เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ทิศทางประเทศไทยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในการประชุมระดมความคิดเห็นบทบาทภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ
เลขาธิการฯ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจัดทำกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาระยะยาว เน้นให้ "ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุข และตอบสนองตอบต่อการบรรลุซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนเป็นเป้าหมายหลัก น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม ต้องลดความเหลื่อมล้ำทั้งมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ ส่งเสริมบทบาทของสตรีในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ สร้างและพัฒนาคนให้เรียนรู้จากประสบการณ์เพื่อตอบสนองต่อสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งภายในและนอกประเทศ ทั้งภัยธรรมชาติ โรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น นโยบายรัฐบาลในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะเวลา 5 ปี
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งมีมติที่สำคัญๆ ได้แก่
1. เห็นชอบกับผลการจัดลำดับความสำคัญเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ 30 ลำดับแรก และใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปี แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ (1) ระยะสั้น ค.ศ. 2015-2017 (2) ระยะปานกลาง ช่วง ค.ศ. 2017-2030 และ (3) ระยะยาว ช่วง ค.ศ. 2030-2037 โดยให้หน่วยงานรับผิดชอบหลัก/ร่วม และหน่วยงานสนับสนุน จัดทำ Roadmap สำหรับการขับเคลื่อนเป้าประสงค์ดังกล่าวให้ชัดเจน
2. มอบหมาย สศช. ร่วมกับคณะทำงานปรับปรุงกลไกมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม และกฎหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ทบทวนการจัดทำข้อกฎหมายและมาตรการเสริมอื่นๆ ด้านเศรษฐศาสตร์และสังคม เพื่อให้การขับเคลื่อนสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และ SDGs ต่อไป
3. ให้กระทรวง/หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักแต่ละเป้าหมาย จัดทำรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานเสนอ กพย. ทุกๆ 6 เดือน และเห็นชอบให้มีผู้ประสานงานหลักด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำกระทรวง (Mr./Ms. SDG) ทำหน้าที่ประสานงานเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กระทรวงรับผิดชอบ/เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบตัวชี้วัดทั้ง 241 ตัว
4. การเข้าร่วมการติดตามและทบทวนผลการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในระดับชาติ โดยสมัครใจ (Voluntary National Review-VNR) ที่นครนิวยอร์ก ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมความพร้อมในการติดตามและทบทวนเป้าหมายต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่สามารถสำเร็จได้โดยเพียงภาครัฐอย่างเดียว จะต้องได้รับการสนับสนุนการขับเคลื่อนจากหน่วยงานภาคเอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม ให้เข้ามาร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย การประชุมในวันนี้จึงเป็นเวทีหารือร่วมระหว่างภาครัฐกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาด้านการศึกษา สุขภาพ การจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การลดความเหลื่อมล้ำ แรงงาน และอื่นๆ รวมทั้งได้รับคำแนะนำการทำงานในเชิงพื้นที่ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการรับรู้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และจะได้หาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง รวมถึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดประชุมระดมความคิดเห็นบทบาทภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
จากนั้น นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บรรยายพิเศษเรื่อง "การดำเนินการที่สำคัญของภาครัฐ ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” และการเสวนาเรื่อง "บทบาทภาคประชาสังคมในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายบรรจง นะแส ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นางสาวดวงสมร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก ๓) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ดร.บัณฑูร เศรษฐสิโรตน์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.) ดำเนินรายการโดย นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำหรับในภาคบ่าย เป็นการระดมความคิดเห็นแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคประชาสังคม และสรุปข้อเสนอแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคประชาสังคม เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ข่าว : รวีวรรณ เลียดทอง
ภาพ : อมรเทพ ศรีประเสริฐ
|