าต่างประเทศ
วันที่ 28 เม.ย. 2560
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "Thailand’s Transformation Roadmap” แก่สมาชิกหอการค้าต่างประเทศหลายประเทศ ณ ห้องบอลรูม โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพฯ จัดโดยหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย โดยมี Mr.Alexandre Dupont ประธานหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย กล่าวต้อนรับ

ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีหน้าที่หลักในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ระยะ 5 ปี มาตั้งแต่ปี 2504 และเมื่อพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี ในปี 2557 ได้มีดำริให้ประเทศไทยมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศระยะยาวกว่าแผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปี โดยการจัดทำ "ยุทธศาสตร์ชาติ” เพื่อให้ประชาชนได้ทราบทิศทางการพัฒนาประเทศ และสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต โดยมอบหมายให้ สศช. รับผิดชอบการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว 

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องเชื่อมโยงกับกรอบการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ รับผิดชอบการจัดทำ "กรอบยุทธศาสตร์ชาติ” ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศในระยะยาว และเป็นกรอบการพัฒนาสำหรับภาครัฐ เอกชน ประชาชน และประชาสังคม ใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนพัฒนาในระยะปานกลางและแผนปฏิบัติการในระยะสั้น ทั้งที่เป็นแผนพัฒนาในภาพรวมและแผนพัฒนารายสาขา รวมถึงใช้เป็นแนวทางในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการลงทุนและพัฒนาในด้านต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ซึ่งนับว่าประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติเป็นแนวทางการวางแผนพัฒนาประเทศในระยะยาวเป็นครั้งแรก 

เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได่แก่ (1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง โดยเน้นการสร้างการเมืองที่มีเสถียรภาพ การป้องกันภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ในแบบการโจมตีไซเบอร์ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประชาคมโลก  (2) ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นการเพิ่มผลผลิตในภาคอุตสาหกรรม การเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจฐานการผลิต 4.0 เพิ่มรายได้ประชากรจากปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปีเป็น 13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นมาตรฐานรายได้ของประเทศพัฒนาแล้ว การที่จะไปสู่ระดับรายได้ดังกล่าวได้ เศรษฐกิจของประเทศในช่วงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องขยายตัวต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5-6 ต่อปี (3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัย สร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ปรับปรุงระบบสาธารณสุข มีการสร้างงานให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ พร้อมส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาเยาวชน โดยเน้นส่งเสริมการศึกษาในระบบสาขาวิชาชีพมากขึ้น (4) ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม โดยมุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุดร้อยละ 10 และรายได้ต่ำสุดร้อยละ 10 ของสังคม ไม่ให้เกิดช่องว่างทางรายได้ที่แตกต่างกันมากจนเกินไป (5) ยุทธศาสตร์การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว การป้องกันผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติ  (6) ยุทธศาสตร์การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาในด้านต่างๆ ให้ขับเคลื่อนไปได้ โดยเน้นการปรับปรุงโคงสร้าง บทบาท ภารกิจของหน่วยงานภาครัฐให้มีขนาดที่เหมาะสม ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่างๆ ให้มีความทันสมัยและเป็นธรรม 

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เป็นกลไกสำคัญในลำดับแรกที่เชื่อมต่อให้ยุทธศาสตร์ชาติได้รับการนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยถ่ายทอด 6 ยุทธศาสตร์ชาติมาจำแนกย่อยลงไปในรายละเอียด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการที่จะเชื่อมต่อและแปลงสู่การปฏิบัติ โดยใช้กลไกแผนเฉพาะด้าน ยุทธศาสตร์กระทรวง แผนการพัฒนาภาค แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และแผนปฏิบัติการประจำปีของหน่วยงานต่าง ๆ สู่ยุทธศาสตร์ในแผนฯ 12 ซึ่งได้กำหนดอีก 4 ยุทธศาสตร์สำคัญมาเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ โดยการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ การยกระดับศักยภาพการเดินทางและขนส่งสินค้า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า การบริการ และการลงทุนในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาด้านพลังงาน และเศรษฐกิจดิจิทัล  (2) ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา โดยกำหนดประเด็นวิจัยของชาติที่ตอบโจทย์การยกระดับศักยภาพการผลิตของภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่เป็นฐานเดิม และต่อยอดขยายฐานใหม่ด้วยการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมที่ยกระดับคุณภาพสังคมและการดำรงชีวิตของประชาชน (3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ โดยพัฒนาภาคเหนือเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลุดพ้นจากความยากจนสู่เป้าหมายการพึ่งตนเอง ภาคกลางเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำ ภาคใต้เป็นฐานการสร้างรายได้ที่หลากหลาย รวมทั้งพัฒนาเมืองศูนย์กลางของจังหวัดและเมืองสำคัญให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับทั่วโลก ตลอดจนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) และพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนให้เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน (4) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา โดยดำเนินนโยบายการค้าและการลงทุนที่เสรี เปิดกว้าง และเป็นธรรม เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการประกอบธุรกิจ ดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุกในการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศในอนุภูมิภาคและภูมิภาค รวมทั้งประเทศนอกภูมิภาค 
สำหรับประเด็นการพัฒนาและประเด็นการปฏิรูปในบางเรื่องที่มีความชัดเจน และต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วง 5 ปีแรกนี้ จะกำหนดเป็นเป้าหมายและแนวทางที่สอดคล้องไว้ด้วย รวมทั้งการกำหนดแผนงานสำคัญที่ต้องดำเนินการ (Flagship Program) และในช่วงระยะเวลาที่เหลือของรัฐบาลนี้ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะช่วยคิดเตรียมการเพิ่มเติมจากยุทธศาสตร์ทั้ง 6 เรื่อง ว่าจะดำเนินการอะไรบ้างในระยะ 15 ปี ที่เหลือของยุทธศาสตร์ชาติ  ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565-2569) ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2570-2574) และฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2575-2579) ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของยุทธศาสตร์ชาติ ฉบับ พ.ศ. 2560-2579 

เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันระบุว่า รัฐบาลที่เข้ามาบริหารต่อจากรัฐบาลนี้จะต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศภายใต้กรอบทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติให้บรรลุตามเป้าหมายการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมกลไกใหม่ตามรัฐธรรมนูญให้มีผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปภายใต้ร่าง พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... และร่าง พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.... โดยแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ มี สศช. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ จัดเตรียมรายละเอียดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศส่งให้รัฐบาลต่อๆ ไป     
 
ข่าว : ช่อผกา แก้วใหญ่
ภาพ : เมฐติญา วงษ์ภักดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์ : 02-2804085 (40 คู่สาย) แฟกซ์ : 0-2281-3938 E-mail : pr@nesdc.go.th , webmaster@nesdc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์