สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2559 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญได้แก่ รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังและสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น ประชาชนมีการออมเพื่อเกษียณอายุเพิ่มขึ้น การร้องเรียนของผู้บริโภคลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง ได้แก่ สถานการณ์การจ้างงาน การว่างงาน การเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย การเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน การเกิดอุบัติเหตุจราจร และการขับเคลื่อนการออกแบบที่เป็นสากลในสังคมไทยอย่างทั่วถึงเพียงพอ โดยมีสาระดังนี้
การจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น
ไตรมาสสี่ปี 2559 การจ้างงานภาคเกษตรลดลง เนื่องจากพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไป การจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลงในสาขาการผลิตและการขนส่ง ส่วนสาขาก่อสร้าง การค้าส่ง/ค้าปลีก และการโรงแรม ภัตตาคารเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.97 และมีสัญญาณการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากชั่วโมงทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.9 ชั่วโมง/สัปดาห์ จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ 47.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ ตลอดปี 2559 อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.99 ส่วนค่าจ้างแรงงานที่ไม่รวมผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 และผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 โดยผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และผลิตภาพแรงงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7
ประเด็นที่คาดว่าจะมีผลต่อการจ้างงานและรายได้ของแรงงานในปี 2560 ได้แก่
1. การจ้างงานภาคเกษตร แม้ว่าในปี 2560 สภาพอากาศได้คลี่คลายและเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2559 ถึงมกราคม 2560 ทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชนและเกษตรกรโดยมีพืชมากกว่า 1,095,302 ไร่ ด้านประมง 96,114 ตารางเมตร และด้านปศุสัตว์ 8,882,014 ตัว ซึ่งต้องช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูที่ทำกินของเกษตรกรต่อไป นอกจากนั้น แม้ว่าในภาพรวมปริมาณน้ำ
ในเขื่อนทั้งประเทศที่เป็นน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในฤดูแล้งปี 2560 จะมีปริมาณปกติเทียบเท่ากับปี 2556 แต่ปริมาณน้ำในบางเขื่อนยังมีน้ำน้อยกว่าปีปกติ เช่น เขื่อนลำปาว เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีน้ำไม่พอใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการเตรียมความพร้อมปฏิบัติการฝนหลวง การจัดสรรน้ำ และแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง
2. การว่างงาน แม้อัตราการว่างงานของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำโดยปี 2559 เท่ากับร้อยละ 1.0 แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556–2558 จากร้อยละ 0.8 0.9 และ 0.9 ตามลำดับ และในเดือนมกราคม 2560 อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.2 ประกอบกับการคาดการณ์ผู้จบการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2560 ประมาณ 5.5 แสนคน และประมาณร้อยละ 61 เป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2560 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 โดยมีการขยายตัวดีในทุกด้าน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่มีแนวโน้มจะขยายตัวดีขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะช่วยเพิ่มตำแหน่งงาน และสามารถรองรับแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้
3. การปรับตัวของตลาดแรงงานเข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0 ซึ่งจะมีผลให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวในด้านต่างๆ ทั้งการนำเครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและผ่อนกำลังแรงงาน การเงิน/การตลาดที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย สะดวก และไม่จำกัดเวลา จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการแรงงานทั้งคุณสมบัติและผลตอบแทนของแรงงาน โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะสร้างกำลังคนของประเทศให้เป็นกำลังคนที่มีประสิทธิภาพ "Productive Manpower” ผ่านการสร้างระบบและรากฐานการดำเนินงานด้านแรงงานที่มีความยั่งยืนและเป็นมาตรฐานสากลเพื่อสอดรับกับการนำประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0
การเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยเพื่อเตรียมเด็กและเยาวชนให้พร้อมเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ในปี 2558 ประชากรไทยเรียนในระบบการศึกษาร้อยละ 80 และมีการศึกษาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 8.5 ปี แต่ยังไม่ถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อพิจารณาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจากผลการสอบ ONET พบว่า คะแนนเฉลี่ยในปี 2558 สูงขึ้นกว่าปี 2557 แต่คะแนนเฉลี่ยในวิชาหลักยังคงไม่ถึงร้อยละ 50 และเมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศจากผลการประเมิน PISA และ TIMSS พบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ในตำแหน่งท้ายๆ ของเวทีโลก รัฐจึงได้เตรียมแนวทางที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกด้านโดยเฉพาะการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เชิงบูรณาการแบบ STEMS และที่ได้กำหนดไว้ในร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ว่าจะเร่งพัฒนาคะแนนการประเมิน PISA ของประเทศไทยทุกด้านให้เพิ่มขึ้นประมาณ 100 คะแนน รวมทั้งต้องเร่งสร้างให้เป็นคนไทยที่คิดเป็น มีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะการทำงานในอนาคตที่จะไปแข่งขันในตลาดโลก สามารถแก้ปัญหาที่ยุ่งยาก ซับซ้อนในธุรกิจ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใช้นวัตกรรม
ให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้
ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสสี่ปี 2559 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 3.8 โดยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 70.5 เนื่องจากมีการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดการแพร่ระบาดลงได้ ทั้งปี 2559 พบผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 15.8 โดยผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เนื่องจากพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ซึ่งกรมควบคุมโรคได้คาดการณ์ว่า ในปี 2560 โรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มจะเกิดการระบาดสูง จะมีผู้ป่วยประมาณ 320,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด รวมทั้งยังต้องติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยในปี 2559 ประเทศไทยมีการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาแบบเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้พบผู้ป่วยรายใหม่ลดลง สำหรับในปี 2560 ยังคงต้องดำเนินการแบบเข้มข้นต่อเนื่องทั้งการป้องกัน เฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ
โรคไม่ติดต่อเรื้อรังยังเป็นปัญหาสำคัญและทวีความรุนแรงมากขึ้น ในปี 2558 ผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2557 โดยผู้ป่วยโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิดเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 23.9 โรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 โรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 โรคเบาหวานเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 และโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ขณะเดียวกันจำนวนผู้เสียชีวิตก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิดยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง ที่ผ่านมามีการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่องแต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังเพื่อให้ประชาชนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งในเรื่องการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย และลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเยาวชนซึ่งมีอัตราการดื่มเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่า 38,415 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 10.8 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 13,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 6.5 อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยยังมีแนวโน้มดื่มสุราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 30 หรือ 15.36 ล้านคนในปี 2550 เป็นร้อยละ 34 หรือ 18.64 ล้านคนในปี 2558 โดยกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราการดื่มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22.2 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 29.5 ในปี 2558 และเมื่อพิจารณาในส่วนของผู้ที่ดื่มเป็นประจำซึ่งดื่มตั้งแต่ 1 ครั้ง
ต่อสัปดาห์ขึ้นไปพบมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 39.9 โดยเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 12.0 สะท้อนให้เห็นว่าการดื่มสุรายังคงเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อลดจำนวนนักดื่มและผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา ขณะที่ภาครัฐก็ได้ดำเนินการทั้งในการบังคับใช้กฎหมายและออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน และเพื่อลดจำนวนผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การรณรงค์ การบังคับใช้กฎหมายควบคุมสถานบริการ ประกาศใช้ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
ความรุนแรงในเด็กและสตรีส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ชิด จากข้อมูลสถิติเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงที่เข้ามารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่ปี 2550-2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 207,891 ราย เป็นเด็ก 105,622 ราย และสตรี 102,269 ราย ในปี 2559 มีผู้มารับบริการ 20,018 ราย โดยในเด็กมีสาเหตุมาจากการปล่อยปละละเลยของครอบครัว ขาดการดูแลอย่างเหมาะสมจนเป็นเหตุให้เด็กถูกกระทำรุนแรงทางเพศมากที่สุด ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่น แฟน รองลงมาคือเพื่อน สำหรับในกลุ่มสตรีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากสัมพันธภาพในครอบครัว การนอกใจ การหึงหวง การทะเลาะวิวาท ผู้กระทำเป็นคู่สมรสมากที่สุด รองลงมาคือแฟน รัฐบาลได้ดำเนินการในด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหา อาทิ การจัดตั้งศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤตจากความรุนแรง การพัฒนาระบบการรับแจ้งเหตุ คัดกรอง ช่วยเหลือเบื้องต้น ส่งต่อเด็กที่ถูกทารุณกรรมอย่างครบวงจร และการบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558
คดีอาญาโดยรวมลดลงจากการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งปี 2559 คดีอาญาโดยรวมลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 6.3 โดยคดีชีวิตร่างกายและเพศ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ และคดียาเสพติดลดลงร้อยละ 18.9 18.2 และ 3.1 ขณะที่คดีอาญาโดยรวมไตรมาสสี่ปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 โดยคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 แต่คดีชีวิตร่างกายและเพศและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงร้อยละ 34.4 และ 18.7 ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น จากการที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดมุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนโดยใช้กลไกประชารัฐเป็นศูนย์กลางการบูรณาการมาตรการทุกด้านให้เข้าถึงประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน รวมทั้งการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกด้วยการให้ชุมชน/ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม และมีการบูรณาการการทำงานของภาครัฐด้วยการระดมกวาดล้างอาชญากรรม แต่ก็ยังมี
ความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติด รวมทั้งการให้ความรู้เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อจากภัยอาชญากรรมในหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องต่อไป
การลดอุบัติเหตุทางถนนด้วยการพัฒนาขนส่งสาธารณะที่หลากหลาย ปลอดภัย และมีคุณภาพ ไตรมาสสี่ปี 2559 อุบัติเหตุจราจรทางบกและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 และ 29.3 แต่มูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 72.7 ทั้งปี 2559 เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 และ 31.5 รถตู้โดยสารสาธารณะเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 พบการเกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และ 25.8 อีกทั้งยังเกิดอุบัติเหตุจากรถตู้สาธารณะทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก สาเหตุจากความประมาทของผู้ขับขี่ แม้ว่าจะมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2560 "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจึงได้เร่งดำเนินมาตรการยกระดับมาตรฐานระบบขนส่งสาธารณะเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน อาทิ ให้มีระบบควบคุมกำกับการพักผ่อน มีคนขับสำรอง กำหนดเวลาการพักรถ เร่งรัดการติดตั้งระบบ GPS ผลักดันให้ใช้รถไมโครบัส 20 ที่นั่งในทุกเส้นทางตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2560 ทดแทนการใช้รถตู้โดยสารสาธารณะ รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลายอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และเพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ขับขี่ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของส่วนรวมมากขึ้น
ประชาชนมีการออมเพื่อเกษียณอายุเพิ่มขึ้น ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมในปี 2559 มีจำนวน 14.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 1.8 เป็นมาตรา 40 จำนวน 2.24 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มีจำนวน 0.52 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.6 ในช่วงเวลาเดียวกัน สมาชิกส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ค้าขาย และไม่ประกอบอาชีพ อายุส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 30-50 ปี ซึ่งการออมที่เริ่มต้นช้ายังส่งผลต่อความเพียงพอของเงินบำนาญที่จะได้รับ ขณะที่ยังมีแรงงานกว่าร้อยละ 50 หรือ 18 ล้านคนยังไม่มีหลักประกันด้านรายได้หลังเกษียณโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ จึงต้องเร่งดำเนินการทั้งในเรื่องการรณรงค์สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ ตระหนักถึงประโยชน์เพื่อให้คนเข้าสู่ระบบการออมมากขึ้น การเพิ่มจำนวนเงินออม และการบริหารเงินหลังเกษียณเพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ
การร้องเรียนผู้บริโภคลดลง แต่ยังต้องเร่งคุ้มครองผู้บริโภคด้าน ICT การรับร้องเรียนของ สคบ. และ กสทช. ลดลงร้อยละ 5.5 และ 9.6 จากไตรมาสก่อน ตลอดปี 2559 การร้องเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 โดยการขายตรงและตลาดแบบตรง และการโฆษณามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากตามการค้าขายและโฆษณาผ่านทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ธุรกิจขายให้ผู้บริโภค (B2C) ในปี 2559 จะมีมูลค่า 729,292.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 43 และมีการร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.9 จากปี 2558 การเติบโตธุรกิจออนไลน์ยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคมีความกังวลใจเรื่องความปลอดภัย และค่าขนส่งที่มีราคาแพง จึงต้องเร่งให้ความรู้ ออกกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวก
สถานการณ์การจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 2.3 และจากการรวบรวมข้อมูลสถิติขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ในปี 2558 มีซากทีวี 2.69 ล้านเครื่อง เพิ่มเป็น 2.79 ล้านเครื่องในปี 2559 มีโทรศัพท์มือถือ 10.34 ล้านเครื่องในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 10.91 ล้านเครื่องในปี 2559 ขณะที่ซากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) พบว่า ในปี 2558 มี 2.42 ล้านเครื่อง เพิ่มเป็น 2.63 ล้านเครื่องในปี 2559 ปัจจุบันการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะถูกจัดการโดยกลุ่มรับซื้อของเก่าและผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งกรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าประเทศไทยมีแหล่งชุมชนคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์กระจายอยู่ทั่วประเทศเกือบ 100 แห่ง รัฐบาลได้มีการบริหารจัดการของเสียอันตรายในปี 2560 (1) การจัดการขยะอันตรายชุมชน โดยมีสถานที่สำหรับรวบรวมของเสียอันตรายชุมชนของจังหวัด จัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทำการขนส่งไปกำจัดโดยบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาต (2) มีแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 โดยของเสียอันตรายชุมชนได้รับการรวบรวมและส่งไปกำจัดถูกต้องตามหลักวิชาการไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการคัดแยกขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายชุมชนที่ต้นทางได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และ (3) มีแผนปฏิบัติการ "ประเทศไทย ไร้ขยะ” ตามแนวทาง "ประชารัฐ” พ.ศ. 2559–2560 ได้กำหนดให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ มีการจัดตั้ง "จุดรวมขยะอันตราย” อย่างน้อยหมู่บ้าน/ชุมชนละ 1 แห่ง รวมทั้งการผลักดันกฎหมายและยุทธศาสตร์ 2 ฉบับ คือ (1) ยุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณาการ พ.ศ. 2557-2564 และ (2) (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .. ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนต้องช่วยกันกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงผลกระทบจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์
บทความเรื่อง "การออกแบบที่เป็นสากล: รูปธรรมของสังคมเสมอภาค”
การออกแบบที่เป็นสากล (Universal Design) เป็นแนวคิดเพื่อสร้างสังคมให้น่าอยู่ ส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้อยู่ได้โดยพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด และมีความสำคัญมากขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุที่ทำให้มีผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง พิการ และทุพพลภาพมากขึ้น การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมสำคัญ คือ (1) ด้านอาคาร สถานที่สาธารณะ ได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน 5 ด้าน ได้แก่ ทางลาด ที่จอดรถ ห้องน้ำ ป้ายสัญลักษณ์และบริการข้อมูล โดยสถานที่ราชการที่ปรับปรุงแล้วมี 22,259 แห่ง จาก 43,025 แห่ง การดำเนินงานโครงการชุมชนต้นแบบที่เอื้อต่อทุกคน ฯลฯ (2) ด้านระบบขนส่งสาธารณะ ดำเนินโครงการนำร่องภายใต้แนวคิด "สะดวก ปลอดภัย คมนาคมยุคใหม่ ใส่ใจคนพิการ” การออกแบบและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT และการทำบันทึกความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ สำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการบริเวณป้ายหยุดรถประจำทาง ทางเดินทางเท้า ทางลาดเชิงสะพานในเส้นทางหลัก 20 สาย 1,234 ป้าย การประสานกับหน่วยงานในการปรับปรุงถนน สะพาน ให้มีมาตรฐานที่รถชานต่ำสามารถผ่านได้ การจัดทำแท็กซี่สำหรับวีลแชร์ ฯลฯ และเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ศึกษาต้นแบบการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกภาคขนส่ง 5 แห่ง ได้แก่ ป้ายรถเมล์อนุสาวรีย์ชัยฯ สถานนีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี) สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงนครปฐม และท่าอากาศยานดอนเมือง รวมทั้งการจัดคู่มือให้ความช่วยเหลือคนพิการแต่ละประเภทและผู้สูงอายุและคู่มือแปลภาษาหรือป้ายสัญญลักษณ์ภาษาสำหรับเจ้าหน้าที่ให้บริการภาคขนส่ง
(3) ด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารโทรคมนาคม ดำเนินการสนับสนุนการจัดหาตู้สื่อสาร (TTRS) จัดทำเว็บไซต์เพื่อให้คนพิการทางการเห็น และจัดทำเว็บไซต์เพื่อเป็นศูนย์กลางแจ้งข้อมูลข่าวสารสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจไปใช้บริการ ฯลฯ (4) ด้านการศึกษา ฝึกอาชีพ ยังเป็นการจัดการศึกษาเฉพาะกลุ่มโดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำให้ยังไม่มีการปรับสภาพแวดล้อม ส่วนระดับอุดมศึกษาได้เริ่มจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อทุกคน แต่การจัดอุปกรณ์ และวิธีการเรียนการสอนเพื่อคนทุกกลุ่มยังไม่ชัดเจน และ (5) ด้านสาธารณสุขและอุปกรณ์ช่วยเหลือ นอกเหนือจากการผลักดันให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานพยาบาลยังมีระบบติดตาม ตรวจสอบมาตรฐานอาคาร สนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเหลือและสิทธิการรักษาพยาบาล
อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงอาคารสถานที่สาธารณะและบริการต่างๆ ในระดับที่ต้องการยังมีไม่มาก โดยสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลมากที่สุด รองลงมาเป็นอุปกรณ์สื่อสาร สื่ออินเทอร์เน็ตและทีวี สอดคล้องกับรายงานการติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฉบับที่ 4 พ.ศ. 2555-2559 (ระยะครึ่งแผนแรก) พบว่าผู้พิการสามารถเข้าถึงหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่นได้ในระดับปานกลาง ขณะที่ด้านเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกสารสนเทศ อุปกรณ์และเครื่องช่วยเหลือความพิการและรถโดยสารเข้าถึงได้น้อย และเครื่องบินและรถไฟเข้าถึงได้น้อยที่สุด โดยการจัดการออกแบบที่เป็นสากลมีข้อจำกัดในเรื่องทัศนคติที่เห็นว่าเป็นเรื่องของการเพิ่มค่าใช้จ่ายทำให้การจัดไม่ทั่วถึงเพียงพอ ประชาชนขาดความตระหนักส่งผลให้การเข้าใช้หรือกีดขวางทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ ขาดการกำหนดมาตรฐานและตรวจสอบดูแลสม่ำเสมอทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ขาดเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมและมีความเข้าใจในการช่วยเหลือ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของผู้พิการยังมีอยู่อย่างจำกัด จึงควรมีการดำเนินงาน ดังนี้
(1) การพัฒนาระบบมาตรฐานและกลไกการติดตามตรวจสอบ โดยจัดทำระบบมาตรฐานที่มีความชัดเจนในการก่อสร้างและกำหนดให้การออกแบบเพื่อการใช้งานของคนทุกกลุ่มอยู่ในมาตรฐานการผลิตสินค้า
(2) การสร้างความรู้และทัศนคติที่ถูกต้อง โดยรณรงค์และประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ปลูกฝังให้ตระหนักถึงประโยชน์และความจำเป็น ตลอดจนสอดแทรกในเนื้อหาการเรียนการสอนและกำหนดเป็นหลักสูตรในวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
(3) การบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน โดยจัดทำแผนบูรณาการเพื่อให้เกิดการประสานงานและสนับสนุนกัน เนื่องจากการออกแบบที่เป็นสากลเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนระยะยาวและมีความเชื่อมโยงกัน
(4) การส่งเสริมภาคธุรกิจเพื่อจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและสร้างนวัตกรรมการออกแบบสินค้าและบริการเพื่อคนทุกกลุ่ม โดยประชาสัมพันธ์และรับรองสถานที่ สินค้าบริการของธุรกิจที่มีการดำเนินการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มให้เป็นทางเลือกและเพิ่มจำนวนของผู้ใช้บริการ ส่งเสริมการจัดแข่งขันออกแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนให้ความรู้ภาคธุรกิจเพื่อตระหนักถึงการยกระดับสินค้าบริการ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
(5) การพัฒนาและรวบรวมกฎหมายเพื่อให้มีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งสร้างความเข้าใจต่อคนในสังคมและสามารถนำไปใช้ได้สะดวก
การดำเนินงานที่สำคัญด้านสังคมในรอบปี 2559
ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมามีการดำเนินงานและความก้าวหน้าทางด้านสังคมในประเด็นสำคัญ คือ การพัฒนาคุณภาพคน ดำเนินการพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้ประชาชน แก้ไขปัญหาหนี้สิน พัฒนาการศึกษาและเรียนรู้ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การสร้างความมั่นคงทางสังคม ดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเข้มข้น ส่งเสริมการออมเพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้หลังเกษียณอายุ สร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ตลอดจนจัดสวัสดิการให้แก่คนยากจน
ด้านคุณภาพคน
1. การส่งเสริมอาชีพและการสร้างรายได้ ยกระดับอาชีพและรายได้ให้แก่แรงงานมีฝีมือโดยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและกำหนดให้มีการเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงงานใน 5 อุตสาหกรรม 20 สาขา ประกอบด้วย กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 4 สาขา กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 4 สาขา กลุ่มยานยนต์ 4 สาขา กลุ่มโลจิสติกส์ 4 สาขา และกลุ่มอุตสาหกรรม อัญมณี 4 สาขา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาศักยภาพตนเองและได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นอย่างเป็นธรรม การฝึกอบรมเพื่อสร้างกำลังคนที่มีประสิทธิภาพ "Productive Manpower” และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยการส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรรูปแบบใหม่ภายใต้โครงการ 1 ตำบล 1 SME เพื่อสร้างมูลค่าและความยั่งยืนให้กับเกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานคนพิการและผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติต์ พระบรมราชินีนาถ และมีมาตรการกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นำค่าใช้จ่ายสำหรับค่าจ้าง เงินเดือนจ้างผู้สูงอายุทำงาน หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
2. การแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยการเปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจรวมทั้งเพิ่มช่องทางให้ประชาชนรายย่อยที่มีความจำเป็นกู้ยืมผ่านสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และเห็นชอบร่างแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560-2564 เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนที่ชัดเจน และดำเนินการให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและสวัสดิการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพลูกหนี้โดยฟื้นฟูและอบรมอาชีพ การปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงินและติดตามผลเพื่อป้องกันการกลับไปเป็นหนี้ รวมทั้งคุ้มครองลูกหนี้โดยออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560
3. การศึกษาและเรียนรู้ พัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยการขับเคลื่อนนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” จัดหลักสูตรส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย หลักสูตรโพธิสัตว์น้อย ฯลฯ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ของเด็ก และพัฒนาทักษะคิดเร็ว เทคนิคการคำนวณโดยใช้หลักการคิดรวบยอดเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้านคิดคำนวณของเด็ก การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาทักษะที่มีความจำเป็นในศตวรรษที่ 21 อาทิ การพัฒนาแอพพลิเคชั่นและวางแผนที่การเรียนภาษาอังกฤษผ่านแอพพลิเคชั่น (Echo English) การจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน (ต่อยอด ICT ชุมชน) เป็นศูนย์เรียนรู้ ฝึกอบรมพัฒนาทักษะให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการได้ทั่วถึง รวมทั้งการพัฒนาระบบบริหารจัดการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยการลดโรงเรียนขนาดเล็กให้มีจำนวนเหมาะสมกับพื้นที่ ชุมชนให้ความยินยอม และเปิดโอกาสให้ใช้โรงเรียนขนาดเล็กที่ยุบเลิกเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน โดยการพัฒนาโรงเรียนที่มีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางให้มีคุณภาพเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) เพื่อดึงดูดนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กมาเรียนรวม ในปีการศึกษา 2559 มีการพัฒนาโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก) 294 แห่ง มีโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงมาเรียนรวม 474 โรงเรียน ยุบเลิกได้ 57 โรงเรียน อยู่ระหว่างดำเนินการยุบเลิก 417 แห่ง การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยชะลอการดำเนินคดี/บังคับคดี พักชำระดอกเบี้ย/เงินต้น ครูได้รับประโยชน์ 51,370 ราย โครงการลดภาระหนี้ครู (วงเงินไม่เกิน 700,000 บาท/ดอกเบี้ยร้อยละ 4) มีครูเข้าร่วมโครงการ 200,000 ราย และสร้างขวัญกำลังใจแก่ครูที่เป็นสมาชิกสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยกำหนดมาตรการช่วยเหลือครูที่เป็นสมาชิกอายุเกิน 75 ปี หรือเป็นสมาชิกนานกว่า 40 ปี ไม่ต้องส่งเงินค่าศพรายเดือน (หักคืนเมื่อเสียชีวิต) มีผู้ได้รับประโยชน์ 75,000 คน
4. การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เห็นชอบร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ การออกร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อลดการบริโภคสินค้าที่เป็นโทษต่อร่างกาย รวมทั้งการรณรงค์การมีกิจกรรมทางกายเพื่อลดภาวะอ้วนและการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ การเชิญชวนให้มีการออกกำลังกาย ประชาสัมพันธ์/จัดแข่งขันการกุศล เช่น ปั่นจักรยาน เดิน/วิ่ง ฯลฯ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคระบาด โดยพัฒนากลไกเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ การเตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำโดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินและระบบบัญชาการเหตุการณ์ที่พร้อมปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านความมั่นคงทางสังคม
1. การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทำให้ไทยได้เลื่อนอันดับเป็น Tier 2 Watch List โดยให้ความสำคัญกับบูรณาการดำเนินงานในทุกระดับตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง การบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้อง การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายและกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะประเด็นแรงงานบังคับและแรงงานขัดหนี้ รวมทั้งออกกฎหมายที่สำคัญ คือ พระราชบัญญัติวิธีการพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. การสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้ครอบคลุมเพียงพอ โดยผลักดันร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี เพื่อให้มีเงินออมเพื่อเกษียณอายุเพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้งผลักดันให้แก้ไขกฎกระทรวงเพื่อเพิ่มเงินสมทบกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จากเดิมไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี เป็น 2,500 บาทต่อปี เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบมีการออมเพื่อการเกษียณอายุมากขึ้น
3. การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีมาตรการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้อายุบนที่ราชพัสดุ 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี นครนายก เชียงใหม่ และเชียงราย การดำเนินการโครงการสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ โดยให้ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปี
4. การจัดสวัสดิการสำหรับคนยากจน โดยลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท และมีอายุ 18 ปีขึ้นไป มาลงทะเบียนเพื่อรองรับการจัดสวัสดิการของรัฐในอนาคต ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยรับสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างแท้จริง โดยรอบแรกเปิดลงทะเบียน 15 ก.ค.–15 ส.ค. 2559 มีผู้ลงทะเบียน 8.3 ล้านคน และจะเปิดใหม่ในช่วงเมษายนศกนี้
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
6 มีนาคม 2560 |